คอลัมน์ Think Tank: ปฏิญญาโรม สหภาพ(ไร้เอกภาพ)ยุโรป

AFP PHOTO / Andreas SOLARO

บรรดาผู้นำสหภาพยุโรป (อียู) เฉลิมฉลองการครบรอบ 60 ปีของกลุ่มที่กรุงโรมประเทศอิตาลี และได้ลงนามในปฏิญญาที่ออกแบบมาเพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็นเอกภาพ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม แต่ในหลายๆ แง่มุมกลับเผยให้เห็นว่ายุโรปมีความแตกแยกมากเพียงใด

ก่อนหน้าการประชุมเพียงไม่กี่วัน โปแลนด์และกรีซขู่ว่าจะล้มแถลงการณ์ ทำให้บรรดานักการทูตต้องเร่งมือในการปรับแก้ถ้อยคำและรายละเอียดสำคัญจากร่างปฏิญญาฉบับแรกเมื่อวันที่ 16 มีนาคมไปอย่างมาก จนโปแลนด์ตกลงที่จะลงนามในแทบจะวินาทีสุดท้าย

ร่างสุดท้ายของปฏิญญา อ้างอิงจากสำนักข่าวเอเอฟพี ขึ้นต้นด้วยการที่บรรดาผู้นำ 27 ชาติสมาชิกอียู อันปราศจากสหราชอาณาจักร และผู้นำของฝ่ายบริหารและสถาบันต่างๆ ของอียูประกาศถึง “ความภาคภูมิใจในความสำเร็จ” ของสหภาพที่มี “ความพิเศษเป็นหนึ่งเดียว” ในการสร้างทวีปขึ้นมาใหม่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2

ปฏิญญาระบุเชิดชู “สันติภาพ เสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และหลักนิติรัฐ” ในยุโรปตลอดช่วง 60 ปีที่ผ่านมา

Advertisement

ทว่ากรีซที่ต้องรับความช่วยเหลือทางการเงิน เป็นแกนนำในการต่อต้านนโยบายรัดเข็มขัดของกลุ่มประเทศยุโรปเหนือ โดยขู่ว่าจะขัดขวางการออกปฏิญญาหากไม่มีการระบุถึงการปกป้องสิทธิทางสังคม

ทำให้ร่างปฏิญญาสุดท้ายต้องเพิ่มถ้อยคำว่า อียูไม่ได้เป็นเพียงแค่ “มหาอำนาจทางเศรษฐกิจ” เท่านั้น แต่ยังเป็นประชาคมที่ “มีความไม่คู่ขนานกันของระดับการปกป้องทางสังคมและสวัสดิการอยู่ด้วย” ตามที่กรีซร้องขอ

ปฏิญญาโรมระบุว่า อียูกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายที่ไม่เคยพบเจอมาก่อน” ทั้ง “ความขัดแย้งในภูมิภาค การก่อการร้าย แรงกดดันจากจำนวนผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามา การกีดกันทางการค้า และความเหลื่อมล้ำทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม”

Advertisement

ไม่มีการกล่าวถึงการลงประชามติอันน่าตกตะลึงของสหราชอาณาจักรในการตัดสินใจออกจากการเป็นสมาชิกอียู หรือเบร็กซิทแต่อย่างใด

ขณะที่ประเด็นผู้อพยพซึ่งเป็นปัญหาท้าทายใหญ่หลวงของยุโรปในช่วงที่ผ่านมา ได้มีการตัดถ้อยคำว่า “อย่างมีมนุษยธรรม” ออกไป คงเหลือไว้เพียงว่า “นโยบายผู้อพยพที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และยั่งยืน”

ในเรื่องที่ยากลำบากที่สุดคือ “มัลติสปีด ยุโรป” ซึ่งเป็นแนวคิดที่เยอรมนีและฝรั่งเศสผลักดัน แต่ถูกคัดค้านโดยโปแลนด์

แนวคิดดังกล่าวเน้นการรวมกลุ่มที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นทางเศรษฐกิจ ซึ่งโปแลนด์ ประเทศที่มีเศรษฐกิจเข้มแข็งที่สุดในยุโรปตอนกลางแต่เป็น 1 ใน 9 ของชาติสมาชิกอียูปัจจุบันที่ไม่ได้ใช้เงินสกุลยูโร เกรงว่าจะเกิดปัญหาที่ทำให้ประเทศนอกยูโรโซนถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง

ทำให้ในร่างปฏิญญาสุดท้ายต้องมีการเพิ่มถ้อยคำที่ระบุว่า “เอกภาพเป็นสิ่งจำเป็นแต่ก็เป็นสิ่งที่เราสามารถเลือกได้อย่างเสรีด้วย”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image