สื่อนอกซัดไทย วางแผนส่งอุยกูร์กลับจีนล่วงหน้า แต่ปากแข็งไม่ยอมรับ

AP

สื่อนอกซัดไทย วางแผนส่งอุยกูร์กลับจีนล่วงหน้า แต่ปากแข็งไม่ยอมรับ

สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ก่อนหน้าที่ไทยจะส่งตัว 40 ชาวอุยกูร์ที่อยู่ในไทยนานกว่า 10 ปีกลับจีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ ไทยได้วางแผนที่จะส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีนอย่างลับๆ มานานกว่าหนึ่งเดือนแล้ว แต่กลับออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าวต่อทั้งสาธารณชน สมาชิกรัฐสภา รวมถึงผู้นำศาสนา จนกระทั่งเกือบจะนาทีสุดท้ายของการส่งตัว ซึ่งทำให้คนเหล่านี้รวมถึงผู้ที่ให้การสนับสนุนพวกเขาไม่มีโอกาสที่จะอุทธรณ์ใดๆ ก่อนที่จะถูกส่งตัวกลับไปยังจีน

เอพีระบุว่า ในอดีตไทยควบคุมตัวคนเหล่านี้ไว้เพราะอาจเผชิญกับปฏิกิริยาตอบโต้ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปหลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไทย ขณะที่นายทักษิณ ชินวัตร บิดาของเธอ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีน เจ้าหน้าที่ไทยจึงเริ่มหารือกันอย่างลับๆ ในการส่งกลับชาวอุยกูร์เมื่อเดือนธันวาคม หนึ่งเดือนหลังจากแพทองธารพบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ก่อนที่จีนจะส่งคำร้องให้ส่งตัวคนเหล่านี้กลับประเทศอย่างเป็นทางการในวันที่ 8 มกราคม ซึ่งพวกเขาถูกขอให้ลงนามในเอกสารเนรเทศ ทำให้มีการอุทธรณ์ต่อสาธารณะและอดอาหารประท้วง ก่อนที่สภาความมั่นคงแห่งชาติจะตัดสินใจเนรเทศพวกเขาในวันที่ 17 มกราคม แต่หลังจากนั้นนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยังให้สัมภาษณ์ว่ารัฐบาลไม่มีแผนที่จะส่งตัวคนเหล่านี้กลับทันที

เอพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ มีตัวแทนของเชคฮุลอิสลามที่ใกล้ชิดกับทางการไทยบอกกับชาวอุยกูร์ว่าพวกเขาจะไม่ถูกส่งตัวกลับจีน โดยมีการอ้างถึงเทปบันทึกเสียง 2 ชุดที่ถูกส่งให้กับทนายความและญาติของพวกเขาในยุโรป ซึ่งมีการส่งให้กับเอพีที่ระบุชัดเจนว่า ชายเหล่านี้ไม่ต้องการไปจีน ซึ่งชี้ว่าขัดกับคำกล่าวอ้างของรัฐบาล เพราะในอีก 3 วันถัดมาคือเช้าตรู่ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พวกเขาก็ถูกพาขึ้นรถและขับออกไปในยามวิกาล

ADVERTISMENT

เอพีรายงานอีกว่า น.ส.แพทองธารรับในเวลาต่อมาว่า เธอได้หารือเรื่องการส่งตัวบุคคลเหล่านี้กับจีนระหว่างเยือนกรุงปักกิ่งจริง ขณะที่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของไทยกล่าวว่า ไม่มีประเทศอื่นที่เสนอสถานะผู้ลี้ภัยให้กับชาวอุยกูร์เหล่านี้ แต่สหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ออกมายืนยันว่า พวกเขาได้เสนอว่าพร้อมจะรับตัวชาวอุยกูร์เหล่านี้หลายครั้งหลายหน ขณะที่ทางการไทยได้นำคณะเดินทางไปซินเจียง ซึ่งมีสื่อไทยบางส่วนได้รับเชิญแต่เอพีถูกปฏิเสธคำขอที่จะให้ร่วมเดินทางไปด้วย ขณะที่ข่าวที่เผยแผร่และคำแนะนำที่แจ้งกับสื่อร่วมคณะแสดงให้เห็นว่าการเดินทางครั้งนี้ถูกจัดขึ้นด้วยความระมัดระวัง คณะผู้แทนได้พบกับชายเพียง 6 คนจาก 40 คนเท่านั้น และสื่อที่เดินทางไปถูกสั่งไม่ให้ถ่ายภาพชาวอุยกูร์รวมถึงเจ้าหน้าที่จีน

การเนรเทศชาวอุยกูร์ดังกล่าวยังทำให้เกิดรอยร้าวทางการทูตระหว่างไทยและประเทศตะวันตก สหรัฐประกาศข้อจำกัดด้านวีซ่ากับเจ้าหน้าที่ไทยทั้งในอดีตและปัจจุบันโดยไม่ได้ประกาศรายชื่อ ด้านเหมา หนิง โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีนออกมาโจมตีการดำเนินการของสหรัฐว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พร้อมคัดค้านการนำประเด็นสิทธิมนุษยชนมาเป็นข้ออ้างในการบิดเบือนประเด็นที่เกี่ยวข้องกับซินเจียง แทรกแซงกิจการภายในของจีน และขัดขวางความร่วมมือในการบังคับใช้กฎหมายตามปกติ

ADVERTISMENT
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image