
สื่อนอกตีข่าวดินไหวใหญ่ เขย่าเมียนมา สะเทือนไทย-จีน เสียหายหนัก ชี้ตึกกทม.ไม่ได้ถูกออกแบบรับแรงสั่นไหว
เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สำนักข่าวต่างประเทศ อาทิ บีบีซี ซีเอ็นเอ็น และ รอยเตอร์ ต่างรายงานข่าวเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมา ที่สำนักงานธรณีวิทยาสหรัฐอเมริกา(ยูเอสจีเอส) ระบุว่าวัดขนาดได้ 7.7 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ อยู่ลึกลงไปประมาณ 10 กม. เมื่อเวลาประมาณ 12.50 น.ตามเวลาท้องถิ่น ก่อนตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกขนาด 6.4 แมกนิจูดในอีก 12 นาทีต่อมา ส่งแรงสั่นสะเทือนถึงประเทศไทยและมณฑลยูนนาน ทางตอนใต้ของประเทศจีน

ภาพที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียจากเมืองมัณฑะเลย์แสดงให้เห็นสภาพความเสียหายอย่างหนักของอาคารสิ่งปลูกสร้างหลยแห่งในเมืองมัณฑะเลย์ที่ทรุดถล่มพังลงมา รวมถึงถนนหลายสายที่ทรุดแตกร้าว รวมถึงสะพานอังวะ อันมีชื่อเสียงที่ถล่มพังลงมาด้วย เจ้าหน้าที่หน่วยดับเพลิงของเมียนมากล่าวว่ากำลังเข้าตรวจสอบว่ามีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตหรือไม่ ตลอดจนความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี ซีเอ็นเอ็นระบุว่าเมียนมาไม่มีอุปกรณ์เพียงพอในการรับมือภัยพิบัติรุนแรงที่รุนแรงขนาดนี้ โดยเมียนมาเป็นหนึ่งในประเทศยากจนที่สุดในเอเชียและยังต้องเผชิญกับสงครามกลางเมืองอันโหดร้ายมายาวนานถึง 4 ปีหลังเกิดเหตุรัฐประหาร
ซีเอ็นเอ็นรายงานว่า ในส่วนของประเทศไทย มีรายงานผู้เสียชีวิตแล้ว 1 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 50 คน หลังตึกสูงระฟ้าแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ ถล่มลงมาหลังเกิดแผ่นดินไหว โดยอ้างถึงคลิปวิดีโอภาพเหตุตึกถล่มดังกล่าวบริเวณจตุจักรที่มีการแชร์กันในโซเชียลมีเดีย ที่เผยให้เห็นคนงานก่อสร้างพากันวิ่งหนีตึกสูงที่กำลังถล่มลงมาด้วย
ผู้สื่อข่าวของบีบีซีในประเทศไทยรายงานว่าสามารถรู้สึกถึงการสั่นไหวของอาคารและเห็นผู้คนอพยพลงจากตึกมายังถนนด้านล่าง แรงสั่นของแผ่นดินไหวส่งผลให้ถนนในกรุงเนปยีดอของประเทศเมียนมาเกิดรอยแตก แต่บีบีซีไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลความเสียหายจากแผ่นดินไหวในประเทศเมียนมาได้ เพราะนับตั้งแต่ที่กองทัพเมียนมายึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนในปี 2021 กองทัพเมียนมาได้ควบคุมสื่อในเมียนมาแทบทั้งหมดและมีการจำกัดการใช้งานอินเตอร์เน็ตในเมียนมาอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเทศเมียนมามักเกินแผ่นดินไหวบ่อยครั้งกว่าประเทศไทย ระหว่างปี 1930 ถึงปี 1956 เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.0 แมกนิจูด 6 ครั้งบนรอยเลื่อนสะกายในเมียนมา แต่ประเทศไทยไม่ได้ตั้งอยู่ในเขตที่มีแผ่นดินไหวและแรงสั่นไหวที่รับรู้ได้ในประเทศไทยส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางที่เมียนมา ยิ่งไปกว่านั้น อาคารในกรุงเทพมหานครมักไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับแรงสั่นไหวของแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ ทำให้อาคารในกรุงเทพฯ อาจเกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงได้
ด้านสำนักข่าวเอพีรายงานว่า แรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวส่งผลให้สิ่งก่อสร้างบางแห่งของพระราชวังมัณฑะเลย์พังถล่มลงมา เช่นเดียวกับอาคารบางแห่งในเมืองมัณฑะเลย์ได้รับความเสียหาย โดยเมืองดังกล่าวเป็นเมืองใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 2 ของเมียนมา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว ส่วนในเขตสะกาย ทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองมันฑะเลย์ แผ่นดินไหวส่งผลให้สะพานอายุ 90 ปีพังถล่มลงมาและทางหลวงบางส่วนที่เชื่อมระหว่างเมืองมันฑะเลย์และนครย่างกุ้งพังเสียหายบางส่วน
ประชาชนในนครย่างกุ้งต่างวิ่งหนีตายออกมาจากบ้านเรือน แต่ไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตในนครย่างกุ้ง ส่วนในกรุงเนปยีดอของเมียนมา แรงสั่นไหวทำให้เจดียสถานในกรุงเนปยีดอเสียหาย ทำให้ยอดของเจดีย์และบ้านเรือนบางหลังพังถล่มลงมา
สำนักข่าวเอพีรายงานอีกว่า ภาพวิดีโอเผยให้เห็นเศษซากอาคารตกลงมากระจายบนท้องถนนของเมืองรุ่ยลี่ มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ส่วนเมืองหมานซื่อ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากเมืองรุ่ยลี่ไปทางตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร มีรายงานว่าแรงสั่นสะเทือนรุนแรงจนทำให้ผู้คนไม่สามารถยืนได้
ด้านรอยเตอร์อ้างพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า ผู้คนหนีกรูกันออกมาจากอาคารด้วยความตื่นตระหนกทั้งในกรุงเทพฯ และย่างกุ้ง ขณะที่ประชาชนในเมืองมัณฑะเลย์กล่าวว่า เห็นอาคารหลายแห่งในมัณฑะเลย์ถล่มลงขณะที่ผู้คนจำนวนมากวิ่งออกมาบนท้องถนน อีกทั้งพยานรายหนึ่งที่มีนามว่าฟาอิซกล่าวว่า เขากำลังละหมาดอยู่ในมัสยิดเมื่อแผ่นดินไหวเกิดขึ้น พร้อมกล่าวว่า “แผ่นดินเริ่มสั่นสะเทือนตอนที่ผมกำลังล้างมือเพื่อเตรียมตัวละหมาด พวกเรารีบวิ่งออกไปจากมัสยิด”
ล่าสุด รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินครอบคลุมพื้นที่ศูนย์กลางแผ่นดินไหวของประเทศ ที่รวมถึงเขตสะกาย มัณฑะเลย์ พะโค และมะกเว ตลอดจนรัฐฉาน ทางตะวันออกของประเทศแล้ว