นักวิทย์ นิวซีแลนด์ เปิดสาเหตุ แผ่นดินไหวเมียนมา ขนาด7.7 สะเทือนแรงถึงกรุงเทพ
เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมา ขนาด 7.7 แมกนิจูด มีจุดศูนย์กลางอยู่ใกล้กับเมืองมัณฑะเลย์ อยู่ลึกลงไปประมาณ 10 กม. เมื่อเวลา 12.50 น. ของวันที่ 28 มีนาคม จน 12 นาทีต่อมา แรงสะเทือนได้ส่งมาถึงประเทศไทยด้วยนั้น
สื่อต่างประเทศ ได้เปิดเผยเหตุผลว่า ทำไมประเทศไทยถึงได้รับแรงสั่นสะเทือนขนาดนี้ โดยระบุว่า แผ่นดินไหวขนาด 7.7 เกิดขึ้นที่เมียนมาในช่วงเที่ยงของวันศุกร์ ตามมาด้วยอาฟเตอร์ช็อกรุนแรงและแรงสั่นสะเทือนระดับปานกลางอีกหลายครั้ง
ศาสตราจารย์จอห์น ทาวเอนด์ (John Townend) จากมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย (Victoria) ระบุว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้เกิดจากการเลื่อนตัวของรอยเลื่อนที่อาจยาวถึง 200 กิโลเมตร และลึกลงไปถึง 20 กิโลเมตร
ขณะที่ เกรแฮม เลนาร์ด (Graham Leonard) นักภูเขาไฟวิทยาและนักวิทยาศาสตร์หลักของจีเอ็นเอส (GNS) สถาบันวิทยาศาสตร์ของนิวซีแลนด์ อธิบายว่า รอยเลื่อนในเมียนมา เป็นรอยเลื่อนขนาดใหญ่ ซึ่งเคลื่อนตามแนวระดับ (strike-slip) หรือพูดให้เห็นภาพชัดมากขึ้นคือ รอยเลื่อนที่สองฝั่งเคลื่อนที่ผ่านกัน


และเป็นหนึ่งในรอยเลื่อนที่อันตรายที่สุดในโลก เพราะอยู่ใกล้กับ 2 เมืองใหญ่ที่สุดของเมียนมา และสภาพของอาคารในประเทศก็มีมาตรฐานแตกต่างกันไป โดยความอันตรายของรอยเลื่อน ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของประชากรและลักษณะการก่อสร้างอาคาร
สำหรับ 5 ปัจจัย ที่ส่งผลต่อความเสียหาย นอกเหนือจากขนาดแผ่นดินไหว ได้แก่
- ระยะทางจากศูนย์กลางแผ่นดินไหว
- ลักษณะของพื้นดิน (เช่น ดินอ่อนหรือแข็ง)
- โครงสร้างของอาคาร
- ความลาดชันของพื้นที่
- ความใกล้ทะเล
นักวิทยาศาสตร์กล่าวต่อว่า สำหรับแผ่นดินไหวครั้งนี้ ที่ทำให้กรุงเทพฯ ซึ่งอยู่ห่างไปถึง 1,000 กิโลเมตร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนได้ เพราะชั้นดินใต้กรุงเทพฯ มีลักษณะอ่อนมาก