โลกสะดุ้ง ‘ภาษีทรัมป์’ ถ้วนหน้า จับตาคู่ค้ามะกันตอบโต้หรือเจรจา
สั่นสะเทือนไปทั่วโลกโดยพลันหลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกา ได้ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรใหม่ที่ทุกประเทศเผชิญกันถ้วนหน้า เริ่มสตาร์ทอัตราเรียกเก็บตั้งแต่ 10% จนถึงอัตราสูงสุด 49% เมื่อวันที่ 2 เมษายน ที่ทรัมป์เรียกขานว่าเป็น “วันปลดปล่อย” ของสหรัฐจากการถูกปล้นกระชำเราทางเศรษฐกิจมานานกว่า 50 ปี จากหลายประเทศที่ปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับสหรัฐทั้งในรูปแบบภาษีและไม่ใช่ภาษี ซึ่งจุดเสียงวิพากษ์วิจารณ์และปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้นำนานาประเทศขึ้นในทันที ซึ่งมีทั้งขู่จะตอบโต้กลับและมีที่จะขอเจรจาต่อรองด้วยหวังว่าจะไม่ให้ความขัดแย้งบานปลายกลายเป็นสงครามการค้าลุกโชนรุนแรง
หนึ่งในนั้นมีท่าทีจากนายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย พันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐ ที่โดนทรัมป์เรียกเก็บภาษี 10% ที่กล่าวตัดพ้อว่า นี่ไม่ใช่การกระทำของเพื่อน การตัดสินใจดังกล่าวยิ่งเพิ่มความไม่แน่นอนให้กับเศรษฐกิจโลกและประชาชนชาวอเมริกันเองที่จะเป็นผู้ต้องจ่ายราคาแพงที่สุดสำหรับภาษีศุลกากรที่ไม่เป็นธรรมเหล่านี้ นี่คือเหตุผลที่รัฐบาลออสเตรเลียจะไม่บังคับใช้มาตรการภาษีต่างตอบแทน เราจะไม่ร่วมแข่งขันไปสู่จุดต่ำสุดที่จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นและการเติบโตชะลอตัวลง
นางอัวร์ซูลา ฟอน เดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ชี้ว่ามาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐ ถือเป็นการโจมตีเศรษฐกิจโลกครั้งใหญ่ สหภาพยุโรป(อียู) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ ได้เตรียมการที่จะตอบโต้หากการเจรจากับสหรัฐล้มเหลว “ผลที่ตามมาจะเลวร้ายมากสำหรับผู้คนหลายล้านคนทั่วโลก” เธอกล่าวย้ำ
นางจอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี ซึ่งเป็นพันธมิตรของทรัมป์ กล่าวว่า การตัดสินใจเรื่องมาตรการภาษีของสหรัฐนั้นเป็นสิ่งผิด แต่เราจะทำทุกอย่างที่สามารถทำได้ในการทำความตกลงกับสหรัฐเพื่อป้องกันสงครามการค้า
นายเปโดร ซานเชซ นายกรัฐมนตรีสเปน กล่าวว่า สเปนจะปกป้องภาคเอกชนและแรงงานของตนเอง และสเปนจะยึดมั่นต่อโลกที่เปิดกว้างต่อไป
นายไมเคิล มาร์ติน นายกรัฐมนตรีไอร์แลนด์ กล่าวว่า การตัดสินใจของทรัมป์เป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่งและไม่เป็นประโยชน์ต่อใครเลย
นายอุล์ฟ คริสเตอซ็อน นายกรัฐมนตรีสวีเดน กล่าวว่า เราไม่ต้องการเพิ่มอุปสรรคทางการค้า ไม่ต้องการสงครามการค้า เราต้องการหาวิธีกลับไปสู่เส้นทางการค้าและความร่วมมือกับสหรัฐ เพื่อให้ประชาชนในประเทศของเรามีชีวิตที่ดีขึ้น
ประธานาธิบดีคาริน เคลเลอร์-ซัทเทอร์ ของสวิตเซอร์แลนด์ โพสต์ X ระบุว่า สวิตเซอร์แลนด์จะตัดสินใจโดยเร็วถึงการดำเนินการก้าวต่อไปเพื่อตอบสนองต่อมาตรการภาษี
ด้านนายมาร์ก คาร์นีย์ นายกรัฐมนตรีแคนาดา ที่ถูกรัฐบาลทรัมป์ดำเนินมาตรการภาษีตอบโต้ไปก่อนหน้านี้ กล่าวว่า ทรัมป์ได้รักษาองค์ประกอบสำคัญหลายประการของความสัมพันธ์ของเราเอาไว้ นั่นคือความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างแคนาดาและสหรัฐ แต่ภาษีเฟนทานิลยังคงมีผลอยู่เช่นเดียวกับภาษีเหล็กและอลูมิเนียม ซึ่งเราจะต่อสู้กับภาษีนำเข้าเหล่านี้ด้วยมาตรการตอบโต้ เราจะปกป้องคนงานของเราและจะสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มจี7
จีน มหาอำนาจคู่ปรับสหรัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์จีน ได้แถลงเรียกร้องให้สหรัฐยกเลิกมาตรการกำแพงภาษีใหม่นี้ในทันที พร้อมประกาศกร้าวว่าจีนจะตอบโต้เพื่อปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนเอง หลังจากจีนโดนทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีเพิ่มอีก 34% จากที่ถูกขึ้นภาษีไปแล้ว 10%ก่อนหน้านี้ ส่งผลให้อัตราภาษีสินค้าจีนที่จะถูกสหรัฐเรียกเก็บเพิ่มขึ้นเป็นทั้งสิ้น 54% ซึ่งเกือบใกล้เคียงระดับ 60% ที่ทรัมป์เคยขู่ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้งว่าจะเก็บภาษีตอบโต้จีน
ขณะที่นายฮัน ด็อกซู รักษาการประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หนึ่งในชาติพันธมิตรสำคัญด้านความมั่นคงของสหรัฐ กล่าวว่า สงครามการค้าโลกกลายเป็นความจริง รัฐบาลของตนกำลังมองหาหนทางที่จะฟันฝ่าวิกฤตการค้าครั้งนี้ หลังจากเกาหลีใต้เผชิญกำแพงภาษีทรัมป์ 25%
นายชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ที่เผชิญอัตราภาษีสหรัฐ 24% กล่าวว่า ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ลงทุนกับสหรัฐมากที่สุด ดังนั้นเราจึงสงสัยว่ามันสมเหตุสมผลหรือไม่ที่สหรัฐจะกำหนดอัตราภาษีแบบเดียวกันกับทุกประเทศ เราจำเป็นต้องพิจารณาว่าอะไรเป็นสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับผลประโยชน์แห่งชาติของญี่ปุ่น และเรากำลังพิจารณาทางเลือกทั้งหมดในการตอบสนองที่มีประสิทธิผลที่สุด
ด้านประธานาธิบดีกุสตาโว เปโตร ของโคลอมเบีย กล่าวว่า เราจะทำให้สินค้าจากสหรัฐมีราคาแพงขึ้นก็ต่อเมื่อพวกเขาเอาตำแหน่งงานของเราไป เราจะไม่ขึ้นภาษี หากสินค้าสหรัฐช่วยสร้างงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น
อิสราเอลที่ได้ยกเลิกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าอเมริกันทั้งหมดไปก่อนหน้าที่ทรัมป์จะประกาศมาตรการภาษีศุลกากรนั้น ทีมเศรษฐกิจของอิสราเอลชี้ว่าสุดช็อกที่อิสราเอลต้องเผชิญกำแพงภาษีทรัมป์ถึง 17%
จากนี้ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าแต่ละประเทศจะดำเนินมาตรการตอบโต้สหรัฐอย่างไร หรือการลงนั่งโต๊ะเจรจาต่อรอง โดยมีสิ่งจูงใจแลกเปลี่ยน จะโน้มน้าวให้รัฐบาลทรัมป์ยอมเปลี่ยนใจผ่อนปรนลงหรือละเว้นภาษีให้ได้หรือไม่