ตลาดหุ้นโลกร่วงแรง หลังจีนตอบโต้ภาษีสินค้ามะกัน ‘เฟด’ ชี้เสี่ยงเฟ้อสูง-ศก.ชะลอตัว ‘ทรัมป์’ จี้ลดดอกเบี้ย
เมื่อวันที่ 5 เมษายน สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า มาตรการเก็บภาษีพื้นฐาน 10% ต่อสินค้าจากทุกประเทศที่นำเข้าสู่ประเทศสหรัฐ มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 5 เมษายน ในขณะที่อัตราภาษีขั้นสูงกว่าที่รัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ใช้ในการตอบโต้เหล่าประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐเป็นอย่างมากหรือปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อสหรัฐจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน
ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกได้ร่วงลงแรงต่อเนื่องเป็นวันที่สอง หลังนักลงทุนเทขายหุ้นในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ (4 เม.ย.) หลังจากจีนตอบโต้มาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ด้วยการประกาศเก็บภาษีสินค้าสหรัฐทั้งหมดเพิ่มขึ้นอีก 34% ที่จะมีผลในวันที่ 10 เมษายนนี้ โดยเป็นอัตราเดียวกับที่จีนถูกทรัมป์ตั้งกำแพงภาษี ซึ่งยิ่งทำให้สงครามการค้าทวีความรุนแรงมากขึ้น และทำให้นักลงทุนเป็นกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่อาจเกิดขึ้น
โดยดัชนีหุ้นสำคัญในตลาดหุ้นสหรัฐร่วงลงมากกว่า 5% โดยดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงไป 6% ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ลดลง 5.5% และดัชนีแนสแด็กคอมโพสิต ลดลง 5.8% แม้มีรายงานเกี่ยวกับตลาดงานของสหรัฐที่ออกมาดีเกินคาด แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการร่วงลงของตลาดหุ้นได้
ขณะที่หากมองภาพรวมทั้งสัปดาห์นับจากที่สงครามการค้าทวีความรุนแรงขึ้น ดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ร่วงลงไปแล้ว 9.08% ดัชนีแนสแด็กคอมโพสิต ลงไป 10.02% ดัชนีดาวโจนส์ ลดลง 7.86% และดัชนีหุ้น Russell 2000 Small Cap ลดลง 9.70% ซึ่งถือเป็นการสูญเสียของตลาดหุ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปี 2020
เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในยุโรปที่ปรับตัวลงถ้วนทั่วโดยดัชนีหุ้น FTSE 100 ของสหราชอาณาจักร ลดลงเกือบ 5% ร่วงแรงที่สุดในรอบ 5 ปี เช่นเดียวกับตลาดหุ้นเยอรมนีและฝรั่งเศส รวมถึงตลาดหุ้นเอเชียที่ล้วนปรับตัวลงแรงเช่นเดียวกัน
มีความเห็นจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กล่าวในการประชุมผู้สื่อข่าวสายธุรกิจในวันเดียวกันว่า อัตราภาษีศุลกากรที่ออกมาใหญ่กว่าที่คาดและเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นและการเติบโตที่ชะลอตัวลง พร้อมกล่าวด้วยว่าเฟดจะรอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาว่านโยบายการเงินควรตอบสนองอย่างไร แต่จะมุ่งเน้นที่การรักษาความคาดหวังเรื่องเงินเฟ้อให้คงที่ หากมาตรการภาษีของทรัมป์ทำให้เกิดแรงกดดันทางราคาที่ยืดเยื้อ
อย่างไรก็ตาม นายพาวเวลล์ไม่ได้กล่าวถึงที่นักลงทุนเทขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐแต่อย่างใด แต่ยอมรับว่าความไม่แน่นอนทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจหยุดชะงัก
“ผู้คนเพียงกำลังรอดูความชัดเจน ผมไม่สามารถบอกพวกคุณได้ว่าเมื่อไหร่ที่มันจะผ่านไป แต่พวกคุณก็รู้สุดท้ายมันจะผ่านไป” นายพาวเวลล์กล่าว
คล้อยหลังความเห็นของประธานเฟด ทรัมป์ได้โพสต์ผ่านแพลตฟอร์มทรูธโซเชียลว่า “นี่เป็นเวลาที่เหมาะสม” สำหรับเฟดในการลดอัตราดอกเบี้ย “ลดอัตราดอกเบี้ยเถอะ เจอโรม และหยุดเล่นการเมืองซะ!”
ขณะที่ทีมทำงานของทรัมป์อธิบายความผันผวนของตลาดว่าเป็นการปรับตัวที่ในระยะยาวจะเป็นประโยชน์
ยังคงมีปฏิกิริยาจากหลายชาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของทรัมป์ หนึ่งในนั้นนายชิเกรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในคู่ค้าสำคัญของสหรัฐ กล่าวว่า ภาษีศุลกากรได้สร้าง “วิกฤตชาติ” ขึ้น เนื่องจากการร่วงลงของหุ้นธนาคารญี่ปุ่นในการซื้อขายเมื่อวันศุกร์ และดัชนีนิกเคอิ 225 ลดลงกว่า 2.7% ทำให้ตลาดหุ้นโตเกียวมุ่งหน้าสู่สัปดาห์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบหลายปี
ด้านนายมารอส เซฟโควิช กรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ที่มีแผนจะตอบโต้สหรัฐ กล่าวว่า ตนได้โทรศัพท์พูดคุยอย่างตรงไปตรงมากับนายโฮเวิร์ด ลัตนิก รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์สหรัฐ และนายเจมีสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ซึ่งตนได้กล่าวอย่างชัดเจนว่า ภาษีศุลกากรของสหรัฐกำลังสร้างความเสียหายและไร้เหตุผล สหภาพยุโรปมุ่งมั่นที่จะเจรจาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็พร้อมที่จะปกป้องผลประโยชน์ของเรา
อย่างไรก็ดี ท่าทีของชาติอียูยังมีความเห็นแตกต่างกันไปในการจะตอบโต้ต่อมาตรการภาษีของทรัมป์อย่างไร โดยส่วนหนึ่ง เช่น ไอร์แลนด์ อิตาลี โปแลนด์ และกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย ที่มีความระมัดระวังในการตอบโต้และมองว่าจะเพิ่มความเสี่ยงในการเผชิญหน้ากับสหรัฐ