หุ้นเอเชียร่วงกราวรูด ‘ทรัมป์’ เปรียบภาษีเหมือนยา ขู่รบ.ตปท. หวังยกเลิกต้องจ่ายหนัก
ตลาดหุ้นเอเชียพากันร่วงลงไปตามๆ กันหลังเปิดตลาดในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 7 เมษายน หลังจากที่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐก็ตกอย่างหนักเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากทั่วโลก ขณะที่จีนก็ประกาศว่าจะดำเนินมาตรการตอบโต้กลับทันที
สัญญาซื้อขายหุ้นล่วงหน้าของสหรัฐยังส่งสัญญาณว่าตลาดจะร่วงลงต่อเนื่องในสัปดาห์นี้ โดยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของดัชนี S&P 500 ลดลง 4.2% ในขณะที่ดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones ลดลง 3.5% และสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของ Nasdaq ลดลง 5.3%
ด้านดัชนี Nikkei 225 ของโตเกียวร่วงลงเกือบ 8% ไม่นานหลังจากตลาดเปิดทำการ ก่อนที่ในอีกหนึ่งชั่วโมงต่อมาก็ปรับลดลงเหลือ 7.1% อยู่ที่ 31,375.71 จุด
ดัชนี Kospi ของเกาหลีใต้ลดลง 5.5% อยู่ที่ 2,328.52 จุด ขณะที่ดัชนี S&P/ASX 200 ของออสเตรเลียลดลง 6.3% อยู่ที่ 7,184.70 จุด
ราคาน้ำมันดิบยังคงลดลงต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบสหรัฐลดลง 4% หรือ 2.50 ดอลลาร์ อยู่ที่ 59.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ทะเลเหนือ ลดลง 2.25 ดอลลาร์ อยู่ที่ 63.33 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ส่วนค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงจาก 146.94 เยน เหลือ 145.98 เยน ขณะที่ค่าเงินยูโรเพิ่มขึ้นจาก 1.0962 ดอลลาร์ต่อยูโรมาเป็น 1.0967 ดอลลาร์
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา วิกฤตที่เลวร้ายที่สุดของ
ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทของสหรัฐเผชิญกับวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดนับตั้งแต่เกิดโควิด-19 โดยดัชนี S&P 500 ร่วงลง 6% และดัชนี Dow ร่วงลง 5.5% ดัชนี Nasdaq ร่วงลง 5.8% หลังจากที่จีนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐ 34% ซึ่งเป็นเท่ากับที่ทรัมป์ประกาศบังคับใช้กับสินค้าจีนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 10 เมษายนนี้ ส่งผลให้สงครามการค้าระหว่างประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 1 และ 2 ของโลกรุนแรงขึ้น ซึ่งทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเตือนว่าอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกถดถอยและส่งผลกระทบกับทุกฝ่าย แม้ว่ารายงานเกี่ยวกับตลาดการจ้างงานของสหรัฐจะที่ดีกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะหยุดยั้งการร่วงลงของตลาดหุ้นสหรัฐได้
จนถึงขณะนี้ แทบไม่มีบริษัทใดที่ได้รับประโยชน์จากสงครามการค้าในตลาดการเงินเลย หุ้นของบริษัททั้งหมด 14 บริษัทจาก 500 บริษัทที่อยู่ใน S&P 500 พากันร่วงลงเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
คำถามสำคัญที่รออยู่ข้างหน้าคือ สงครามการค้าจะทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ หากเป็นเช่นนั้น ราคาหุ้นอาจต้องลดลงมากกว่าที่เป็นอยู่แล้ว โดยดัชนี S&P 500 ลดลง 17.4% จากระดับสูงสุดที่ทำไว้ในเดือนกุมภาพันธ์กระนั้นก็ดี ทรัมป์ที่อยู่ที่มาร์-อา-ลาโก ซึ่งเป็นสโมสรส่วนตัวของเขาในฟลอริดา โพสต์บนโซเชียลมีเดียว่า “นี่เป็นช่วงเวลาที่ดีเยี่ยมสำหรับการร่ำรวย” ขณะที่เขายังได้ให้สัมภาษณ์บนเครื่องแอร์ฟอร์ซวันในเวลาต่อมาว่า รัฐบาลประเทศต่างๆ จะต้องจ่ายเงินจำนวนมากหากต้องการยกเลิกภาษีศุลกากรที่เขาอธิบายว่าเป็น “ยารักษาโรค” แม้ว่าตลาดการเงินจะบ่งชี้ว่าอาจเกิดการสูญเสียครั้งใหญ่ในสัปดาห์นี้ก็ตาม
ทรัมป์กล่าวกับนักข่าวว่า เขาไม่กังวลเกี่ยวกับการขาดทุนในตลาดที่ทำให้มูลค่าหุ้นของสหรัฐลดลงแล้วเกือบ 6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
“ผมไม่อยากให้อะไรตกต่ำลง แต่บางครั้งคุณต้องกินยารักษาโรคเพื่อแก้ไขบางอย่าง” ทรัม์กล่าว
ผู้นำสหรัฐยังบอกด้วยว่า เขาได้พูดคุยกับผู้นำจากยุโรปและเอเชียในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งหวังว่าจะโน้มน้าวให้เขาลดภาษีนำเข้าที่อาจสูงถึง 50% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในสัปดาห์นี้ลง
“พวกเขากำลังเข้ามาเจรจา พวกเขาต้องการพูดคุย แต่จะไม่พูดคุยเว้นแต่ว่าพวกเขาจะจ่ายเงินให้เราเป็นจำนวนมากในทุกปี” ทรัมป์กล่าว
ด้านที่ปรึกษาเศรษฐกิจระดับสูงของทรัมป์พยายามแสดงให้เห็นว่าการเรียกเก็บภาษีนำเข้าเป็นการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของสหรัฐในระเบียบการค้าโลกอย่างชาญฉลาด พวกเขายังพยายามลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเปิดตัวภาษีนำเข้าที่สร้างวุ่นวายดังกล่าวไปพร้อมๆ กัน
นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ให้สัมภาษณ์รายการ ‘Meet the Press’ ของ NBC News ว่ามีประเทศต่างๆ มากกว่า 50 ประเทศที่เริ่มเจรจากับสหรัฐตั้งแต่มีการประกาศกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าใหม่เมื่อวันพุธที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์ได้สร้างอิทธิพลสูงสุดให้กับตัวเองแล้ว
อย่างไรก็ดี เบสเซนต์และเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลคนอื่นๆ ไม่ได้ระบุชื่อประเทศหรือให้รายละเอียดเกี่ยวกับการเจรจา แต่การเจรจากับรัฐบาลหลายประเทศในเวลาเดียวกันสร้างความท้าทายด้านการจัดการให้กับรัฐบาลทรัมป์ และอาจทำให้ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยืดเยื้อออกไปอีก
เบสเซนต์กล่าวว่า ไม่มีเหตุผลที่จะคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะถดถอย โดยอ้างถึงการเติบโตของการจ้างงานของสหรัฐที่แข็งแกร่งกว่าที่คาดไว้ในเดือนที่แล้ว ก่อนที่จะมีการประกาศอัตราภาษีศุลกากรใหม่ดังกล่าว
เควิน ฮัสเซตต์ ที่ปรึกษาเศรษฐกิจทำเนียบขาว ปฏิเสธว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ของเขาที่ต้องการทำลายตลาดการเงิน เพื่อกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยฮัสเซตต์กล่าวว่า จะไม่มีการบีบบังคับทางการเมืองต่อเฟด
อย่างไรก็ดีโพสต์บน Truth Social ของทรัมป์เมื่อวันศุกร์ เขาได้แชร์วิดีโอที่แสดงให้เห็นว่าภาษีศุลกากรของเขามีจุดมุ่งหมายเพื่อทุบตลาดหุ้นโดยตั้งใจ เพื่อบังคับให้มีการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจุดชนวนให้เกิดการถกเถียงกันทั่วโลกว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์เป็นส่วนหนึ่งของระบบภาษีศุลกากรใหม่ที่จะมีการบังคับใช้แบบถาวร หรือเป็นเพียงกลวิธีการเจรจาที่อาจนำไปสู่การผ่อนปรนภาษีศุลกากรผ่านการที่ประเทศอื่นๆ ต้องผ่อนปรนมาตรการภาษีของตนเช่นกัน
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด กล่าวเมื่อวันศุกร์ว่า ภาษีศุลกากรอาจส่งผลให้การคาดการณ์ว่าจะเกิดอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น และการลดอัตราดอกเบี้ยที่อาจกระตุ้นให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอีก
“หน้าที่ของเราคือการรักษาความคาดหวังเกี่ยวกับระดับเงินเฟ้อในระยะยาวให้อยู่ในระดับที่มั่นคง เพื่อให้มั่นใจว่าการเพิ่มขึ้นของระดับราคาเพียงครั้งเดียวจะไม่กลายเป็นปัญหาที่ทำให้เงินเฟ้อยืดเยื้อในระยะยาว” พาวเวลล์กล่าวว่า
หลายสิ่งหลายอย่างขึ้นอยู่กับว่าภาษีศุลกากรของทรัมป์จะคงอยู่ได้นานเท่าใด และประเทศอื่นๆ จะตอบโต้กลับอย่างไร นักลงทุนบางส่วนในวอลล์สตรีทยังคงมีความหวังว่าทรัมป์จะลดภาษีศุลกากรลง หลังจากที่ได้รับ “ชัยชนะ” จากประเทศอื่นๆ หลังจากการเจรจา
ทรัมป์รับว่า ชาวอเมริกันอาจรู้สึกเจ็บปวดบ้างจากภาษีศุลกากร แต่เขากล่าวเช่นกันว่าเป้าหมายในระยะยาว ซึ่งรวมถึงการนำงานและการผลิตสินค้าต่างๆ กลับคืนสู่สหรัฐนั้นคุ้มค่า
นักเศรษฐศาสตร์ของ JPMorgan ประเมินว่า ภาษีต่อสินค้านำเข้าดังกล่าวจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐทั้งปีลดลง 0.3% ซึ่งต่ำกว่าการประมาณการก่อนหน้านี้ที่คาดว่าเศรษฐกิจจะเติบโต 1.3% และอัตราการว่างงานจะเพิ่มขึ้นเป็น 5.3% จาก 4.2% ในปัจจุบัน