ส่องท่าทีผู้นำหนีภาษีทรัมป์ ไต้หวันเสนอเก็บภาษี 0% อินเดียย้ำไม่ตอบโต้ อิตาลีให้คำมั่นปกป้องภาคเอกชน  

AP

ส่องท่าทีผู้นำหนีภาษีทรัมป์ ไต้หวันเสนอเก็บภาษี 0% อินเดียย้ำไม่ตอบโต้ อิตาลีให้คำมั่นปกป้องภาคเอกชน  

จากกรณีที่มาตรการขึ้นอัตราภาษีสินค้านำเข้าทุกประเภท 10% ของสหรัฐ มีผลบังคับใช้แล้วในวันที่ 5 เมษายน และมาตรการภาษีต่างตอบแทนจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เมษายน เวลา 12.01 น. ตามเวลาในสหรัฐ ผู้นำจากหลายประเทศเริ่มดำเนินการรับมือและเปิดช่องทางเจรจาเพื่อหลีกเลี่ยงมาตรการภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แล้ว

สำหรับไต้หวันที่เผชิญกับอัตราภาษี 32% เมื่อวันที่ 6 เมษายน ประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อของไต้หวัน เปิดเผยผ่านวิดีโอหลังจากที่ได้พบหารือกับผู้บริหารบริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่บ้านพักส่วนตัวว่า ในการเจรจากับสหรัฐเรื่องมาตรการเก็บภาษีต่างตอบแทน รัฐบาลไต้หวันจะเสนอมาตรการเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ 0% รวมถึงยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้า พร้อมกล่าวด้วยว่า บริษัทไต้หวันจะลงทุนในสหรัฐมากขึ้น

ทั้งนี้ มาตรการภาษีของสหรัฐไม่ได้ส่งผลกระทบการส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของประเทศ โดยไต้หวันเป็นผู้ผลิตที่ใหญ่ที่สุดของโลก

ADVERTISMENT

ไล่กล่าวด้วยว่า จากการที่เศรษฐกิจของไต้หวันพึ่งพาการส่งออก มาตรการภาษีจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบนั้นสามารถบรรเทาลงได้

พร้อมกับเน้นย้ำว่า ไต้หวันจะไม่ดำเนินการตอบโต้ในเรื่องนี้ด้วยมาตรการภาษี และความมุ่งมั่นของบริษัทไต้หวันต่อการลงทุนในสหรัฐนั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง

ADVERTISMENT

ไล่กล่าวว่า “ในอนาคต นอกเหนือจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC)  อุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น อิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ปิโตรเคมีและก๊าซธรรมชาติจะลงทุนในสหรัฐมากขึ้นโดยเรื่องนี้จะช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวันและสหรัฐด้วย” โดยเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา TSMC ประกาศลงทุนเพิ่มในสหรัฐในมูลค่ามหาศาลด้วยแล้ว

พร้อมระบุอีกว่า “รัฐบาลไต้หวันกำลังพิจารณาในการซื้อสินค้าทางการเกษตร อุตสาหกรรมและพลังงานจากสหรัฐ อีกทั้ง กระทรวงกลาโหมได้ดำเนินแผนการซื้ออาวุธด้วยแล้ว”

นอกจากนั้น ไล่กล่าวว่า ไต้หวันเคยเผชิญกับวิกฤตระดับโลกมากมายและสามารถผ่านความท้าทายมาได้ ทั้งยังสามารถเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของไต้หวันในรูปแบบใหม่ ซึ่งจะมีความสามารถในการฟื้นคืนมากขึ้น

ด้านอินเดียที่เผชิญกับอัตราภาษี 26% เน้นย้ำว่าไม่มีแผนการที่จะตอบโต้ และกำลังขับเคลื่อนกระบวนการเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลง ในขณะเดียวกัน นายกรัฐมนตรีจอร์จา เมโลนีของอิตาลีประกาศว่าจะปกป้องภาคเอกชนที่ต้องเผชิญกับอัตราภาษี 20% จากมาตรการเก็บภาษีสินค้าจากสหภาพยุโรป โดยผู้ผลิตไวน์ในอิตาลีและบริษัทนำเข้าไวน์อิตาลีของสหรัฐเปิดเผยที่เทศกาลไวน์ที่วิโรน่าเมื่อวันที่ 6 เมษายนว่า ธุรกิจเกิดการชะลอตัวและได้แสดงความกังวลถึงความเสียหายที่อาจจะสาหัสมากกว่านี้ด้วย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะของญี่ปุ่น ซึ่งเผชิญกับอัตราภาษีนำเข้ารถยนต์ 25% และภาษีต่างตอบแทน 24% กล่าวที่รัฐสภาว่า รัฐบาลจะดำเนินการร้องขอให้รัฐบาลสหรัฐลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าญี่ปุ่น โดยทางรัฐบาลพร้อมที่จะทำทุกหนทาง ซึ่งรวมถึงการให้การสนับสนุนด้านการเงินกับบริษัทภายในประเทศ ไปจนถึงมาตรการป้องกันปัญหาว่างงานด้วย อีกทั้ง ตนตั้งใจที่จะไปเยือนสหรัฐเพื่อเจรจากับทรัมป์ให้ได้โดยเร็วที่สุด กระนั้นก็ดี ตนตระหนักดีว่าการบรรลุข้อตกลงนั้นไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงชั่วข้ามคืน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image