ฟื้นพลัง ‘บิมสเทค’ ชูความร่วมมือเพื่อนบ้าน ฝ่ามรสุมรุมเร้าโลก
เกือบ 28 ปีหลังจากการก่อตั้งความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ (บิมสเทค) จากปฏิญญากรุงเทพฯ ในปี 2540 การประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ซึ่งเพิ่งจบไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงการกลับฟื้นคืนความสำคัญของเวที “บิมสเทค ที่มั่งคั่ง ยั่งยืน ฟื้นคืน และเปิดกว้าง” (PRO BIMSTEC) สมดัง “วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030” ที่มีการรับรองโดยผู้นำ และสมกับความตั้งใจของไทยในฐานะประธานการประชุมผู้นำบิมสเทคครั้งนี้ ก่อนที่จะส่งมอบภารกิจให้กับบังกลาเทศในฐานะประธานบิมสเทคคนต่อไป
วิสัยทัศน์กรุงเทพฯ 2030 เป็นการวางรากฐานเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของบิมสเทคด้วยการให้ความสำคัญกับการบูรณาการทางเศรษฐกิจ ส่งเสริมความเชื่อมโยงหลากมิติ และเสริมสร้างศักยภาพในการรับมือกับปัญหาต่างๆ โดยให้ความสำคัญกับความมั่นคงของมนุษย์และการพัฒนาทุนมนุษย์ ที่ถือเป็นต้นทุนสำคัญที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งที่แท้จริงให้กับบิมสเทคโดยรวม ขณะที่แนวคิด PRO BIMSTEC ยังจะทำให้บิมสเทคสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับองค์การทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลกได้อย่างแข็งขันมากขึ้นในประเด็นที่มีความสำคัญต่างๆ
เอกสารสำคัญอีกฉบับที่ได้มีการลงนามระหว่างการประชุมดังกล่าวคือ “ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการขนส่งทางทะเล” ก็มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นการประกาศความร่วมมือในการสร้างความเชื่อมโยงของเส้นทางการค้าทางทะเลรอบอ่าวเบงกอลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมและสอดประสานกับการสร้างความเชื่อมโยงทางบกของประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่เป็นประเทศที่ไม่มีทางออกทางทะเล เพื่อช่วยให้เกิดความเชื่อมโยงอย่างรอบด้านในบิมสเทคทั้งทางบกและทางทะเล ไปพร้อมๆ กับการสร้างความเชื่อมโยงด้านดิจิทัลเพื่อยกระดับการพัฒนาบิมสเทคแบบรอบด้าน ซึ่งเป็นประเด็นที่ไทยในฐานประเทศนำด้านความเชื่อมโยงเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องดังกล่าว
ผู้นำบิมสเทคยังได้รับรองแถลงการณ์ร่วมว่าด้วยผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในเมียนมาและไทย โดยแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนของทั้งสองประเทศต่อเหตุโศกนาฏกรรมดังกล่าว พร้อมกับแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับผู้ที่ได้รับผลกระทบ และจะพยายามสนับสนุนความพยายามบรรเทาทุกข์และฟื้นฟูภายใต้กลไกที่ตั้งขึ้นและที่มีอยู่แล้ว ปรับปรุงระบบเตือนภัยล่วงหน้า และให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างศักยภาพของภูมิภาคในการจัดการภัยพิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับชื่นชมความพยายามของประเทศสมาชิก ในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาทุกข์จากภัยพิบัติแก่เมียนมา สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของความร่วมมือในการบริหารจัดการภัยพิบัติที่กลายเป็นเรื่องที่ทุกประเทศต้องเตรียมพร้อมรับมือท่ามกลางความเสี่ยงมากมายในโลกยุคนี้
ปัจจุบันบิมสเทคซึ่งก่อตั้งขึ้นตามการริเริ่มและผลักดันตามนโยบาย “มองตะวันตก” (Look West Policy) ของไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2540 มีความร่วมมือ 7 สาขา โดยรัฐสมาชิกทั้ง 7 ประเทศรับหน้าที่เป็นประเทศนำ (Lead country) ประกอบด้วย 1.บังกลาเทศ : เรื่องการค้า การลงทุน และการพัฒนา 2.ภูฎาน : สิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 3.อินเดีย : ความมั่นคง 4.เมียนมา : การเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร 5.เนปาล : การปฎิสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชน 6.ศรีลังกา : วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ 7.ไทย : ความเชื่อมโยง
บิมสเทคมีประชากรรวมกันมากกว่า 1,800 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึง 22% ของประชากรโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศราว 4.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่จุดแข็งของบิมสเทคประการหนึ่งคือการที่ชาติสมาชิกบางประเทศมีโครงสร้างประชากรในวัยทำงานจำนวนมาก และคนเหล่านี้คือผู้ที่จะสืบทอดอนาคตของบิมสเทคต่อไป ดังนั้นนอกจากเวทีการหารือของภาครัฐแล้ว เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมกับบิมสเทคอย่างแท้จริง ไทยจึงได้จัดเวทีคู่ขนาน “BIMSTEC Young Gen Forum : Where the Future Meets” โดยเชิญคนรุ่นใหม่ที่มีบทบาทนำใน 7 สาขาความร่วมมือหลักของบิมสเทค มาพูดคุยถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันต่อไป
เวทีคู่ขนานดังกล่าวได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมรับฟังจนเต็มห้อง ขณะที่ยังมีคนจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าฟังได้เพราะข้อจำกัดด้านพื้นที่ ในเวทีแห่งนี้ นายมูฮัมหมัด ยูนุส ประธานคณะที่ปรึกษารัฐบาลบังกลาเทศ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษที่เน้นถึงพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ การเริ่มจากสิ่งใหม่ที่แม้จะดูเหมือนเป็นสิ่งเล็กๆ แต่ก็สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ได้ ตลอดจนความสำคัญของจินตนาการและการมีเป้าหมายในชีวิต ที่น่าจะช่วยสร้างไอเดียและปลุกพลังคนรุ่นใหม่ได้เป็นอย่างดี
แม้การประชุมผู้นำบิมสเทคจะถูกเลื่อนจากเดือนกันยานยน 2567 เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในไทยเวลานั้น แต่กลับกลายเป็นว่า การเลื่อนการประชุมมาเป็นปี 2568 ที่ทำให้บิมสเทคกลายเป็นเวทีการประชุมระหว่างประเทศแรกที่ไทยเป็นประธาน ในรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร กลับเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่เหมาะสมและมีความหมายอย่างยิ่ง เพราะโลกกำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงมากมาย โดยเฉพาะจากการประกาศอัตราภาษีศุลกากรต่างตอบแทนของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ ที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก
ในเวลาเดียวกัน เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็เน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญที่มากขึ้นของความร่วมมือโดยเฉพาะกับประเทศเพื่อนบ้าน ในการรับมือกับความท้าทายทั้งจากภูมิรัฐศาสตร์และภูมิเศรษฐศาสตร์ (Geopolitics และ Geoeconomics) ที่กำลังโหมกระหน่ำโลกอยู่ในเวลานี้ เพราะไม่มีประเทศใดที่จะยืนหยัดต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงและประเด็นท้าทายมากมายได้เพียงลำพัง แม้แต่ก่อนหน้านั้น การเกิดขึ้นของปัญหาข้ามพรมแดนที่หลากหลายก็ทำให้ทุกประเทศตระหนักว่า มีเพียงความร่วมมือกันเท่านั้นที่จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง
การประชุมแบบพบหน้ากันครั้งแรกในรอบ 7 ปีของผู้นำบิมสเทคทั้ง 7 ชาติ ไม่เพียงแสดงให้เห็นว่าทุกประเทศต่างก็เห็นความสำคัญของบิมสเทค แต่ยังเป็นโอกาสที่ผู้นำได้มาหารือทวิภาคีที่เกิดขึ้นมากมายคู่ขนานไปกับการประชุมหลัก เพราะไม่ง่ายที่ผู้นำชาติสมาชิกจะได้มีโอกาสพบกัน หากไม่ได้เดินทางมาเข้าร่วมประชุมในเวทีความร่วมมือระหว่างประเทศเช่นนี้
อาจมีคนตั้งคำถามว่าเหตุใดผู้นำบิมสเทคจึงไม่ออกแถลงการณ์แยกในเรื่องมาตรการภาษีของสหรัฐ แต่หากมองให้ลึกลงไป สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญสูงสุดคือเราควรจะยินดีที่บิมสเทคกลับมาได้รับความสำคัญอย่างแท้จริงจากประเทศสมาชิก หลังจากที่ถูกทิ้งร้างมานาน ระหว่างทางที่ต่างหันไปให้ความสำคัญกับประเทศที่ห่างไกลมากกว่าเพื่อนบ้านใกล้ตัว ความร่วมมือทางด้านวิชาการและเศรษฐกิจของบิมสเทคถือเป็นการมุ่งเน้นไปยังประเด็นที่จะทำให้การสานต่อความร่วมมือระหว่างกันเป็นไปได้อย่างแท้จริง มากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปยังการสร้างศัตรู เพราะปัญหาบางอย่างต้องแก้ไขด้วยวิธีการที่เหมาะสม ภายใต้กรอบการดำเนินการที่เหมาะสมเช่นกัน
ขณะที่การเชิญ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ผู้นำรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมประชุม ก็ไม่มีเสียงคัดค้านใดๆ จากประเทศสมาชิก ในทางกลับกัน เรากลับได้เห็นการหารือทวิภาคีของผู้นำหลายชาติกับผู้นำเมียนมา ในฐานะเพื่อนบ้านที่ต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหาข้ามพรมแดน ที่ในแต่ละด้านก็มีความแตกต่างและสลับซับซ้อนต่างกัน
เวทีการประชุมผู้นำบิมสเทค ครั้งที่ 6 ที่ผ่านพ้นไป จึงไม่เพียงแต่กระตุ้นให้ชาติสมาชิกหันกลับมามองเห็นความสำคัญของกันและกัน แต่ยังทำให้เห็นถึงความสำคัญของบิมสเทคในฐานะกลไกความร่วมมือหนึ่ง ที่จะช่วยนำพาพวกเราทุกคนฝ่าคลื่นลมโหมแรงที่กระหน่ำโลกอยู่ในเวลานี้อีกด้วย