อังกฤษร่อนจม.แจ้งอียูเริ่มต้นกระบวนการประวัติศาสตร์ ‘เบร็กซิท’ อย่างเป็นทางการ

ทิม บาร์โรว์ ทูตอังกฤษประอียูlนำจดหมายจากเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการถึงความตั้งใจที่จะออกจากการเป็นสมาชิกอียูมอบให้โดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป / AFP PHOTO / POOL / Emmanuel DUNAND

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า อังกฤษเริ่มต้นกระบวนการทางประวัติศาสตร์ในการออกจากสหภาพยุโรป (อียู) หรือเบร็กซิท เมื่อวันที่ 29 มีนาคม โดยระบุว่าไม่มีการ “หันหลังกลับ” ท่ามกลางการส่งเสียงเตือนจากบรรดาชาติพันธมิตรในยุโรปถึงเส้นทางข้างหน้าที่ยากลำบาก

9 เดือนหลังการลงประชามติเบร็กซิทอันน่าตกตะลึง นางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ แจ้งความประสงค์อย่างเป็นทางการถึงความตั้งใจของอังกฤษที่จะออกจากการเป็นสมาชิกอียูต่อนายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป

ย่างก้าวที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนนี้ มีขึ้นไม่กี่วันหลังจากที่อียูเพิ่งจะเฉลิมฉลองครบรอบ 60 ปีของกลุ่ม ส่งผลให้อังกฤษรู้สึกถึงความแตกแยกอย่างลึกล้ำมากยิ่งขึ้น และได้ก่อให้เกิดคำถามใหญ่หลวงเรื่องความร่วมมือกันในอนาคต

“นี่เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่จะไม่มีวันหันหลังกลับ” นางเมย์กล่าวกับสมาชิกรัฐสภาอังกฤษท่ามกลางเสียงโห่ร้องสนับสนุนจากสมาชิกพรรคอนุรักษนิยมของเธอ

Advertisement

นายทิม บาร์โรว์ ทูตอังกฤษประอียูเป็นผู้นำจดหมายจากนายกรัฐมนตรีอังกฤษไปส่งให้กับนายทัสค์ที่รับไว้พร้อมกล่าวว่า “เราคงคิดถึงพวกคุณ” ทว่านายฟรองซัวส์ โอลลองด์ ประธานาธิบดีฝรั่งเศส มีท่าทีแข็งกร้าว โดยเตือนว่า เบร็กซิทจะทำให้อังกฤษซึ่งเป็นประเทศแรกที่เดินออกจากกลุ่มไป “ได้รับความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจ” ขณะที่นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ปฏิเสธข้อเรียกร้องของนางเมย์ให้มีการเจรจาเรื่องการถอนตัวของอังกฤษควบคู่ไปกับข้อตกลงการค้าในอนาคต

อังกฤษตั้งใจจะออกจากตลาดร่วมยุโรปเพื่อควบคุมการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพ แต่ตั้งความหวังว่าข้อตกลงการค้าฉบับใหม่จะบรรลุผลสำเร็จก่อนหน้าที่อังกฤษจะออกจากอียู นั่นคืออย่างช้าที่สุดในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 29 มีนาคม 2562

นางแมร์เคิลระบุว่าการแยกตัวต้องมาก่อน ซึ่งรวมถึงการเจรจาที่ยากลำบากในเรื่องการเงินและผู้อพยพ โดยกล่าวว่า “คำถามเหล่านี้ต้องได้รับการจัดการให้เสร็จสิ้นก่อน หลังจากนั้นเราถึงจะเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ในอนาคต”

Advertisement

จดหมายความยาว 6 หน้าของนางเมย์แสดงออกถึงท่าทีประนีประนอมและเรียกร้องให้มี “ความร่วมมือในรูปแบบที่พิเศษและลึกซึ้ง” กับอียู ที่อังกฤษเข้าร่วมเป็นสมาชิกมาตั้งแต่ปี 2516

แต่นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า ข้อความในจดหมายดังกล่าวมีนัยแสดงถึงคำขู่โดยเน้นถึงความสำคัญของอังกฤษด้านความมั่นคง โดยเธอเตือนว่าความล้มเหลวที่จะบรรลุข้อตกลงด้านการค้าฉบับใหม่อาจหมายถึง “ความร่วมมือในการต่อสู้กับอาชญากรรมและการก่อการร้ายที่อ่อนแอลง”

ทั้งนี้ คาดว่านายทัสค์จะร่างแนวปฏิบัติสำหรับการเจรจาเรื่องเบร็กซิทเสร็จในวันที่ 31 มีนาคมนี้ แต่ผู้นำอียู 27 ชาติจะพบปะเพื่อยืนยันแนวทางร่วมกันอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 เมษายน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image