ที่มา | นสพ.มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
หัวหน้า IOM คุยการโยกย้ายถิ่นฐานในไทย ในวันที่ผู้ย้ายถิ่นถูกมองเป็น’ภัยความมั่นคง’
หมายเหตุ: น.ส.เจอรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM) ให้สัมภาษณ์กับนสพ. มติชน ในกรณีการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ต่อการที่การโยกย้ายถิ่นที่ถูกมองว่าเป็นภัยคุกคามความมั่นคงในปัจจุบัน รวมถึงมาตรการรับมือกับปรากฎการณ์อาชญากรรมข้ามชาติ
๐ไทยถือเป็นศูนย์กลางของการอพยพย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อะไรคือปัจจัยสำคัญที่มีส่วนในการผลักดัน (push factors) และการดึงดูด (pull factors)
จากการประมาณการเมื่อเดือนธันวาคม 2567 บุคคลที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยที่อาศัยอยู่ในไทยมีจำนวนทั้งหมด 5.3 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 2.3 ล้านคนเป็นแรงงานข้ามชาติแบบปกติ ข้อมูลสถิติจากกระทรวงแรงงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ระบุด้วยว่ายอดรวมของแรงงานข้ามชาติทุกสัญชาติ ทุกประเภทมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นถึงกว่า 3 ล้านคน
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาในไทยนั้นมีหลายสาเหตุด้วยกัน ประการแรกเป็นเพราะว่า ไทยมีการเติบโตทางเศษฐกิจสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค อัตราค่าแรงขั้นต่ำจึงมากกว่าประเทศต้นทางของผู้ย้ายถิ่น
ประการที่สอง สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในประเทศต้นทางเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่สำคัญ การยึดอำนาจโดยกองทัพในเมียนมาเมื่อปี 2564 กระตุ้นให้เกิดจำนวนผู้ย้ายถิ่นจากเมียนมาจำนวนมากเดินทางเข้ามาในไทย อยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคนเมื่อปี 2567 กระนั้นก็ดี ผู้ย้ายถิ่นส่วนมากเดินทางไปมาระหว่างไทยและเมียนมาไม่ได้ปักหลักในไทย IOM คาดการณ์ว่ามีผู้ย้ายถิ่นชาวเมียนมาเพียงประมาณ 20% ที่ตั้งใจอาศัยอยู่ในไทยในระยะยาว
นอกจากนั้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อุณหภูมิที่สูงขึ้น รวมถึงภัยธรรมชาติ ที่ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางการเกษตร ส่งผลให้ผู้ย้ายถิ่นตัดสินใจโยกย้ายถิ่นเข้าไปอยู่ในพื้นที่ที่เอื้ออำนวยต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดี เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นภายไทยเช่นเดียวกัน เหมือนกับที่ภาวะโลกร้อน น้ำท่วม และภัยแล้งส่งผลให้คนไทยย้ายถิ่นฐานไปที่จังหวัดอื่น
น.ส.เจอรัลดีน อองซาร์ค หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (IOM)
๐การโยกย้ายถิ่นส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างไร
ส่วนใหญ่ของแรงงานในไทยโดยเฉพาะในภาคการเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการและในสายงานดูแลบ้านนั้นเป็นผู้ย้ายถิ่น ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า แรงงานข้ามชาติมีส่วนสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างยิ่งเพราะเป็นผู้ขับเคลื่อนหลายอุตสาหกรรมในประเทศ อีกทั้ง พวกเขาเหล่านี้ช่วยทดแทนแรงงานในสายอาชีพที่ไม่เป็นที่ประสงค์ของแรงงานชาวไทย เรื่องนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ไทยได้ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยในปี 2566 นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่จำนวนประชากรที่ออกจากภาคแรงงานสูงกว่าจำนวนประชากรที่เข้าสู่ภาคแรงงานด้วย
ในขณะเดียวกัน ผู้ย้ายถิ่นก็มีอิทธิพลสำคัญต่อสังคมไทย จึงเป็นหมุดหมายสำคัญสำหรับรัฐบาลและ IOM ในการส่งเสริมความสมานฉันท์ระหว่างชาวไทยและผู้ย้ายถิ่นให้เกิดขึ้นสังคม เพราะจะช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ย้ายถิ่นเผชิญกับการถูกเหยียดหยาม และสามารถดำเนินชีวิตอย่างมีสิทธิเสรีภาพ ขอเน้นย้ำว่าการโยกย้ายถิ่นจะนำมาสู่ประโยชน์ไม่ใช่แค่ต่อตัวผู้ย้ายถิ่นหรือครอบครอบของผู้ย้ายถิ่นเอง แต่รวมถึงประเทศปลายทางและประเทศต้นทางด้วย ทว่า กรณีนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบริหารจัดการที่เหมาะสม หากผู้ย้ายถิ่นไม่ได้เข้ามาในประเทศปลายทางอย่างปกติและตามกระบวนการทางกฎหมาย พวกเขาก็จะกลายเป็นกลุ่มเปราะบางและผลประโยชน์ที่ผู้ย้ายถิ่นสามารถสร้างขึ้นให้กับสังคมได้ก็จะลดลงตามมา ซึ่งนั่นเป็นหนึ่งเป็นภารกิจสำคัญของ IOM ที่จะสนับสนุนทางการไทยในเรื่องนี้
โดย IOM ทำงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงยุติธรรม ไปจนถึงภาคเอกชนในไทยอย่างแข็งขัน ในการผลักดันเรื่องแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน เพื่อให้สามารถมั่นใจได้ว่าแรงงานข้ามชาติจะมีสิทธิที่พึงมี มีงานทำ ได้รับค่าจ้างที่เหมาะสม ได้รับการคุ้มครองทางสังคม ไปจนถึงการสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้
๐จากปรากฏการณ์ลัทธิชาตินิยมที่เพิ่มสูงขึ้น และการโยกย้ายถิ่นฐานกลายเป็นเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐ มองว่าผู้อพยพถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองหรือไม่ มีความคิดเห็นอย่างไรในเรื่องนี้
โชคร้ายที่นักการเมืองจากหลายประเทศใช้เรื่องโยกย้ายถิ่นฐานโดยมีนัยทางการเมือง ทำให้ผู้ย้ายถิ่นตกเป็นแพะรับบาป การกล่าวโทษว่าผู้ย้ายถิ่นเป็นสาเหตุของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม รวมถึงการสร้างวาทกรรมว่าผู้ย้ายถิ่นเป็นภัยอันตราย เป็นอาชญากร และเป็นต้นตอของปัญหาเศรษฐกิจนั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย เมื่อเทียบกับการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง เพราะการที่ผู้ย้ายถิ่นไม่มีสิทธิที่จะลงคะแนนเสียงเลือกตั้งทำให้พวกเขาตกเป็นเป้าหมายต่อการโจมตี อีกทั้ง ผู้ย้ายถิ่นยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยกและสร้างความหวาดกลัวในยุคที่ข้อมูลบิดเบือนและข้อมูลเท็จแพร่หลายด้วย
อย่างไรก็ดี หากคิดถึงอิทธิพลที่ผู้ย้ายถิ่นมีต่อเศรษฐกิจ นั่นเป็นเรื่องแตกต่างออกไป ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของสังคมที่เป็นอันหนึ่งเดียวกันระหว่างกลุ่มต่างๆ ไปจนถึงส่งเสริมการตระหนักรู้และความเข้าใจว่า ผู้ย้ายถิ่นเป็นมนุษย์และไม่ได้แตกต่างไปจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในประเทศปลายทางแต่อย่างใด และที่สำคัญ แม้ว่าผู้ย้ายถิ่นจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ พวกเขาไม่ควรถูกมองว่าเป็นเพียงแค่แรงงานเท่านั้น แต่ควรได้รับการเห็นใจว่าเป็นผู้ที่ถูกบังคับให้ออกจากประเทศบ้านเกิดด้วยสาเหตุที่จำเป็น ผู้ย้ายถิ่นต้องได้รับการเคารพ และสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาพึงมีต้องได้รับการคุ้มครอง
๐รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า ทางไทยได้ทำงานร่วมกับ IOM ให้เรื่องการให้ความช่วยเหลือเหยื่อจากขบวนการสแกมเมอร์ในเมียวดี ประเทศเมียนมา IOM มีบทบาทอย่างไรในเรื่องนี้
ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการจัดตั้งสแกมเซ็นเตอร์ในหลายจุด เช่นในลาวและกัมพูชา ทั้งนี้ ตั้งแต่ที่เกิดการยึดอำนาจโดยกองทัพที่เมียนมาขึ้น สแกมเมอร์จำนวนมากเดินทางเข้าไปในเมียนมาเพื่อก่อตั้งศูนย์หลอกหลวงเพราะความไม่สงบการทางเมืองทำให้สามารถดำเนินการหลอกหลวงได้ง่าย เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการโยกย้ายถิ่นที่ผิดปกติ โดยมีผู้คนจำนวนมากที่ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และถูกลักลอบพาเข้าไปที่เมียนมา
IOM ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก รวมถึงไทยมาอย่างยาวนาน IOM เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่เข้าให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกเป็นผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ โดยการส่งเสริมองค์ความรู้ผ่านการรวบรวมข้อมูลและงานวิจัยเกี่ยวกับแนวโน้มสถานการณ์การค้ามนุษย์ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากค่าใช้จ่าย อีกทั้ง IOM ยังได้สนับสนุนการทำงานของรัฐบาลไทยผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถของภาครัฐในการคัดกรองและส่งต่อผู้ที่อาจเป็นเหยื่อ ประกอบกับให้ความช่วยเหลือชาวต่างชาติที่ตกเป็นเหยื่อให้สามารถเดินทางกลับประเทศที่จากมาได้ด้วย
เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ด้วยความพยายามและความมุ่งมั่นของ IOM ประเทศไทย ร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานอัยการสูงสุด และหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ถูกริเริ่มขึ้น และได้ช่วยส่งเสริมขีดความสามารถของหน่วยงานไทย รวมถึงภาคสังคมสงเคราะห์ แรงงาน สาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ให้สามารถจัดการดูแลผู้ที่ตกเป็นเหยื่อจากการค้ามนุษย์ โดยหลังจากที่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นเหยื่อแล้วนั้น พวกเขาจะได้รับความช่วยเหลือขณะที่อาศัยอยู่ในสถานที่พักพิงที่ปลอดภัย จนกว่าพวกเขาจะสามารถกลับประเทศบ้านเกิดหรือโยกย้ายไปที่ประเทศอื่นได้ โดยไทยเป็นประเทศเดียวในภูมิภาคที่มีกลไกดังกล่าวที่เป็นแนวทางการปฏิบัติอันดีเช่นนี้
สำหรับกรณีสแกมเซ็นเตอร์ ตั้งแต่ปี 2565 IOM ได้รับการร้องขอจำนวนมากจากสถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่หลายประเทศ รวมถึงรัฐบาลไทย ในเรื่องการให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อ ผู้คนถูกบีบบังคับให้ก่ออาชญากรรมออนไลน์ รวมถึงผู้ที่สามารถหนีออกมาจากศูนย์หลอกหลวงกลับเข้ามาในไทยที่ต้องการความช่วยเหลือด้วย โดย IOM ได้ให้ความช่วยเหลือโดยตรงผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมากกว่า 600 ราย จาก 30 ประเทศ จากหลากหลายทวีปทั้งเอเชีย แอฟริกา ละตินอเมริกาและยุโรป
เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม IOM ได้รับหนังสือจากทางการไทยในเรื่องความร่วมมือรวมถึงการสนับสนุนในการทำงาน ซึ่งในขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือว่าจะมีทิศทางการให้ความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง ทั้งนี้ โดยทั่วไปแล้ว IOM สนับสนุนการดำเนินการการคัดกรองอย่างรวดเร็วในการระบุตัวตนว่าบุคคลนั้นเป็นเหยื่อหรือไม่ร่วมกับรัฐบาลไทย นอกจากนั้น IOM ยังให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมขณะที่เหยื่ออาศัยอยู่ในไทย ซึ่งรวมถึงสถานที่พักพิงและการเข้าถึงจิตแพทย์ และเมื่อมีงบประมาณสนับสนุน IOM ยังให้ความช่วยเหลือในเรื่องค่าใช้จ่ายเพื่อส่งเหยื่อกลับประเทศต้นทางอีกด้วย