บัวแก้วแจงไทยคืบหน้าป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์

(แฟ้มภาพ) นางสาว บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม กระทรวงการต่างประเทศแถลงความคืบหน้าการดำเนินการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระบุว่า การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นนโยบายแห่งชาติที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญในลำดับแรกมาตั้งแต่ปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายไม่ยอมรับการค้ามนุษย์ในทุกรูปแบบอย่างสิ้นเชิง และได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างบูรณาการในแบบองค์รวมทั่วประเทศ ทั้งด้านแรงงานต่างด้าว แรงงานในภาคประมง การจัดระเบียบขอทาน การป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีในเด็กและสตรี และการแก้ไขปัญหาสื่อลามกเด็ก โดยยึดยุทธศาสตร์ 5P ได้แก่ (1) นโยบายและกลไกการนำไปสู่การปฏิบัติ (Policy) (2) การบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) (3) การคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) (4) การป้องกัน (Prevention) และ (5) ความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ และระหว่างประเทศ (Partnership)
ความพยายามดังกล่าวนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมนานาประการ อาทิ การจับกุมคดีค้ามนุษย์ในปี 2559 เพิ่มสูงขึ้นร้อยละ 27 เป็น 333 คดี จาก 263 คดี ในปี 2559 อัยการสั่งฟ้องคดีในปี 2559 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.92 เป็น 301 คดี จาก 251 คดี ในปี 2558 ผู้กระทำผิดที่ถูกตัดสินลงโทษในปี 2559 มีจำนวนเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.73 เป็น 268 คน จาก 205 คน ในปี 2558 การยึดทรัพย์คดีค้ามนุษย์ในปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 9 คดี มูลค่ากว่า 784 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 3 เท่า จากปี 2558 จำนวนผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานมีจำนวน 196 คน คิดเป็นร้อยละ 35 ของจำนวนผู้เสียหายทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 47 คน หรือร้อยละ 10 ของจำนวนผู้เสียหายทั้งหมดในปี 2558 ความสำเร็จเหล่านี้สะท้อนอยู่ในรายงานการดำเนินการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของไทยซึ่งฝ่ายไทยได้จัดส่งให้แก่รสำนักงานติดตามและต่อต้านการค้ามนุษย์ (TIP Office) ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2560
ความคืบหน้าในการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ที่ชัดเจนและเป็นที่ประจักษ์ดังกล่าวได้รับความชื่นชมจากหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐ ประจำประเทศไทย ได้แสดงความพึงพอใจต่อการทำงานอย่างหนักของรัฐบาลไทย และแจ้งความพร้อมในการสนับสนุนการทำงานของไทยต่อไป องค์กร International Justice Mission (IJM) ได้เผยแพร่ข้อความในทวิตเตอร์ ยินดีกับคำพิพากษาของศาลจังหวัดตรัง ในคดีกันตัง และเห็นว่า เป็นตัวอย่างที่ดีมากสำหรับความร่วมมือระหว่างรัฐบาลและภาคประชาสังคมในการยุติแรงงานทาส นอกจากนี้ ส.ส. คริส สมิธ ประธานคณะอนุกรรมาธิการแอฟริกา สาธารณสุข สิทธิมนุษยชน และองค์การระหว่างประเทศ คณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ และ ส.ว. บ็อบ คอร์เกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐ ได้แสดงความเห็นว่า ความพยายามของไทย ในการส่งเสริมความร่วมมือเพื่อต่อต้านการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านการลงนามความตกลง CyberTipline Remote Access Policy กับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติ (เอ็นซีเอ็มอีซี) เป็นข่าวที่ดีมาก และขอแสดงยินดีต่อความสำเร็จดังกล่าว
ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศระบุว่า ประเทศไทยมีเจตนารมณ์มุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อขจัดปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image