รายงานพิเศษ: กต.นำคณะทูตเยือนนครศรีธรรมราช ซึมซับความเป็นไทยผ่านโครงการพระราชดำริ

หนึ่งในภารกิจของกระทรวงการต่างประเทศนอกเหนือไปจากปกป้อง รักษา และส่งเสริมผลประโยชน์ของประเทศไทยในเวทีระหว่างประเทศแล้ว อีกหนึ่งบทบาทสำคัญคือสร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ให้ชาติต่างๆได้รู้จักและซึมซับวิถีชีวิตและความเป็นไทยให้มากขึ้น เป็นที่มาของ โครงการนำคณะทูตต่างประเทศและคู่สมรส ทัศนศึกษา ณ จังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 17-19 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีทูตต่างประเทศและคู่สมรสจำนวน 32 คน จาก 26 ประเทศร่วมคณะเดินทางไปด้วย

กรมพิธีทางการทูต กระทรวงการต่างประเทศ หน่วยงานที่จัดกิจกรรมดังกล่าวมาเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ปี 2545 ได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และจังหวัดนครศรีธรรมราช นำคณะทูตเดินทางศึกษาเยี่ยมชม ความสำเร็จของ “ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ” ที่อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

โครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหา “4 น้ำ 3 ดิน” ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำเค็ม น้ำเปรี้ยว และปัญหาดินเปรี้ยว ดินเค็ม และดินจืด อันส่งผลกระทบกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านมาอย่างยาวนาน ยกระดับวีถีชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้น โดยคณะทูตยังได้เรียนรู้ แนวทางในการก่อสร้าง “ประตูระบายน้ำอุทกวิภาชประสิทธิ” ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เพื่อแยกน้ำเค็มออกจากน้ำจืดช่วยปกป้องพื้นที่เกษตรและบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ไปพร้อมๆกัน

คณะทูตร่วมกิจกรรมเคี่ยวน้ำตาลจากที่ไร่จันทรังษี

คณะทูตจาก 26 ประเทศ ยังได้เยี่ยมชมชุมชนตัวอย่างเพื่อการพัฒนาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่หมู่บ้านคีรีวง อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รู้จักกับภูมิปัญญาท้องถิ่น และร่วมทำเวิร์คช็อป เพื่อเรียนรู้ขึ้นตอนการผลิตสินค้าในชุมชนอย่าง “ผ้ามัดย้อม” และ “สบู่จากสมุนไพร” รวมไปถึงเยี่ยมชมไร่ “จันทรังษี” เกี่ยวกับภูมิปัญญาชาวบ้านในการผลิต “น้ำตาลจาก” จากต้นจากสร้างรายได้ในชุมชน

Advertisement

ไม่เพียงแต่การรู้จักกับวิถีชีวิตการยังชีพเท่านั้น คณะทูตยังได้มีโอกาสสัมผัส “ศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้าน” ที่ “บ้านหนังตะลุงของนายสุชาติ ทรัพย์สิน” ศิลปินแห่งชาติ และเรียนรู้ประวัติศาสตร์ “เมืองคอน” ผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติจังหวัดนครศรีธรรมราชด้วย

นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่าจุดประสงค์หลักของการจัดโครงการนี้มีจุดประสงค์เพื่อให้คณะทูตต่างประเทศได้รู้จักประเทศไทยให้มากขึ้น โดยเฉพาะ “พระราชกรณียกิจ” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ซึ่งบางประเทศอาจนำไปปรับใช้ได้

นางบุษยา มาทแล็ง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

“จุดประสงค์หลักในการนำคณะทูต อุปทูต เยี่ยมชม ทัศนศึกษาจังหวัดต่างๆในไทย เพื่อให้ได้รู้จักจังหวัดนั้นๆ โดยเน้นโครงการพระราชดำริที่เป็นคุณกับประเทศไทยอย่างยั่งยืน การเยี่ยมชมศูนย์เรียนรู้ การดำรงชีวิตท้องถิ่นการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแสดงให้เห็นการรวมตัวของชุมชนด้วยตัวเอง สร้างความเข้มแข้งโดยมีรัฐช่วยสนับสนุน เป็นสิ่งที่เค้าก็สามารถนำไปพูดต่อได้” นางบุษยากล่าว และว่า การเยี่ยมชมโครงการพัฒนายังช่วยให้หลายประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถนำโครงการไปประยุกต์ใช้ได้ และยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างทูตต่างประเทศ กับกระทรวงการต่างประเทศให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

Advertisement

โซเฮล คาน เอกอัครราชทูตปากีสถาน ที่ประจำการในไทยมาเป็นเวลา 3 ปีครึ่ง และร่วมกิจกรรมกับคณะทูตไปยังจังหวัดต่างๆก่อนหน้านี้มาทุกๆปี ระบุถึงการร่วมเดินทางมาในกิจกรรมครั้งนี้ว่า เป็นกิจกรรมที่ทำให้ได้เรียนรู้ในข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับประเทศไทยได้ดีมาก และรู้สึกยินดีที่กระทรวงการต่างประเทศได้มีโครงการที่ทำให้ได้รู้จักกับพื้นที่ต่างๆในประเทศไทย รวมถึงโครงการพระราชดำริที่หลายประเทศควรเอาเป็นแบบอย่าง

 

นายโซเฮล คาน เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทย

“การเดินทางเยือนบ้านคีรีวง เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าชาวไทยนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในชุมชนได้อย่างไร เราได้เห็นชาวบ้านที่เปลี่ยนตัวเองให้เป็นพลเมืองที่มีประสิทธิภาพ โดยพวกเขาไม่เพียงแต่สามารถผลิตได้ แต่ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับตัวเองได้ด้วย” นายคานระบุ และว่า ประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้จะสามารถนำไปปรับใช้สร้างสัมพันธ์ระหว่างไทยและปากีสถานได้ ในแง่ของการค้าภายใต้แนวคิด “หนึ่งแนวเขตหนึ่งเส้นทาง” (One Belt One Road) ความร่วมมือในภูมิภาคที่ริเริ่มขึ้นโดยจีน และปากีสถานก็เป็นประเทศแรกที่นำแนวคิดนี้มาใช้จริง โดยจะเริ่มต้นดำเนินการในปี 2563-2565 นี้

“โครงการนี้จะส่งผลให้สินค้าส่งผ่านจากปากีสถาน ผ่านทางจีน และผ่านเข้ามายังภูมิภาคอาเซียน และจากอาเซียนกลับไปปากีสถานซึ่งจะเชื่อมโยงไปยังแอฟริกา ตะวันออกกลางรวมไปถึงยุโรปด้วย ที่ผมร่วมกิจกรรมครั้งนี้เหตุผลคือผมกำลังมองหาความเป็นไปได้ในความร่วมมือดังกล่าว” เอกอัครราชทูตปากีสถานประจำประเทศไทยระบุ พร้อมกล่าวด้วยว่า ตนประทับใจในทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นทฤษฎีที่ดีที่หลายประเทศควรเอาเป็นแบบอย่าง เป็นแนวคิดที่มาจากสายพระเนตรกว้างไกลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9

ด้าน ฟรังซิซกู วาส ปัตตู เอกอัครราชทูตโปรตุเกสประจำประเทศไทย กล่าวว่า เนื่องด้วยงานที่ค่อนข้างรัดตัวทำให้ตนไม่มีโอกาสได้ไปเยี่ยมเยียนในพื้นที่ต่างๆของประเทศไทย ทำให้การร่วมทริปในครั้งนี้เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้ทำความรู้จักประเทศไทยมากขึ้น โดยเฉพาะการได้เห็นโครงการในพระราชดำริ

นายฟรังซิซกู วาส ปัตตู เอกอัครราชทูตโปรตุเกส ประจำประเทศไทย

“ผมเคยมาประเทศไทยครั้งแรกเมื่อหลายสิบปีก่อนจนมาถึงตอนนี้โครงการพระราชดำริพัฒนาไปอย่างมากมาย นับเป็นพระอัจฉริยภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ช่วยให้ประชาชนได้พัฒนาความสามารถ นำจุดเด่นเฉพาะตัวนำไปพัฒนาชุมชนให้พัฒนามากยิ่งขึ้น นับเป็นสิ่งสำคัญในยุคโลกาภิวัฒน์ที่การแข่งขันกับประเทศยักษ์ใหญ่กำลังทำลายอุตสาหกรรม สินค้า เกษตรกรรมของท้องถิ่น ยิ่งกว่านั้นโครงการพระราชดำริยังช่วยอนุรักษ์ตัวตน วัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเอาไว้ด้วย ”

นอกจากนี้นายวาสปาสโตระบุด้วยว่า สำหรับประเทศโปรตุเกสการร่วมทริปครั้งนี้ “เศรษฐกิจที่ยั่งยืน” รวมถึง “ทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นตัวอย่างสามารถนำไปปรับใช้สำหรับพื้นที่ซึ่งประสบปัญหาคล้ายคลึงกันได้

โครงการนำคณะทูตต่างประเทศลงพื้นที่ในหลายๆจังหวัดของประเทศไทยในหลายปีที่ผ่านมา นับเป็นความพยายามของกระทรวงการต่างประเทศ ในการนำเสนอประเทศไทยในอีกมุมหนึ่งให้บรรดามิตรประเทศได้รู้จัก แสดงให้เห็นโครงการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ประชาชนในพื้นที่ต่างๆผ่านโครงการพระราชดำริ รวมไปถึงทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงที่หลายประเทศสามารถนำไปปรับใช้ได้
ยิ่งกว่านั้นการนำตัวแทนจากชาติต่างๆทั่วโลกให้ได้สัมผัสสินค้าท้องถิ่นอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากสามารถพัฒนาไปสู่ความร่วมมือทางการค้าได้ก็จะถือเป็นผลพลอยได้ ที่จะยังประโยชน์มหาศาลมายังประเทศไทยในอีกทางหนึ่ง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image