คอลัมน์ People in Focus : เลนิน โมเรโน ว่าที่ประธานาธิบดีบนเก้าอี้วีลแชร์

REUTERS/Mariana Bazo

“เลนิน บอลแตร์ โมเรโน” ก้าวขึ้นเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของเอกวาดอร์ หลังผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมาปรากฏว่า โมเรโน สามารถเอาชนะ อดีตนายธนาคารอย่าง “กีเยร์โม ลาสโซ” ไปได้ด้วยคะแนน 51.1 ต่อ 48.8 เปอร์เซ็นต์

โมเรโน ทายาททางการเมืองของ ประธานาธิบดี “ราฟาเอล กอเรอา” ผู้ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเอกวาดอร์ในฐานะตัวแทนพรรครัฐบาลอย่าง “อลิอันซาปาอิส” หรือ “กลุ่มสังคมนิยมแห่งศตวรรษที่ 21” อาจต้องเจออุปสรรคเมื่อตัวแทนพรรคฝ่ายค้านอย่าง “ลาสโซ” เรียกร้องให้มีการนับคะแนนใหม่ โดยอ้างว่ามีการโกงเลือกตั้งเกิดขึ้น

ชัยชนะของนักการเมือง วัย 64 ปี นับเป็นการยืดเวลาการอยู่ในอำนาจของกลุ่มขั้วอำนาจปีกซ้ายต่อไป ในช่วงเวลาที่แนวคิดฝ่ายซ้ายที่ครอบงำภูมิภาคละตินอเมริกาเริ่มลดน้อยถอยลง

โมเรโน ผู้พิการขาทั้งสองข้างเป็นอัมพาตนับตั้งแต่อุบัติเหตุจากคนร้ายจี้รถเมื่อปี 2541 จนต้องใช้ชีวิตบนรถวีลแชร์นับแต่นั้นเป็นรองประธานาธิบดีในยุค “ประธานาธิบดีกอเรอา” ระหว่างปี 2550-2556

Advertisement

ชัยชนะการเลือกตั้งครั้งนี้จะทำให้ “โมเรโน” กลายเป็นประธานาธิบดีบนรถวีลแชร์ คนแรกในประวัติศาสตร์ประเทศ และนับเป็นหนึ่งในนักการเมืองผู้พิการไม่กี่คนในโลกที่ได้เป็นผู้นำประเทศ

“โมเรโน” เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะคนที่มีบุคลิกสุขุมและไม่ชอบความขัดแย้ง ต่างกับ “กอเรอา” ที่มักมีอารมณ์กราดเกรี้ยวและมีปัญหากับสื่อมวลชนอยู่บ่อยๆ

นักการเมืองที่ผู้สนับสนุนเรียกว่า “เลนิน” เกิดในหมู่บ้านนูเอโว โรคาฟูเอนเต ในเขตป่าอเมซอนของประเทศเอกวาดอร์ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศเปรู ขณะที่พ่อและแม่ของ “โมเรโน” มีอาชีพเป็นครูและย้ายไปยังพื้นที่ห่างไกลที่รถเข้าไม่ถึง

Advertisement

“พ่อมีแนวคิดสังคมนิยม ส่วนแม่มีแนวคิดเสรีนิยม พวกเขาชอบอ่านมาก สำหรับพ่อแล้ว ต้องเป็น เลนิน ส่วนแม่นั้น ต้องเป็นวอลแตร์” โมเรโน ระบุ

เป็นที่ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่ผู้เขียนชื่อสูติบัตรของ “โมเรโน” ไม่ได้อ่านงานของนักคิดนักเขียนชาวฝรั่งเศสอย่างวอลแตร์ ทำให้เขียนชื่อกลางของโมเรโนผิดเป็น “บอลแตร์” ตามการออกเสียงภาษาสเปนอย่างไม่ได้ตั้งใจ

โมเรโน เข้าเรียนมหาวิทยาลัยสาขารัฐประศาสนศาสตร์ และลงเรียนด้านการแพทย์และจิตวิทยาด้วย ขณะที่ชีวิตช่วงหลังโมเรโน เป็นผู้นำในการเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิผู้พิการ งานซึ่งทำให้ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลในปี 2555

โมเรโน ตีพิมพ์หนังสือออกมาหลายเล่มเกี่ยวกับการใช้อารมณ์ขันเพื่อก้าวข้ามความพิการของตนเอง

“อารมณ์ขันนั้นดีต่อสุขภาพ” โมเรโน เคยระบุเอาไว้ครั้งหนึ่ง และว่า “นั้นเป็นเหตุผลว่าทำไมแพทย์จึงไม่จ่ายยาอารมณ์ขันให้”

ขณะที่กอเรอา เป็นคนที่เข้มงวดและพร้อมที่จะต่อสู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงสหรัฐอเมริกาทว่า “โมเรโน” จะเป็นคนที่ไม่โผงผาง และมักมีมุกตลกระหว่างการหาเสียงอยู่เสมอ

ในช่วงการหาเสียง โมเรโน พูดถึง “แบบฉบับการหารือด้วยการยื่นมือออกไป” มีนโยบายอย่างการจัดการกับปัญหาขาดสารอาหารของเด็ก รวมถึงปัญหาความรุนแรงในครอบครัว

นอกจากนี้่ยังให้คำมั่นจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการกู้ยืมและพยายามกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังยืนยันที่จะคงนโยบายด้านสังคมนิยมของ กอเรอา ต่อไป โดยจะมีการเปลี่ยนแปลงเพียงบางส่วนเท่านั้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image