คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เปิดเครือข่ายอาวุธเคมีซีเรีย

Defense Update

ยอดผู้เสียชีวิตจากอาวุธเคมีที่เมือง ข่าน ชีคฮูน ในจังหวัดอิดลิบ ของซีเรียล่าสุดเพิ่มจำนวนขึ้นเป็น 84 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กๆมากถึง 31 คน นอกเหนือจากนั้นยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 500 คน

ผู้ถูกกล่าวหาว่าปฏิบัติการหฤโหดดังกล่าวคือ รัฐบาลซีเรียของประธานาธิบดี บาชาร์ อัล อัสซาด และเชื่อกันว่า อาวุธเคมีที่ใช้คือ “ซาริน” สารเคมีต้องห้ามตาม อนุสัญญาห้ามอาวุธเคมี (ซีดับเบิลยูซี) ของสหประชาชาติ

ประเด็นที่ทุกฝ่ายคิดหนักมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ครั้งนี้ เป็นเพราะนี่ไม่ใช่การใช้อาวุธเคมี จนก่อให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงและอำมหิตเช่นนี้

เมื่อเดือนสิงหาคม 2013 ทหารซีเรียเคยยิงจรวดบรรจุสารซารินเข้าใส่พื้นที่เมืองกูตา ชานกรุงดามัสกัส ครั้งนั้นมีผู้คนเสียชีวิตไปมากกว่า 1,400 ราย มีทั้งชาย หญิงและเด็กๆ

Advertisement

ยิ่งไปกว่านั้นนับตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา กองทัพซีเรียยังใช้อาวุธเคมีถล่มพื้นที่กบฏทั้งที่ อเลปโป, ฮามา และ อิดลิบ อย่างต่อเนื่อง นับรวมแล้วไม่น้อยกว่า 120 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุสารคลอรีนลงไว้ใน “บาร์เรล บอมบ์” ระเบิดถังน้ำมัน ที่ซีเรียคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ปราบกบฏโดยเฉพาะ โดยใช้ถังน้ำมัน 100 ลิตรบรรจุระเบิดพร้อมติดตั้งระบบจุดระเบิด ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งใช้บรรจุน้ำมันเพื่อให้เกิดเพลิงไหม้ตามมา หรือในกรณีบรรจุคลอรีนก็จะเกิดก๊าซพิษตามมา

นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมหลายๆประเทศจึงสนับสนุน โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถล่มจรวดนำวิถี โทมาฮอว์ก 59 ลูกเข้าใส่ฐานทัพอากาศชาอีรัต ในจังหวัดฮอมส์ เป็นการ “ลงโทษ” และ “ป้องปราม” ไม่ให้ซีเรียใช้อาวุธต้องห้ามนี้กับประชาชนของตนเองอีก

แต่ในเวลาเดียวกัน หากการโจมตี ข่าน ชีคฮูน เป็นการโจมตีด้วยสารพิษมอมประสาทอย่าง ซาริน จริง ก็แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลซีเรียไม่ได้ทำลายซารินที่มีอยู่ในครอบครองทั้งหมด ตามที่รับปากกับ ซีดับเบิลยูซี ไว้เมื่อถูกสถานการณ์บีบบังคับให้เข้าร่วมเป็นภาคีของซีดับเบิลยูซีภายใต้แรงกดดันของสหรัฐอเมริกาและยุโรปหลังเหตุการณ์ที่กูตาเมื่อปี 2013

Advertisement

หรือไม่เช่นนั้น รัฐบาลซีเรียก็อาจฟื้นฟูการผลิตอาวุธเคมีร้ายแรงชนิดนี้ขึ้นมาใหม่ เพราะเครือข่ายอาวุธเคมีของอัสซาดยังคงอยู่ในสภาพดีอยู่ และยังคงทำงานเพื่อผลิตอาวุธเคมีหลายต่อหลายชนิดตอบสนองความต้องการเชิงยุทธวิธี เพื่อบรรลุเป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลอัสซาดอยู่อย่างต่อเนื่อง

เครือข่ายอาวุธเคมีอำมหิตของซีเรียเป็นอย่างใคร ใครคือผู้รับผิดชอบในเครือข่ายต่างๆเหล่านี้?

 

ตามข้อมูลที่ประมวลได้จากองค์การสหประชาชาติ, องค์การเพื่อการห้ามอาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิลยู), หน่วยงานวิชาการขององค์การเอกชนหลายแห่ง และ หน่วยข่าวกรองของสหรัฐอเมริกากับหลายประเทศในสหภาพยุโรปนั้น เครือข่ายอาวุธเคมีแบ่งตามลำดับบังคับบัญชาเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย แกนนำระดับสูงผู้มีอำนาจสั่งการ หรือให้ความเห็นชอบในการใช้อาวุธเคมี รวมทั้งเป็นผู้กำหนดแนวทางเชิงยุทธวิธีในการใช้, ระดับถัดมาเป็นระดับนักเคมี ซึ่งรับผิดชอบในการผลิต ลำเลียง และเตรียมเคมีให้พร้อมสำหรับการใช้เป็นอาวุธ, ระดับที่สาม เป็นระดับเจ้าหน้าที่ประสานงาน ซึ่งมีทั้งส่วนของเจ้าหน้าที่การข่าวที่ทำหน้าที่กำหนดเป้าของการโจมตี เรื่อยไปจนถึงเจ้าหน้าที่ประสานยุทธวิธีปฏิบัติการทางทหารในรูปแบบเข้ากับปฏิบัติการด้วยอาวุธเคมี และ สุดท้ายคือ เจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการโจมตี ที่มีตั้งแต่ผู้ที่ทำหน้าที่ลำเลียงสรรพาวุธเคมีสู่เป้าหมายเรื่อยไปจนถึงผู้ที่กดปุ่มสังหาร ยิงจรวด หรือทิ้งระเบิดที่มีหัวรบบรรจุอาวุธเคมีลงสู่เป้าหมาย

การใช้อาวุธเคมี เป็นเรื่องอ่อนไหวอย่างยิ่งตามธรรมชาติของการใช้อาวุธต้องห้ามทั้งหลาย ดังนั้นการตัดสินใจการใช้จึงจำเป็นต้องผ่านการเห็นชอบหรือสั่งการจากระดับนำสูงสุดของรัฐบาลซีเรีย ซึ่งก็คือ บาชาร์ อัล อัสซาด ประธานาธิบดี ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำสูงสุดแทนที่ ฮาเฟซ อัสซาด ผู้เป็นบิดามาตั้งแต่ปี 2000

สหรัฐอเมริการะบุเอาไว้ว่า อัสซาด คือ “ผู้ตัดสินใจสุดท้ายในการใช้อาวุธเคมีในโครงการอาวุธเคมี” ของซีเรีย

รายงานของหน่วยข่าวกรองฝรั่งเศส ระบุว่า อัสซาด มอบอำนาจการตัดสินใจอำมหิตดังกล่าวนี้ให้กับ “ที่ปรึกษาใกล้ชิด” จำนวนหนึ่ง หนึ่งในจำนวนนั้นคือ “มาเฮอร์ อัล อัสซาด” น้องชายร่วมสายเลือดที่ร่วมหัวจมท้ายปราบกบฏกันมาตั้งแต่ต้น มาเฮอร์ ยังมีบทบาทสำคัญในฐานะ ผู้บัญชาการกองพลยานเกราะที่ 4 ซึ่งทรงอิทธพลสูงของซีเรียอีกด้วย

หน่วยข่าวกรองของหลายประเทศรายงานตรงกันว่า มาเฮอร์ คือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการโจมตีที่กูตาด้วยอาวุธเคมี เมื่อปี 2013 โดยนอกจาก กองพลน้อยมิสไซล์ที่ 155 ซึ่งทำหน้าที่ยิงจรวดที่มีหัวรบบรรจุสารซารินในเหตุการณ์ครั้งนั้น จะเป็นหน่วยทหารที่ขึ้นตรงต่อกองพลยานเกราะที่ 4 ของมาเฮอร์แล้ว กองกำลังที่บุกทะลวงแนวหน้าฝ่ายกบฏที่รุกเข้ามาประชิดเมืองหลวงในตอนนั้นเป็นกลุ่มแรกสุดยังเป็นกองทหารใต้บัญชาของมาเฮอร์อีกด้วย

กลไกร่วมเพื่อการสอบสวนการใช้อาวุธเคมีของซีเรีย (จีไอเอ็ม หรือ จิม) ที่ตั้งขึ้นตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เคยระบุตัวมาเฮอร์ ร่วมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆของซีเรียว่าเป็นผู้รับผิดชอบในการใช้อาวุธเคมี นายทหารระดับสูงของซีเรีย ถูกระบุโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพดยุโรปว่า เป็นผู้วางแผนการโจมตีเหล่านี้ รวมทั้ง พลตรี ราฟิค ซิฮัดเดาะห์ อดีตผู้อำนวยการข่าวกรองทหาร ซึ่งในเวลานี้ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ของประธานาธิบดี, พลตรี มูฮัมหมัด มูฮัมหมัด มาฮัลลา ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองทหารคนปัจจุบัน, พลตรี ยามิล ฮัสซัน ผู้อำนวยการสำนักงานข่าวกรองกองทัพอากาศ และ พลตรี มูฮัมหมัด คาหลิด เราะห์มาน หัวหน้าแผนกความมั่นคงทางการเมือง ในสังกัดสำนักงานประธานาธิบดี

ข้อที่น่าสังเกตก็คือ คนเหล่านี้คือสมาชิกของ “ไครซิส เซลล์” หรือ “คณะทำงานในภาวะวิกฤต” ที่อัสซาดตั้งขึ้นตั้งแต่การกบฏเริ่มก่อหวอดขึ้นมานั่นเอง
เจ้าหน้าที่ระดับสูงอื่นๆที่ถูกระบุว่า มีส่วนเชื่อมโยงกับการใช้อาวุธเคมี ประกอบด้วย พลจัตวา บัสซัม อัล ฮัสซัน ผู้บัญชาการกองพลพิทักษ์สาธารณรัฐ (รีพับลิกัน การ์ด) ซึ่งทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษายุทธศาสตร์ของผู้นำซีเรียอยู่ด้วย

ที่สำคัญคือ พลจัตวาฮัสซัน ยังทำหน้าที่เป็น “ผู้แทนตัวประธานาธิบดี” ประจำ ศูนย์เพื่อการวิจัยและศึกษาวิทยาศาสตร์ (เอสเอสอาร์ซี) ของซีเรีย

ซึ่งถูกระบุว่า เป็นศูนย์กลางสำหรับงานวิจัยเพื่อผลิตและพัฒนาอาวุธเคมีของประเทศนี้!

 

สำนักงานใหญ่ของ “เอสเอสอาร์ซี” อยู่ที่ย่าน บาร์เซห์ ในกรุงดามัสกัส มีสาขาอีกแห่งตั้งอยู่ในหมู่บ้าน จัมรายา ของอำเภอ คุดซายา ในจังหวัด ริฟ ดิมาสชค์ ห่างจากตัวเมืองดามัสกัสไปทางตะวันตกเฉียงเหนือเพียง 3 กิโลเมตร หน่วยงานทางวิชาการนี้ เคยทำหน้าที่กำกับดูแลเครือข่ายโรงงานผลิตอาวุธเคมีหลายแห่งอยู่จนกระทั่ง เครือข่ายดังกล่าวถูกยุบเลิกโดย “โอพีซีดับเบิลยู” ในปี 2013

ผลงานชิ้นโบว์แดงของ เอสเอสอาร์ซี คือการออกแบบและผลิตจรวดพิสัยทำการระยะสั้น “โวลเคโน” ที่ดัดแปลงขึ้นมาเองให้หัวรบสามารถบรรจุสารซารินได้ ซึ่งนำมาใช้ในการโจมตีกูตาเมื่อปี 2013 กับ “บาร์เรล บอมบ์” ที่บรรจุ “คลอรีน” ซึ่งใช้มานับตั้งแต่ปี 2014 เนื่องจาก ภารกิจหลักของหน่วยงานแห่งนี้คือการพัฒนา ผลิต อาวุธนอกรูปแบบทั้งหลายและสรรหาวิธีการในการจัดส่งอาวุธเหล่านั้นสู่เป้าหมายมาให้ได้

ผู้อำนวยการเอสเอสอาร์ซี คือ “อาเมียร์ นาจิบ อาร์มานาซี” ที่ร่ำเรียนมาทางวิทยาการคอมพิวเตอร์ แต่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการกำกับดูแลโรงงานผลิตซารินแห่งหนึ่งโดยเฉพาะ พลจัตวา กัสซัน อับบาส เป็นหัวหน้าสำนักงานสาขาจัมรายาของเอสเอสอาร์ซี เป็นบุคคลที่กระทรวงการคลังสหรัฐอเมริการะบุเอาไว้ว่า เป็นผู้รับผิดชอบในการ “ส่งกำลังบำรุงเพื่อการผลิตอาวุธเคมี” ซึ่งหมายความเป็นนัยถึง “หน่วย 450” หรือ “ยูนิท 450” หน่วยทหารที่รับเจ้าหน้าที่เฉพาะที่มีเชื้อสายอลาไวต์ (มุสลิมนิกายเดียวกันกับ บาชาร์ อัล อัสซาด) ใช้ทำหน้าที่อารักขา และจัดเตรียม อาวุธเคมี เพื่อนำส่งยังหน่วยทหารที่ต้องการใช้

สหรัฐอเมริกาขึ้นบัญชีดำนายทหารอีก 5 นายจากเอสเอสอาร์ซี ประกอบด้วย พลจัตวา ซามีร์ ดาบุล, พลจัตวา อาลี วานัส, พันเอก ฟีราส อาหมัด, พันเอก ฮาบิบ ฮาวรานี และ พันเอก ซูฮาอีร์ ฮาอีดาร์ ทั้งหมดคือผู้ทำวิจัย จัดหาและนำส่งอาวุธเคมีเพื่อนำไปใช้ในการโจมตีของรัฐบาลซีเรีย

นอกเหนือจากนั้นยังมีการแซงก์ชั่นนิติบุคคลอีกอย่างน้อย 6 แห่ง ฐานทำหน้าที่เป็น “บริษัทบังหน้า” ในการจัดหาทั้ง เทคโนโลยีของต่างชาติ และวัสดุอุปกรณ์เพื่อโครงการพัฒนาอาวุธของซีเรีย ตัวอย่างเช่นบริษัทชื่อ “บิสซิเนส แล็บ” ที่พยายามจัดซื้อ ไพาโคลิล แอลกอฮอล์ 500 ลิตรในปี 20096 สารเคมีชนิดนี้สามารถนำมาใช้ในการจัดเตรียม สารพิษทำลายประสาท “โซมัน” ที่โอพีซีดับเบิลยูตรวจสอบพบร่องรอยในโรงงานหลายแห่งของเอสเอสอาร์ซี

ถัดจากกลุ่มผู้รับผิดชอบในการผลิตอย่าง เอสเอสอาร์ซี ก็คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการประสานงานในการใช้อาวุธเคมี

 

ผู้ทำหน้าที่ประสานงานดังกล่าวนี้ คือหน่วยงานทางทหารสำคัญหลายแห่งของประเทศ ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานการปฏิบัติงานของเอสเอสอาร์ซี กับ หน่วยทหารเฉพาะบางหน่วยที่ลงมือโจมตีด้วยอาวุธเคมี และ หน่วยทหารทั่วไปอื่นๆที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในพื้นที่เดียวกับพื้นที่เป้าหมาย หรือใกล้กับพื้นที่เป้าหมายที่จะถูกโจมตี

หน่วยข่าวกรองทหารของรัพับลิกันการ์ด กับหน่วยข่าวกรองของกองทัพอากาศ ซีเรีย คือหน่วยงานหลักในการชี้เป้า และ ช่วยประสานไม่ให้เกิดการโจมตีถูกพวกเดียวกันเองขึ้น

พลตรี ทาลัล ชาฟิค มัคห์ลุฟ ผู้บัญชาการกองพลรีพับลิกันการ์ด ถูกแซงก์ชั่นโดยสหรัฐอเมริกาด้วยข้อหาว่ามีบทบาทสำคัญในการโจมตีด้วยอาวุธเคมี คลอรีน บาร์เรล บอมบ์ ในขณะที่ พลจัตวา ยาซิน อาหมัด ดาฮี นายทหารระดับสูงในสังกัดหน่วยข่าวกรองทหาร ก็ถูกเชื่อมโยงเข้ากับการใช้อาวุธเคมีของกองทัพซีเรียด้วยเช่นกัน

เจ้าหน้าที่ระดับสูงในหน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศ ที่ถูกระบุว่า มีบทบาทในการกำหนดแผนโจมตีด้วยอาวุธเคมี คือ นาวาอากาศเอก มูฮัมหมัด นาฟี บิลัล ซึ่งมีตำแหน่งประจำอยู่ที่สำนักงานใหญ่ของเอสเอสอาร์ซี เพื่อทำหน้าที่เป็น “ผู้ประสานงาน” ระหว่างศูนย์ กับน่วยข่าวกรองกองทัพอากาศ ทั้งในแง่ของการประสานงานเพื่อทำความเข้าใจในแผนงานและเพื่อการลำเลียงหรือจัดส่งสรรพาวุธเคมีตามต้องการ และ นาวาอากาศเอก ซูฮาอิล ฮัสซัน อัล ฮัสซัน ถูกระบุว่า

เป็นผู้ประสานงานปฏิบัติการทางทหารในช่วงที่เกิดการโจมตีด้วยก๊าซพิษคลอรีนในอิดลิบก่อนหน้านี้

 

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ กองกำลังที่ลงมือปฏิบัติการใช้อาวุธเคมีจริงๆตามคำสั่งนั้น เป็นทหารเพียง 2 หน่วยเป็นหลักเท่านั้น หนึ่งคือกองกำลัง “อาหรับซีเรียแห่งกองทัพอากาศ” ซึ่งเป็นหน่วยงานในกองทัพอากาศที่ถูกใช้ในการปฏิบัติการทางทหารที่อ่อนไหวที่สุดและปิดลับสูงสุดโดยรัฐบาลอัสซาดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปฏิบัติการโจมตีด้วยอาวุธเคมี อีกหน่วยหนึ่งก็คือ “กองอำนวยการด้านมิสไซล์และปืนใหญ่แห่งซีเรีย” (เอสเอเอ็มดี)

เชื่อกันว่า เอสเอเอ็มดี คือหน่วยที่รับผิดชอบในการโจมตีที่กูตาในปี 2013 ซึ่งเป็นการถล่มพื้นที่กบฏด้วยจรวดโวลเคโน ขนาด 330 ม.ม. ผลิตในซีเรียระหว่าง 8-12 ลูก แต่ละลูกมีหัวรบที่มีสารซารินบรรจุอยู่ราว 50 ลิตร พร้อมกับถล่มด้วยปืนใหญ่ชนิด เอ็ม-14 ขนาด 140 ม.ม.อีกอย่างน้อย 2 ลูก ลูกปืนใหญ่ยุคโซเวียตเดิมนี้ก็บรรจุเต็มไปด้วยซารินเช่นเดียวกัน

นายทหารระดับบัญชาการระดับสูง 4 นายของ เอสเอเอ็มดี ตกอยู่ในข่ายแซงก์ชั่นทั้งของสหรัฐและยุโรป คือ พลตรี ทาเฮียร์ ฮามิด คาลิล ผู้บัญชาการหน่วย, พลจัตวา อัดนัน อาบูด ฮิลเวห์ ผู้บัญชาการกองพลน้อยมิสไซล์ที่ 157, พลตรี กัสซัน อาเหม็ด ผู้บัญชาการกองพลน้อยมิสไซล์ที่ 155 และ พลตรี จอว์ดัท ซัลบี มาวาส นายทหารระดับสูงประจำกองอำนวยการแห่งนี้

กองพลน้อยมิสไซล์ที่ 155 ฐานที่มั่นสำคัญอยู่ที่ คูตาอีฟา นอกกรุงดามัสกัส มีอาวุธหลักคือจรวดนำวิถีแบบสกั๊ด และอยู่ภายใต้บังคับบัญชาของ มาเฮอร์ อัล อัสซาด โดยตรง

กองกำลังอาหรับซีเรียแห่งกองทัพอากาศ เป็นอีกหน่วยหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการโจมตีด้วยอาวุธเคมีของซีเรีย ที่เชื่อกันว่า เกิดขึ้นไม่น้อยกว่า 100 ครั้งในช่วง 2014-2015 และอีกหลายสิบเที่ยวในปี 2016-2017 โดยเชื่อกันว่าปฏิบัติการเหล่านั้นซึ่งส่วนใหญ่เป็น คลอรีน บาร์เรล บอมบ์ ที่หย่อนลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ เป็นปฏิบัติการของจากฐานทัพอากาศ นอกเมืองฮามา และ ฮูมานิมิม ซึ่งเป็นที่ตั้งของฝูงบินที่ 253 และ 255 ในสังกัด ฝูงบินปีกหมุน(เฮลิคอปเตอร์)ที่ 63 กับ ฝูงบินปีกหมุนนาวีที่ 618 เฮลิคอปเตอร์ที่ใช้คือ เอ็มไอ-8 หรือรุ่นใกล้เคียง

ในกรณีของ ข่าน ชีคฮูน นั้นเป็นการปฏิบัติการโดยเครื่องบินขับไล่ ซู-22 ซึ่งประจำอยู่ที่ฐานทัพอากาศชาอีรัต ที่ตั้งของกองพลน้อยอากาศโยธินที่ 50 ของซีเรีย ซึ่งมีฝูงบิน ซู อยู่ 2 ฝูงคือ ฝูงบินที่ 677 และ 685

คนเหล่านี้คือผู้ที่ประกอบกับขึ้นเป็นเครือข่ายอำมหิตในการผลิต นำส่ง และสั่งการใช้อาวุธเคมีในซีเรียตลอดมา

และเข้าข่ายกระทำความผิดฐานก่ออาชญกรรมต่อมนุษยชาติด้วยกันทั้งหมด!
(ภาพ-defense-update)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image