5 เหตุผล นิวเคลียร์โสมแดง นานวันยิ่งอันตราย

เกาหลีเหนือ ภายใต้การปกครองของผู้นำสูงสุด คิม จอง อึน อายุเพียง 33 ปี กำลังเป็นประเทศที่ถูกจับตามองมากที่สุดประเทศหนึ่งในเวลานี้

เนื่องเพราะทั้งๆ ที่กำลังยุ่งอีนุงตุงนังอยู่กับปมการถล่มโทมาฮอว์กใส่ซีเรีย ประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ยังอุตส่าห์ปลีกเวลาสั่งการให้กองเรือบรรทุกเครื่องบินเพื่อการโจมตี (ซีเอสจี) คาร์ล วินสัน ที่กำลังมุ่งหน้าไปแวะจอดเทียบท่าเป็นการเยี่ยมเยียนประเทศออสเตรเลีย วกขึ้นเหนือมุ่งหน้าไปประชิดคาบสมุทรเกาหลี

ทรัมป์ให้สัมภาษณ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส ของอังกฤษเมื่อ 12 เมษายนที่ผ่านมายืนยันว่า เป้าหมายของการเคลื่อนกำลังกองเรือประจัญบานครั้งนี้คือ เกาหลีเหนือ

กองเรือโจมตีที่ทรัมป์เรียกว่ากองเรือประจัญบานนั้น ไม่เพียงมีเรือบรรทุกเครื่องบินระดับ ซุปเปอร์แคร์ริเออร์ อย่างยูเอสเอส คาร์ล วินสัน เป็นแกนหลักเท่านั้น ยังต้องมีกองบินประจำเรือ 1 กอง ประกอบด้วยฝูงบินรบ 9 ฝูง (1 ฝูงบินมีเครื่องบินรบ 16 ลำ สำรองอีก 2 ลำ), เรือรบคุ้มกันอีก 5-6 ลำ, เรือพิฆาตอีก 1 กอง ซึ่ง 2 ลำในจำนวนนั้นต้องติดตั้งอาวุธประจำเรือเป็นจรวดนำวิถีโทมาฮอว์ก พิสัยไกล และที่สำคัญต้องมี เรือดำน้ำจู่โจม ติดไปด้วย 1-2 ลำ ปกติแล้วจะเป็นเรือชั้น ลอสแองเจลิส ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งปฏิบัติต่อต้านเรือดำน้ำ และปฏิบัติการจู่โจมจากระยะไกลด้วยโทมาฮอว์กเช่นกัน

Advertisement

ขนไปขนาดนั้นเพื่อแสดงแสนยานุภาพกดดันเกาหลีเหนือ ให้ยุติโครงการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตัวเองลง

เกิดคำถามตามมาว่า อาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือพัฒนาถึงระดับ เป็นอันตราย ถึงขนาดนี้แล้วหรือ? แล้วทำไมประเทศอย่างเกาหลีเหนือถึงมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองไม่ได้?

การประเมินศักยภาพอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเป็นความยุ่งยากของผู้เชี่ยวชาญทุกฝ่ายเสมอมา เพราะไม่เพียงโครงการพัฒนาอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงนี้จะปิดลับอย่างยิ่งเท่านั้น เกาหลีเหนือยังเป็นชาติโดดเดี่ยว แยกตัวจากประชาคมโลกอีกด้วย

Advertisement

ดังนั้น นอกเหนือจากความชัดเจนที่ว่า เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่ในครอบครองแน่นอนแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นการ คาดการณ์จากการประมวลหลายๆ อย่างเข้าด้วยกัน ตั้งแต่องค์ประกอบของอาวุธ รวมทั้งการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของทางการเปียงยางเท่านั้น

จากการประเมินดังกล่าว ผู้เชี่ยวชาญชี้ให้เห็นว่า ตลอดปี 2558 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือมีวัสดุฟิสไซล์(ในทางวิศวกรรมนิวเคลียร์หมายถึงวัสดุที่สามารถก่อให้เกิดปฏิกิริยานิวเคลียร์ต่อเนื่องได้ อาทิ ยูเรเนียม 233, ยู 235 และพลูโตเนียม 239 ซึ่งสามารถนำมาใช้ทั้งเป็นเชื้อเพลิงนิวเคลียร์และอาวุธนิวเคลียร์) มากพอสำหรับการนำมาประกอบเป็นอาวุธนิวเคลียร์ได้เพียงไม่กี่ลูกเท่านั้น การประเมินสูงสุดอยู่ที่ต่ำกว่า 20 ลูก แต่พอถึงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สภาพการณ์ดังกล่าวเปลี่ยนแปลงไป

นายยูกิยะ อามาโนะ ผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) รายงานเอาไว้ว่า เกาหลีเหนือได้เพิ่มขนาดของโรงงานเพิ่มสมรรถนะยูเรเนียมที่ยองบยอนขึ้นเป็นเท่าตัว ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินของสถาบันเพื่อวิทยาศาสตร์และความมั่นคงระหว่างประเทศ (ไอเอสไอเอส องค์กรเอกชนที่เคลื่อนไหวต่อต้านการแพร่กระจายของอาวุธนิวเคลียร์มีสำนักงานใหญ่อยู่ในวอชิงตัน) ที่ระบุว่า โรงงานเพื่อการผลิตยูเรเนียมและพลูโตเนียมเข้มข้นของเกาหลีเหนือที่เป็นที่รู้จักกันดีนั้น ในเวลานี้สามารถผลิตวัสดุฟิสไซล์ได้มากพอในการนำมาทำระเบิดนิวเคลียร์ได้ 6 ลูกต่อ 18 เดือน

ข้อมูลของสถาบันยังระบุต่อไปด้วยว่า แต่ถ้าเกาหลีเหนือเปิดดำเนินการโรงงานเสริมสมรรถนะยูเรเนียมลับแห่งที่ 2 ขึ้นมา (ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า คิม จอง อึน ทำแน่) ขีดความสามารถในการผลิตระเบิดนิวเคลียร์ก็จะเพิ่มขึ้นอีก 50% หรือ 12 ลูกใน 18 เดือน

ถ้าหากไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด คาดกันว่าคลังอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือจะบรรลุถึงระดับ 100 ลูก ภายในปี 2567

จากข้อมูลทั้งหมดนั้นผู้เชี่ยวชาญหลายคน รวมทั้ง วิลเลียม โทบีย์ นักวิชาการด้านการไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์จากศูนย์เบลเฟอร์เพื่อวิทยาศาสตร์และกิจการระหว่างประเทศ ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ระบุว่า จะทำให้ธรรมชาติของภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ด้วยเหตุผล 5 ประการด้วยกันดังนี้

ประการแรก เมื่อมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ในปริมาณมาก เกาหลีเหนืออาจปรับเปลี่ยนทั้งยุทธศาสตร์ หลักการ และท่าทีของตนเองใหม่ กลายเป็นก้าวร้าว แข็งกร้าวมากขึ้นกว่าเดิม แทนที่จะพึ่งพานิวเคลียร์เป็นที่พึ่งสุดท้ายในการป้องกันประเทศเหมือนก่อนหน้านี้ ตัวอย่างเช่น เกาหลีเหนืออาจหันมาใช้ยุทธวิธีพร้อมยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตลอดเวลา (day-to-day deployment of nuclear weapons on alert) เพื่อป้องปรามการโจมตีทางทหารโดยตรงจากสหรัฐอเมริกา เป็นต้น กรณีเช่นนี้จะทำให้โอกาสที่จะเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นบนคาบสมุทรเกาหลีทวีขึ้นหลายเท่าตัว

ยิ่งไปกว่านั้น คิม จอง อึน อาจมองว่าการมีคลังอาวุธนิวเคลียร์ขนาดใหญ่อยู่ในมือ ทำให้สามารถแสดงพฤติกรรมคุกคามอื่นๆได้มากขึ้นกว่าเดิม ตั้งแต่การก่อการร้ายทางไซเบอร์ เรื่อยไปจนถึงการก่อเหตุทำนองเดียวกับการจมเรือรบโชนัน หรือการยิงถล่มเกาะยอนพยอง ของเกาหลีใต้ที่เคยทำมาก่อนหน้านี้

ประการที่สอง ยิ่งมีสต๊อกของวัสดุฟิสไซล์มากขึ้น ยิ่งเอื้ออำนวยให้เกาหลีเหนือสามารถพัฒนาศักยภาพของระเบิดนิวเคลียร์และระบบนำส่งระเบิดนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้าได้มากขึ้นและเร็วขึ้น การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ในแต่ละครั้งสิ้นเปลืองวัสดุฟิสไซล์ไม่น้อย แต่ถ้าสต๊อกวัสดุฟิสไซล์ขยายใหญ่โตมากขึ้น การทดลองก็สามารถทำได้บ่อยขึ้น ข้อเท็จจริงเรื่องนี้แสดงให้เห็นได้จากการที่ก่อนหน้านี้เกาหลีเหนือจำเป็นต้องเว้นเวลาระหว่างการทดลองระเบิดนิวเคลียร์ของตนถึง 3 ปีจึงทดลองได้ครั้งหนึ่ง แต่เมื่อปี 2559 ที่ผ่านมา เกาหลีเหนือทดลองระเบิดนิวเคลียร์ได้ถึง 2 ครั้ง

ประการที่สาม การที่เกาหลีเหนือมีวัสดุฟิสไซล์อยู่ในครอบครองในปริมาณมาก เพิ่มความเสี่ยงของการขายอาวุธนิวเคลียร์ หรือ วัสดุฟิสไซล์ หรืออื่นใดที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งให้กับคนหรือกลุ่มบุคคลหรือประเทศ อันตราย ทั้งหลายได้มากขึ้น อย่างเช่น อาจขายขีปนาวุธให้ลิเบีย หรือขายเตาปฏิกรณ์เพิ่มสมรรถนะพลูโตเนียมให้กับซีเรีย เป็นต้น

การขายดังกล่าวทำได้ง่ายกว่าเมื่อครั้งที่เกาหลีเหนือมีอาวุธนิวเคลียร์จำกัด ซึ่งจะส่งผลให้การขายแต่ละครั้งเท่ากับเป็นการทอนอานุภาพทางทหารของประเทศไปโดยปริยาย แต่ยิ่งมีมากขึ้นก็สามารถตัดสินใจขายได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกาหลีเหนือเผชิญหน้ากับการแซงก์ชั่นที่เข้มงวดมากๆ การลอบขายอาวุธนิวเคลียร์ก็จะกลายเป็นทางออกที่ดีไปในทันที

ประการที่สี่ ถ้าหากเกาหลีเหนือหันมาใช้ยุทธศาสตร์แบบเตรียมพร้อมยิงขีปนาวุธนิวเคลียร์ตลอดเวลา โอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการยิงขึ้นมาโดยอุบัติเหตุ หรือเกิดการยิงโดยไม่ได้รับมอบอำนาจก็จะเพิ่มสูงขึ้น กรณีเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายถึงว่าจะเกิดขึ้นในเกาหลีเหนือไม่ได้

ประการสุดท้าย การครอบครองวัสดุฟิสไซล์หรืออาวุธนิวเคลียร์เป็นจำนวนมากของเกาหลีเหนือ อาจนำไปสู่ปรากฏการณ์ ขโมยนิวเคลียร์ เกิดขึ้นได้โดยง่ายมากขึ้น โดยเฉพาะหากเกิดความไม่พอใจขึ้นกับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง ในกรณีของวัสดุฟิสไซล์นั้น ภายใต้กระบวนการที่เป็นอยู่ในโรงงานเพิ่มสมรรถนะของเกาหลีเหนือในเวลา ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่ามีโอกาสที่จะมีการลักลอบนำออกมาทีละน้อยได้สูงมาก

ในเวลาเดียวกัน เกาหลีเหนือถึงจะเป็นรัฐตำรวจเต็มรูปแบบ แต่เป็นประเทศที่มีการคอร์รัปชั่นสูงมาก หนึ่งในเจ้าหน้าที่ฉ้อฉลเหล่านี้มีโอกาสไม่น้อยที่จะวางแผนขโมยหัวรบนิวเคลียร์หลบหนีออกมาได้

แม้แต่คนอย่าง พล.อ.คิม วอน ฮง ผู้บัญชาการสำนักข่าวกรองกลางเกาหลีเหนือก็ถูกปลดพ้นตำแหน่งเพราะคอร์รัปชั่นมาแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image