นาซาเตรียมศึกษา แนวปะการังทั่วโลก

แนวปะการังเป็นที่อยู่อาศัยของของสิ่งมีชีวิตใต้ท้องทะเลหลากหลายมาก ตั้งแต่ปลา เรื่อยไปจนกระทั่งถึงเต่า ฉลาม และปลาไหลทะเล เป็นอาทิ แต่เป็นที่รับรู้กันทั่วไปว่าแนวปะการังสำคัญๆ ทั้งหลายทั่วโลกกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามของหลายๆ อย่าง ตั้งแต่มลภาวะ การทำประมง และภาวะโลกร้อนที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมในถิ่นที่อยู่อาศัยของปะการัง

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลเกี่ยวกับความเสียหายของแนวปะการังสำคัญในแต่ละจุดยังมีอยู่น้อยมาก ซึ่งส่งผลให้การอนุรักษ์หรือเยียวยาทำได้ลำบากมากขึ้นไปด้วย

ทั้งหมดนั้นเป็นที่มาของโครงการใหม่ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (นาซา) ของสหรัฐอเมริกา ที่จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับแนวปะการังสำหรับการอนุรักษ์โดยเฉพาะ เรียกชื่อโครงการว่า “โครงการห้องปฏิบัติการปะการังลอยฟ้า” เรียกย่อสั้นๆ ว่า “โครอล” เพื่อช่วยในการตรวจสอบสภาพของแนวปะการังทั้งระบบ ตั้งแต่แนวปะการังที่ฟลอริดา, ฮาวาย, ปาเลา, หมู่เกาะมาเรียนา และที่ออสเตรเลีย

การตรวจสอบสภาพความเสื่อมของแนวปะการังนั้นจะใช้เครื่องมือถ่ายภาพด้วยแสงจากระยะไกลที่เรียกว่า “ปริซึม” ซึ่งจะทำหน้าที่บันทึกแสงในย่านความถี่ต่างๆ ที่สะท้อนกลับขึ้่นมา เพื่อจำแนกหาลักษณะจำเพาะที่ปะการังและสาหร่ายทะเลสร้างขึ้น

Advertisement

สาหร่ายทะเลจะเพิ่มปริมาณมากขึ้นหากปะการังตายลง ดังนั้นการวัดปริมาณของทั้งปะการังและสาหร่ายทะเลในพื้นที่ซึ่งครอบคลุมอาณาบริเวณกว้าง ก็ช่วยบอกเราได้ว่าแนวปะการังในแต่ละพื้นที่ตกอยู่ในสภาพอย่างไร

ในขณะเดียวกันทีมวิจัยของโครงการก็จะใช้การตรวจสอบน้ำทะเล เพื่อเป็นการตรวจสอบยืนยันกับข้อมูลที่ได้จากปริซึมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้การประเมินที่ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด และสามารถประเมินค่าของสภาพแวดล้อมโดยรวมได้ทั้งในทางกายภาพ องค์ประกอบทางเคมี และปัจจัยที่เกิดขึ้นมนุษย์

มิเชลล์ เกียราช นักวิทยาศาสตร์ประจำโครงการโครอล บอกว่า ข้อมูลจากโครงการนี้ไม่เพียงจะให้ภาพที่ครอบคลุมมากที่สุดเท่าที่มีอยู่ในเวลานี้เกี่ยวกับสภาพของแนวปะการังของโลกแล้ว ยังเป็นการให้ข้อมูลในรูปแบบที่เป็นมาตรฐานแก่นักวิทยาศาสตร์ ทำให้ง่ายต่อการนำไปประยุกต์ใช้ต่ออีกด้วย

Advertisement

โครงการสำรวจแนวปะการังทั่วโลกของนาซานี้กำหนดระยะเวลาโครงการไว้ 3 ปี แต่แม้จะใช้เวลานานมากถึงขนาดนั้นก็ยังครอบคลุมแนวปะการังทั้งโลกได้เพียง 3-4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นเอง อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องก็เชื่อว่า ข้อมูลที่ได้ในที่สุดน่าจะเพียงพอที่จะช่วยให้สามารถคาดการณ์ถึงการเสื่อมสภาพของแนวปะการังทั้งหมดได้

เป็นการคาดคะเนที่อยู่บนพื้นฐานของข้อมูลและตัวเลขที่แท้จริง ไม่ใช่คาดการณ์เอาด้วยความคิดเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเหมือนก่อนหน้านี้

(ภาพ- NOAA/David Burdick)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image