กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือกับการประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 2

การเคลื่อนย้ายกำลังของกลุ่มปะหล่อง TNLA (ภาพจากhttp://northernalliance.today/about-us/)

ภายหลังการประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ครั้งแรกสิ้นสุดลงนั้น ความคืบหน้าการเจรจาด้านต่างๆ ดำเนินไปอย่างทุลักทุเลอันเนื่องมาจากหลากหลายปัจจัย  แต่ทั้งนี้ก็สามารถเห็นความคืบหน้าได้ในหลายลักษณะ อาทิ กรอบการเจรจาที่เน้นหนักไปทางด้าน เศรษฐกิจ สังคม  การเมือง ความมั่นคง ที่ดินและทรัพยากร  และความคืนหน้าขั้นล่าสุดนั้นคือรัฐบาลเมียนมาเริ่มเปิดไฟเขียวอนุญาตให้รัฐที่ปกครองโดยกลุ่มชาติพันธุ์สามารถร่างรัฐธรรมนูญเป็นของตนเองได้  หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่านี่คือสัญญาณทางบวกที่จะสามารถนำไปสูงการยุติสงครามกลางเมืองที่ยืดเยื้อมามากกว่า 70 ปีลงได้ สิ่งที่ต้องพิจารณาก็คือ  หากย้อนกลับไปดูสถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐบาลพม่า จะพบว่าสถานการณ์การสร้างสมดุลระหว่างกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ มีการเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคัก  ทำให้การประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ครั้ง 2 ที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 24 พฤษภาคมนั้นเกิดคำถามได้ว่า  ปรากฏการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้กรอบหรือสถานการณ์การเจรจาดังกล่าวมีการเปลี่ยนแปลงหรือพลิกผันจากเดิมมากน้อยเพียงใด  นอกจากนั้นแล้ว  ปัจจัยแทรกซ้อนอื่นๆจะมีเพิ่มหรือเป็นปัจจัยใหม่เพิ่มขึ้นอีกบ้างหรือไม่

การเคลื่อนย้ายกำลังในเมืองหมู่เจ้ (ภาพจาก http://taifreedom.com)

พันธมิตรภาคเหนือกับความพยายามการทลาย “วงจรอุบาทว์ของการเจรจาหยุดยิง”  ข้อพิจารณาประการหนึ่งนั่นคือ  การสร้างพันธมิตรเพื่อเคลื่อนไหวต่อรองในแง่ของกรอบการเจรจามีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยยะสำคัญนับตั้งแต่การปรากฏตัวของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือซึ่งเริ่มต้น มีเพียงสี่กลุ่มนั่นคือกองทัพเอกราชคะฉิ่น KIA กองกำลังปะหล่อง (TNLA) กองกำลังโกก้าง MNDAA และกองทัพอาระกัน AA  เท่านั้น  นัยยะประการหนึ่งของการก่อการรวมกลุ่มทางการเมืองครั้งนี้นั่นคือ  การไม่ไว้วางใจในท่าทีและกระบวนการเจรจาสันติภาพของรัฐบาลพม่า  อันนี้มาจากสิ่งที่เรียกว่า “วงจรอุบาทว์ของการเจรจาหยุดยิง”  ซึ่งมีที่มาจากการเลือกปฏิบัติในการหยุดยิงแต่เพียงเฉพาะบางกลุ่มเท่านั้น  ทั้งนี้ การเจรจาหยุดยิงระหว่างรัฐบาลพม่ากับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ในอดีตนั้นเคยมีมาแล้ว  ซึ่งมีลักษณะที่เรียกว่า “ข้อตกลงหยุดยิงแบบทวิภาคี” ซึ่งเป็นข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองฝ่าย  แต่ที่สิ่งที่ทำให้เป็นข้อกังขาจนสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบันนั้นคือ  กองทัพพม่ามักใช้วิธีการดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์พักรบหรือหยุดยิงเพื่อไปเปิดศึกในการทำลายหรือโจมตีกับกลุ่มอื่นที่ไม่ได้หยุดยิง  กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ  กองทัพพม่าใช้ข้อตกลงหยุดยิงเพื่อไม่ให้เปิดศึกหลายด้าน  และวงจรดังกล่าวได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กล่าวได้ว่า  แม้ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศหรือ NCA ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้  แม้ว่าจะเป็นข้อตกลงแบบพหุพาคีหรือหลายฝ่าย หากแต่ความไม่ไว้วางใจที่มีมาตั้งแต่อดีตยังกลายเป็นสิ่งที่หลอกหลอนสำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ต่อเนื่อง ยิ่งไปกว่านั้น  การใช้แรงบีบบังคับทางอ้อมในการเจรจาตกลงหยุดยิงทั่วประเทศที่มีความพยายามจะกดดันกลุ่มชาติพันธุ์วางอาวุธก่อนลงนามนั้นยังเป็นลักษณะที่กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือไม่สามารถยอมรับได้  ดังนั้น  ปรากฏการณ์การปะทะระหว่างกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือกับกองทัพพม่าจึงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะกับกลุ่มคะฉิ่นที่ได้ชื่อว่าแข็งแกร่งที่สุด

ภาพการโฆษณาของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ (ภาพจาก http://northernalliance.today)

อย่างไรก็ตาม  การต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือนั้นมิได้เป็นการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การต่อรองในกระบวนการเจรจาทางการเมืองเท่านั้น  หากแต่รวมถึงการเปลี่ยนแนวทางการต่อสู้ทางด้านการทหารด้วย  กล่าวคือ  ในอดีตกลุ่มกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะตั้งฐานที่มั่นในพื้นที่ป่าเขาและเทือกเขาสูงเพื่อใช้ต่อสู้กับฝ่ายรัฐ  กระนั้นการพัฒนาและสั่งสมอาวุธของกองทัพพม่าที่มีมากขึ้นโดยเฉพาะการเข้าถึงตลาดค้าอาวุธได้ง่ายหลังจากที่มีรัฐบาลพลเรือน  ทำให้กองทัพสามารถใช้อาวุธเหล่านั้นสร้างความได้เปรียบในสนามรบเหนือกว่ากองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์  จะเห็นได้ว่า  การตั้งฐานบนดอยสูงจึงมิเป็นอุปสรรคต่อฝ่ายกองทัพเหมือนในอดีตเพราะสามารถใช้ปืนใหญ่และเครื่องบินโจมตียึดฐานที่มั่นได้อย่างไม่ยากเย็นนัก  โดยเฉพาะกองกำลังคะฉิ่นนั้น  สูญเสียฐานที่มั่นไปเป็นจำนวนมากในช่วงปี 2559 เป็นต้นมา  สัญญาณการเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์การต่อสู้ทางด้านการทหารมีมากขึ้น เมื่อกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือเคลื่อนย้ายสมรภูมิการต่อสู้จากป่าเข้าสู่เมืองเพื่อสร้างความได้เปรียบ  ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนนั่นคือ การเข้าโจมตีที่ตั้งของหน่วยความมั่นคงในเมืองหมู่เจ้ ในเขตรัฐฉานเมื่อเดือนพฤศจิกายน  2559  และการโจมตีของกลุ่มโกกั้งในเมืองเล๋าก๋ายในห้วงเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสมรภูมิการสู้ในลักษณะนี้จึงทำให้กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือถูกทางการพม่าขึ้นบัญชีดำให้กลายเป็นกลุ่มก่อการร้าย  แต่ก็หาได้ทำให้กลุ่มพันธมิตรภาคเหนือได้รับความกระทบกระเทือนมากนัก ยิ่งไปกว่านั้น  ยังมีพลังทางการเมืองและการทหารมากขึ้น  เมื่อกลุ่มว้า (UWSA) ได้เชิญกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือเข้าประชุมที่เมื่อปางซาง โดยรวมทั้งกองกำลังเมืองลา (NDAA) และ กองกำลังรัฐฉานเหนือ (SSPP) เข้าร่วมการประชุมด้วย นัยยะสำคัญที่เกิดขึ้นนั่นคือ การส่งสัญญาณการร่วมพันธมิตรดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความสามารถด้านการต่อรองทางการเมืองและการทหารได้เพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

การประชุมกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือ (ภาพจาก http://northernalliance.today)

กลไกการต่อรอง ปรากฏการณ์ในข้างต้น  โดยเฉพาะการร่วมกลุ่มพันธมิตรที่แข็งแกร่งขึ้นกำลังการสร้างผลสะเทือนต่อการประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21 ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเป็นอย่างมาก แม้ว่า กลุ่มที่ไปพบปะกันที่เมืองปางซางนั้นจะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้ลงนามหยุดยิงทั่วประเทศ  หากแต่รัฐบาลและกองทัพพม่าก็พยายามเชื้อเชิญให้ทุกกลุ่มเข้าร่วม  อย่างไรก็ตาม กลุ่มที่ไม่ได้ลงนามในข้อตกลงหยุดยิงจะได้รับสถานะเพียง “ผู้สังเกตการณ์” และไม่สามารถเสนอข้อคิดเห็นและความต้องการใดๆ ในระหว่างการประชุม ในประเด็นดังกล่าวทำให้กลุ่มแนวร่วมใหม่แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับฝ่ายรัฐและเน้นย้ำจุดยืนเหมือนดังยุทธศาสตร์ใหม่เช่นเดิมว่า  หากรัฐบาลต้องการสร้างสันติภาพจริงทุกกลุ่มจะต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม  และทางกลุ่มพร้อมส่งตัวแทนเข้าเจรจาในการประชุมรอบใหม่ในนาม “คณะกรรมการปรึกษาและการเจรจาการเมืองสหพันธรัฐ” (the Federal Political Negotiation and Consultative Committee) แต่ทั้งนี้  รัฐบาลจะต้องเชิญทุกกลุ่มเข้าร่วมหากรัฐบาลเลือกเชิญเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเข้าประชุมรอบใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทุกสมาชิกในกลุ่มก็จะไม่เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกัน

Advertisement

การแสดงออกของท่าทีของกลุ่มใหม่ยังมีความน่าสนใจมากขึ้นเมื่อทางการจีน โดยนาย Sun Guoxiang เจ้าหน้าที่จากกระทรวงการต่างประเทศฝ่ายเอเชียของจีนได้พบกับกลุ่มว้าและพันธมิตรภาคเหนือ และเสนอตัวเองให้เป็นตัวกลางประสานความเข้าใจระหว่างกลุ่มพันธมิตรใหม่กับฝ่ายกองทัพและรัฐบาลพม่า  รวมทั้งการให้ความสนใจต่อข้อลงหยุดยิงทั่วประเทศอีกด้วย

สัญลักษณ์การรวมกลุ่มของพันธมิตรสี่กลุ่ม (ภาพจาก http://northernalliance.today)

ผลกระทบต่อกระบวนการเจรจาสันติภาพ ข้อสังเกตที่สำคัญต่อพัฒนาการของกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือและการเข้ามาของจีนในกระบวนการสันติภาพของพม่า มีอย่างน้อย 4 ประเด็นใหญ่  กล่าวคือ ประการแรก  ในอดีตนั้นรัฐบาลและกองทัพพม่าเน้นย้ำให้การเจรจาสันติภาพเป็นเรื่องของการเมืองภายใน  หากแต่นับตั้งแต่นี้เป็นต้นไปโจทย์ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ  ฝ่ายรัฐพม่าไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไปว่าจะไม่มีตัวกลางในการเจรจาสันติภาพ  ทางเลือกหนึ่งนั่นคือ  จะวางหรือทำความเข้าใจของตัวกลางที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทในกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อไม่ให้ขัดกับหลักการเดิมได้อย่างไร โดยเฉพาะท่าทีของมหาอำนาจในกรณีของจีน ประการที่สอง  การเข้ามาของจีนนั้นมิได้เข้ามาอย่างไม่เป็นขั้นตอน  หากแต่มีพัฒนาการและแทรกซึมมาอย่างต่อเนื่อง ฉะนั้นจีนจึงมิได้เข้ามาในฐานะของประเทศเพื่อนบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบบริเวณชายแดนจีน-พม่า เท่านั้น  หากแต่เข้ามาเพื่อคานอำนาจกับอีกมหาอำนาจหนึ่งเหนือดินแดนพม่าเพื่อเป็นภูมิยุทธศาสตร์เข้าสู่มหาสมุทรอินเดีย  รวมทั้งความต้องการฐานทางทรัพยากรที่อยู่ทางตอนเหนือของรัฐฉาน  คำถามที่สำคัญนั่นคือ  ฝ่ายรัฐและกองทัพพม่าจะสามารถน้อมรับและยินยอมข้อเสนอของฝ่ายจีนได้มากน้อยเพียงใด ประการที่สาม การประชุมสันติภาพผ่านการยื่นข้อเสนอในการปกครองแบบสหพันธรัฐซึ่งเป็นวิธีการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางด้านชาติพันธุ์ด้วยการไม่แบ่งแยกดินแดน  กำลังถูกท้าทายอย่างมาก  เนื่องจาก การจัดการเรื่องดินแดนนั้น ยังมีมิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะทางเลือกในการผนวกดินแดนที่กองกำลังต่อต้านรัฐเข้ายึดครองกับดินแดนของประเทศเพื่อนบ้าน  ซึ่งในกรณีของพม่านั้น  ปรากฏการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนั้น กลุ่มแนวร่วมหรือพันธมิตรใหม่ยังไม่ได้ประกาศรวมดินแดนกับจีน  หากแต่การเข้ามาของจีนและความใกล้ชิดที่มีมาแต่เดิม  กำลังทำให้พื้นที่ชายแดนจีน-พม่า  เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่า “รัฐเงา” ขึ้น  ซึ่งมิได้เป็นการแบ่งแยกดินแดนโดยใช้กฎหมายหรือการยอมรับระหว่างประเทศ  หากแต่กำลังสร้างกระบวนการรัฐซ้อนรัฐให้เกิดขึ้น  ซึ่งในระยะต้นก็สามารถสร้างกำลังการเจรจาได้ค่อนข้างสูง คำถามสำคัญในอนาคตคือ ฝ่ายรัฐพม่าจะจัดการหรือสลายกระบวนการสร้างรัฐเงาด้วยวิธีการอันใด  และมีแนวโน้มก่อให้เกิดความขัดแย้งกับจีนด้วยหรือไม่  จะกลายเป็นประเด็นสำคัญ ประการที่สี่ ท่าทีที่ใกล้ชิดระหว่างจีน กลุ่มว้า และพันธมิตรภาคเหนือนั้น กำลังดึงดูดใจให้กลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เข้าร่วมเพิ่มเติมอีกด้วย  คำถามที่ตามมาคือ  หากมีการเจรจาและยอมรับข้อเสนอทั้งจากฝ่ายกลุ่มพันธมิตรภาคเหนือและฝ่ายรัฐพม่าแล้ว  กลุ่มที่เคยลงนามข้อตกลงหยุดยิงจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด  โดยเฉพาะการจัดสรรผลประโยชน์และการจัดการพื้นที่ในเขตยึดครองในเขตรัฐฉานเป็นต้น  ทั้งนี้ข้อเสนอที่น่ากังวลคือการเรียกร้องให้มีการจัดตั้งรัฐใหม่เพิ่มเติมในเขตรัฐฉานเดิม ซึ่งมีความสุ่มเสี่ยงก่อให้เกิดความขัดแย้งอื่นตามมาอีกมากมาย ด้วยเหตุฉะนี้  การประชุมปางโหลงในศตวรรษที่ 21  ครั้งที่ 2 ที่กำลังจะเกิดขึ้น  ซึ่งในขณะที่เขียนบทความนี้คือ วันที่ 20 พฤษภาคม  ซึ่งเหลืออีก ประมาณ 3 วันก่อนการประชุมจะเริ่มต้น  การเจรจาต่อรองจะทวีความเข้มข้นในหลายลักษณะและอาจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา  กล่าวได้ว่า  การประชุมในเวทีใหญ่นั้นคือการประชุมในลักษณะพิธีกรรม  หากแต่การประชุมเวทีย่อยและการพบปะนอกรอบจะกลายเป็นพื้นที่ต่อรองที่สำคัญ ท้ายที่สุดแล้ว สถานการณ์การเจรจาสันติภาพของพม่า หากเปรียบเปรยแล้วก็ประหนึ่งว่า  “กรุงโรมมิได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันใด  สันติภาพในพม่าก็ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียวฉันนั้น”  นั่นเอง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image