คอลัมน์ Think Tank: ‘แข่งสะสมอาวุธนิวเคลียร์’ ในเอเชียตะวันออก

AFP PHOTO / KCNA VIA KNS / STR

เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลสหรัฐอเมริกาภายใต้การนำของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ กลัวว่าจะมีการแข่งขันในการสะสมอาวุธนิวเคลียร์ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก หากเกาหลีเหนือที่เริ่มมีพฤติกรรมก้าวร้าวมากยิ่งขึ้นไม่ได้รับการควบคุมป้องปราม

เกาหลีเหนือทดสอบขีปนาวุธเป็นชุดๆ ในปีนี้ รวมถึงจรวดนำวิถีพิสัยกลางฮวางซอง-12 ในช่วงเดือนพฤษภาคม ที่เกาหลีเหนือกล่าวอ้างว่ามีความสามารถในการติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ “ขนาดใหญ่” ได้ เป็นการสุมเชื้อไฟแห่งความตึงเครียดในภูมิภาคให้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ เกาหลีเหนือยังทดสอบหัวรบนิวเคลียร์อีก 2 ครั้ง นับตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว โดยยืนยันว่าพวกเขาจำเป็นต้องมีอาวุธนิวเคลียร์เพื่อป้องกันตัวจากการถูกรุกราน

สหรัฐเป็นกังวลว่า หากคิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือไม่ถูกหยุดยั้ง ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นและเกาหลีใต้จำเป็นจะต้องสร้างสมรรถนะทางนิวเคลียร์ของตนขึ้นมาเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกันตนเอง

Advertisement

ผู้ที่เปิดเผยเรื่องนี้คือจูลี บิช็อป รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลีย โดยเธอระบุกับหนังสือพิมพ์ ดิ ออสเตรเลียนว่า ได้รับการบอกเล่าเรื่องนี้ระหว่างการพบปะหารือกับนิกกี เฮลีย์ ทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่สำนักงานใหญ่ของยูเอ็นในนครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“ในการหารือกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทั้งเกาหลีใต้และสหรัฐ มุมมองต่อเรื่องนี้คือ หากเกาหลีเหนือได้รับการพิจารณาว่าเป็น ‘รัฐที่ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์’ เมื่อนั้น ญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้จะแทบไม่เหลือทางเลือกอื่นนอกเสียจากจะต้องพัฒนาสมรรถนะด้านอาวุธนิวเคลียร์ของตนเอง” บิช็อปกล่าว

“นี่เป็นสาเหตุว่า ทำไมจึงต้องมีท่าทีแข็งกร้าวว่าเกาหลีเหนือจะต้องถูกปฏิเสธการครอบครองสมรรถนะทางนิวเคลียร์”

ในระหว่างการหาเสียงเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์พูดถึงความเป็นไปได้ในการให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ติดอาวุธนิวเคลียร์ให้ตนเอง ที่เป็นประเด็นอ่อนไหวอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่เคยถูกโจมตีด้วยอาวุธนิวเคลียร์ แต่หลังจากนั้นทรัมป์ได้ถอยห่างออกจากท่าทีเช่นนี้ไป

สหรัฐระบุว่ายินดีที่จะเจรจากับเกาหลีเหนือ หากเกาหลีเหนือหยุดยั้งการทดสอบมิสไซล์และอาวุธนิวเคลียร์ แต่เตือนด้วยว่า การใช้กำลังทหารเข้าแทรงแซงก็เป็นทางเลือกหนึ่งเช่นกัน ส่งผลให้ความกังวลว่าจะเกิดสงครามแผ่ซ่านไปทั่ว

จีนซึ่งเป็นพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญของเกาหลีเหนือดูเหมือนจะอยู่ข้างเดียวกับประชาคมโลก ที่อย่างไรก็ตาม เกาหลีเหนือในปัจจุุบันมีพฤติกรรมที่ก้าวร้าวเป็นปฏิปักษ์มากขึ้น ถึงขนาดไม่แยแสต่อข้อเรียกร้องหรือคำแนะนำของจีน

บิช็อประบุว่าจีนจะต้องเพิ่มมาตรการในการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือในระดับที่ “เปลี่ยนแปลงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเกาหลีเหนือไป”

ซึ่งจะทำให้เกาหลีเหนือกลับสู่โต๊ะเจรจาได้ในที่สุด

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image