คอลัมน์ Think Tank: เงื่อนไขเรื่องเวลาในการถอนตัวความตกลงปารีส

(แฟ้มภาพ)AFP PHOTO / SAUL LOEB

วันที่เร็วที่สุดเท่าที่เป็นไปได้สำหรับสหรัฐอเมริกาในการถอนตัวออกจากความตกลงปารีสอย่างเป็นทางการ คือ 1 วันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป

เงื่อนไขเรื่องเวลาดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคสำหรับประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการถอนตัวออกจากข้อตกลงต่อสู้โลกร้อนที่มี 196 ชาติร่วมลงนาม

ในถ้อยคำของข้อตกลงที่เห็นพ้องกันได้ด้วยความยากลำบากระบุว่า ประเทศที่ต้องการถอนตัวต้องแจ้งความจำนงเป็นลายลักษณ์อักษร “3 ปีหลังข้อตกลงมีผลบังคับใช้” ซึ่งตรงกับเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2016
ที่หมายความว่า วันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 เป็นวันที่เร็วที่สุด หากทรัมป์จะทำตามที่ประกาศเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนว่า สหรัฐจะถอนตัวออกมา

การถอนตัวจะมีผลอย่างเป็นทางการ 1 ปีหลังจากนั้น คือในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2020 หนึ่งวันหลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐครั้งต่อไป ทำให้มีช่องว่างน้อยมากสำหรับการแทรกแซงหากประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่เห็นพ้องกับความตกลงปารีส เนื่องจากวาระการดำรงตำแหน่งสมัยแรกของทรัมป์จะสิ้นสุดลงอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2021

Advertisement

ริชาร์ด ไคลน์ แห่งสถาบันสิ่งแวดล้อมสตอกโฮล์ม ย้ำว่า “แม้ทรัมป์จะประกาศเช่นนั้น แต่สหรัฐไม่สามารถถอนตัวออกจากความตกลงปารีสได้ในทันที”

แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐอาจเลือกที่จะถอนตัวออกจากการเจรจาด้านสภาพอากาศทั้งหมด และเพียงแค่เมินเฉยต่อพันธกรณีที่ฝ่ายบริหารชุดก่อนหน้านี้ให้สัญญาไว้

ทางเลือกอื่นที่เป็นไปได้คือการถอนตัวออกจากกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ยูเอ็นเอฟซีซีซี) ปี 1992 ที่เป็นกรอบในการเจรจาบรรลุข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งจะมีผลทันที 1 ปีหลังแจ้งความจำนงอย่างเป็นทางการ และสามารถเริ่มต้นกระบวนการได้ตลอดเวลา

Advertisement

อย่างไรก็ตาม ทรัมป์ไม่ได้ชี้ว่า เขาตั้งใจที่จะเลือกเส้นทางนี้ แต่บอกว่าต้องการที่จะเจรจาข้อตกลงฉบับใหม่หรือเพื่อให้ได้รับเงื่อนไขที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นการบอกเป็นนัยว่า เขาตั้งใจที่จะอยู่ในยูเอ็นเอฟซีซีซีต่อไป โดยมีเพียงแค่ชาติภาคีเท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมการเจรจาได้

แต่หากจะทำเช่นนั้น ทรัมป์ต้องโน้มน้าวพันธมิตรทั้งที่เป็นรัฐบาลและเอกชนกว่า 200 ราย ที่สหรัฐได้ร่วมต่อสู้และเจรจาต่อรองมาอย่างยากลำบากเป็นเวลานานกว่า 2 ทศวรรษเพื่อให้บรรลุข้อตกลงปารีสเมื่อปี 2015
ทรัมป์บอกว่า สหรัฐจะหยุด “กระบวนการนำไปปฏิบัติให้บรรลุผลสำเร็จ” ทั้งหมดของข้อตกลง

ข้อตกลงดังกล่าวที่ตั้งเป้าจำกัดการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน เป็นพันธกรณีที่มีข้อผูกมัดภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตาม สหรัฐยืนยันว่าคำมั่นสัญญาที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมาย ไม่ถูกผูกมัดไปด้วย

ทรัมป์บอกว่า สหรัฐจะไม่ทำตามคำมั่นสัญญาในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน หรือการให้เงินสนับสนุนต่อสู้โลกร้อนอันเป็นพันธกรณีที่มีขึ้นในสมัยอดีตประธานาธิบดีบารัค โอบามา

ซึ่งอาร์โนด์ กูสมองต์ นักกฎหมายสิ่งแวดล้อมชาวฝรั่งเศสระบุว่า การเมินเฉยต่อข้อตกลงระดับนานาชาติของชาติที่ลงนามในสัญญาถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image