คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อนาคต ‘เบร็กซิท’ หลังเลือกตั้ง ‘พลิกล็อค’

AFP PHOTO / POOL / Dan Kitwood

สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษหลังผลการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 8 มิถุนายน ปรากฏออกมาชัดเจนนั้นทั้งน่าสนใจและชวนให้วิตก

น่าสนใจเพราะว่า แทนที่ เทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ จะนำพาพรรคอนุรักษ์นิยม ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดอย่างที่คาดหวังไว้ในตอนประกาศให้มีการเลือกตั้ง กลับกลายเป็นว่า จากเดิมที่เคยมีคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งอยู่เล็กน้อยที่ 331 เสียง พรรคอนุรักษ์นิยมกลับสูญเสียที่นั่งเพิ่มมากขึ้นไปอีก หลงเหลือที่นั่งส.ส.ในสภาเพียง 318 เสียงไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำไป

สภาผู้แทนราษฎรอังกฤษตกอยู่ในสภาพที่ไม่มีพรรคไหนครองเสียงข้างมาก สภาพที่ศัพท์การเมืองเรียกว่า “ฮังก์ พาร์เลียเมนท์” ที่แปลความได้ตรงๆว่า “สภาฯถูกแขวน” นั่นเอง

ที่ชวนให้วิตกสำหรับคนภายนอกที่ลุ้นเสถียรภาพทางการเมืองในลอนดอน สืบเนื่องจาก สภาพสภาฯถูกแขวนเช่นนี้ ไม่เพียงส่งผลให้กระบวนการเจรจาเพื่อนำอังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) หรือที่เรียกว่า “เบร็กซิท” ต้องเนิ่นช้าออกไปอีกเท่านั้น ยังส่งผลให้กระบวนการ “เบร็กซิท” ซับซ้อนและไม่แน่นอนมากยิ่งขึ้นอีกมากมายด้วย

Advertisement

เบื้องต้น กำหนดเริ่มต้นการเจรจาเบร็กซิท ที่เดิมกำหนดไว้ในอีก 10 วันหลังจากปรากฏผลการเลือกตั้งคือในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ จำเป็นต้องเลื่อนออกไปอีก เพื่อให้เวลาสำหรับอังกฤษได้สะสางการเมืองภายในให้ลงตัวเบ็ดเสร็จเสียก่อน การเจรจาไม่สามารถเริ่มได้ในสภาพที่รัฐบาลอังกฤษมีสถานะเป็นเพียง รัฐบาลรักษาการชั่วคราว อย่างที่เป็นอยู่แน่นอน

คำถามในยามนี้จึงมุ่งตรงไปที่การเมืองภายในของอังกฤษว่า หลังจากตกอยู่ในสภาพไม่มีใครชนะเช่นนี้แล้วจะขยับขับเคลื่อนต่อไปข้างหน้าได้ในรูปแบบใดกันบ้าง และในแต่ละรูปแบบจะส่งผลให้การเจรจาเบร็กซิทลงเอยในรูปแบบใด

ใครจะมาได้ดำรงตำแหน่งผู้นำอังกฤษคนต่อไปกันแน่ ระหว่าง “เทเรซา เมย์” กับ “เจเรมี คอร์บิน” ผู้นำพรรคแรงงาน พรรคฝ่ายค้านที่ครองที่นั่งในสภามากเป็นลำดับที่ 2 และมีสิทธิเช่นเดียวกันที่จะจัดตั้งรัฐบาล

Advertisement

รัฐบาลอังกฤษชุดต่อไป จะกลายเป็นรัฐบาลผสม หรือรัฐบาลเสียงข้างน้อยกันแน่?

 

 

 

ตามกฎหมายเลือกตั้งของอังกฤษ พรรคการเมืองที่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้โดยปกติแล้วต้องเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง “อย่างน้อยที่สุด” 326 เสียง ซึ่งเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนส.ส.ทั้งสภา 650 เสียงอยู่ 1 เสียง แต่ในทางปฏิบัติที่ผ่านมา จำนวนที่นั่งส.ส.น้อยที่สุดที่จะได้เสียงข้างมากดังกล่าวถูกลดระดับลงมาเหลือเพียง 323 เสียง

นั่นสืบเนื่องจาก พรรค ซินน์ เฟน พรรคการเมืองชาตินิยมของไอร์แลนด์เหนือใช้วิธีที่เรียกว่า “แอ็บสเตนชันนิสม์” เพื่อแสดงออกถึงการ “ไม่ร่วมสังฆกรรม” กับระบอบการปกครองของอังกฤษ แต่ไม่บอยคอตการเลือกตั้ง กลับใช้วิธีไม่ให้ส.ส.เข้ามามีบทบาทในสภาแทน

ตามกฎหมายอีกเหมือนกัน เทเรซา เมย์ ในฐานะที่เป็นรัฐบาลอยู่แต่เดิมจะได้สิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลก่อน และรัฐบาลเดิมจะทำหน้าที่ต่อไปโดยมีอำนาจเต็ม จนกว่ารัฐบาลใหม่จะถูกจัดตั้งขึ้นมาเรียกร้อยแล้ว แต่ในทางปฏิบัติที่ยึดถือกันเป็นขนบทางการเมือง ก็คือ รัฐบาล “ถูกคาดหวังว่า” จะหลีกเลี่ยงไม่ดำเนินการ หรือตัดสินใจเรื่อง “สำคัญๆ” ใดๆ

ในอดีตที่ผ่านมา เกิดสภาพ “ฮังก์ พาร์เลียเมนท์” ขึ้นหลายครั้งในอังกฤษ หลังสุดก็คือหลังการเลือกตั้งเมื่อปี 2010 ที่ เดวิด คาเมรอน จำเป็นต้องจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเสรีประชาธิปไตยเพื่อให้มีคะแนนเสียงข้างมากเพียงพอในการดำเนินการของรัฐบาล

ดังนั้น ทางออกของ เทเรซา เมย์ ในเวลานี้ มีให้เลือกอยู่น้อยมาก ทางหนึ่งก็คือ ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย อีกทางหนึ่งก็คือ พยายามแสวงหาความร่วมมือจากพรรคเล็ก แล้วจัดตั้งรัฐบาลผสม

ไม่เช่นนั้น นายกรัฐมนตรีเมย์ ก็ต้องปล่อยให้พรรคแรงงานที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย หรือหนทางสุดท้าย ก็คือ ประกาศให้มีการเลือกตั้งใหม่ ซึ่งตามกฎหมายแล้วการเลือกตั้งใหม่ดังกล่าวจำเป็นต้องมีขึ้นภายใน 18 เดือน

พิจารณาจากคำให้สัมภาษณ์เน้นถึงความสำคัญของ “ช่วงเวลาทีมีเสถียรภาพ” ว่าเป็นสิ่งที่อังกฤษจำเป็นต้องมี หลังทราบผลเบื้องต้นว่าพรรคไม่ได้รับเสียงข้างมากแน่นอนแล้ว นักสังเกตการณ์เชื่อว่า เทเรซา เมย์ กำลัง “ส่งสัญญาณ” ถึงการจัดตั้ง “รัฐบาลเสียงข้างน้อย” ขึ้นโดยยังคง “แสดงความรับผิดชอบ” ด้วยการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป

การเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยดังกล่าวนี้ จำเป็นต้องพึ่งพาเสียงสนับสนุนจากสมาชิกพรรคอื่นๆในสภาผู้แทนราษฎร ในทีละประเด็น ทีละเรื่อง ซึ่งจะกลายเป็นด่านทดสอบสำคัญอย่างมากว่า นายกรัฐมนตรี จะสามารถโน้มน้าวสมาชิกสภาจากพรรคอื่นๆให้สนับสนุนประเด็นต่างๆที่หาเสียงเอาไว้ได้หรือไม่

พรรคอนุรักษ์นิยม และตัวนายกรัฐมนตรีเมย์เอง มีจุดยืนเรื่องเบร็กซิทที่ชัดเจนและแน่วแน่ เรียกได้ว่าอยู่ในระดับ “แข็งกร้าว” ได้เลยทีเดียว เทเรซา เมย์ ย้ำหลายครั้งว่า ไม่เพียงจะทำ “เบร็กซิท” ให้ได้เท่านั้น ยังยินยอมที่จะ “ไม่มีความตกลงใดๆ” กับอียูดีกว่าจะอ่อนข้อทำความตกลงตามแรงบีบบังคับของคู่เจรจา

จุดยืนเรื่องเบร็กซิทดังกล่าวนี้ ส่งผลให้พรรคอนุรักษ์ค่อนข้าง “โดดเดี่ยว” ในสภา ที่มีจุดยืนที่แตกต่างและหลากหลายออกไปจากจุดยืนที่เทเรซา เมย์ ยึดถือไม่น้อย

“เบร็กซิท” ไม่ได้เป็นเรื่องเดียวที่หลายพรรคในสภาอังกฤษไม่เห็นด้วยกับรัฐบาล แม้นโนยายภายในประเทศของเมย์เอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้มงวดงบประมาณรายจ่าย ด้วยการตัดงบฯด้านประกันสังคมและการศึกษา ถูกต่อต้านอย่างหนัก และยิ่งส่งผลให้การจัดตั้งรัฐบาลผสมแทบเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้

ในการเลือกตั้งครั้งนี้ พรรคร่วมรัฐบาลผสมของเมย์ในเวลานี้ อย่างพรรคเสรีประชาธิปไตย มีที่นั่งส.ส.ในสภาเพียง 12 ที่นั่ง ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ พรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นพรรคนิยมอียู ค้านเบร็กซิทสุดตัว

ด้วยเหตุนี้จึงหลงเหลือพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวเท่านั้นที่พอจะเข้าร่วมเป็นรัฐบาลผสมได้ นั่นคือพรรคสหประชาธิปไตย แต่มีคะแนนเสียงเพียง 10 เสียงเท่านั้น

การจัดตั้งรัฐบาลผสมที่มีเสียงเกินครึ่งเพียง 2 เสียง คือ 328 เสียงนั้น แทบไม่ต่างอะไรกับการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย เกิดความสุ่มเสี่ยงพอๆกัน ในการผลักดันกฎหมายแต่ละฉบับ แต่ละเรื่องเข้าสู่สภา

เทเรซา เมย์ จะเสี่ยงไปทางไหนก็ตกอยู่ในสภาพใกล้เคียงกัน และสภาพดังกล่าว ไม่เป็นผลดีต่อ “อำนาจต่อรอง” ของอังกฤษในการเจรจาเบร็กซิทแน่นอน

 

 

สภาพ “ถูกแขวน” ของสภาอังกฤษ กลับส่งผลในทางดีต่อ “เจเรมี คอร์บิน” ผู้นำพรรคแรงงานอย่างเหลือเชื่อ เพราะถึงแม้พรรคแรงงานจะได้ที่นั่งส.ส.เพิ่มขึ้นมาไม่มากนักอยู่ที่ 261 ที่นั่ง แต่แนวนโยบายของพรรคแรงงานทั้งในกรณี เบร็กซิท และในเรื่องของการเมืองภายใน กลับใกล้ชิดกับแนวทางของพรรคเล็กในสภามากกว่าพรรคอนุรักษ์นิยมมาก

หาก เทเรซา เมย์ ตัดสินใจไม่จัดตั้งรัฐบาลผสม และไม่จัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อย ผู้สันทัดกรณีการเมืองอังกฤษเชื่อว่า เจเรมี คอร์บิน อาจตัดสินใจจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยขึ้นปกครองประเทศแทน

ในกรณีเบร็กซิท คอร์บิน ประกาศยอมรับและยึดมั่นในผลการลงประชามติเรื่องสภาพชิกภาพอียูของอังกฤษเมื่อปีที่แล้ว ที่ 52 เปอร์เซ็นต์ให้ถอนตัวออกจากอียู อีก 48 เปอร์เซ็นต์ให้คงสมาชิกภาพไว้กับอียู

แต่แนวทางการถอนตัวออกจากอียูของพรรคแรงงาน “ประนีประนอม” กว่าแนวทางของ เทเรซา เมย์ มาก ซึ่งส่งผลให้พรรคเเรงงานสามารถ “ร่วมมือ” กับพรรคเสรีประชาธิปไตยได้โดยง่าย เช่นเดียวกับการแสวงหาความร่วมมือกับพรรคชาตินิยมสก็อต ที่นิยมสหภาพยุโรป ซึ่งมีคะแนนเสียงในสภาจากการเลือกตั้งครั้งนี้ถึง 35 เสียง

มีแนวโน้มที่ชี้ให้เห็นว่า หากพรรคแรงงานสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้ การจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการเจรจาเบร็กซิทของ รัฐบาลเทเรซา เมย์ จะถูกฉีกทิ้ง และจัดทำกรอบการเจรจาใหม่ให้น้ำหนักสำคัญไปที่การรักษาผลประโยชน์ของอังกฤษใน “ตลาดร่วมยุโรป” และ “สหภาพศุลกากร” ของยุโรปต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้การเจรจามีแนวทางประนีประนอมผ่อนปรนมากขึ้น

ในเวลาเดียวกันพรรคแรงงาน สัญญาจะใช้ “รัฐสภา” เป็นแหล่งสำคัญในการหารือ “อย่างใกล้ชิด” ตลอดการเจรจา และพร้อมที่จะยินยอมให้สภา “สามารถลงมติที่มีความหมาย” ว่าควรยอมรับหรือไม่ยอมรับ “ข้อตกลงสุดท้าย” ในเรื่องเบร็กซิทได้

นั่นหมายถึงว่า รัฐสภา จะมีอำนาจหรือมีสิทธิมีเสียงพอในการส่งตัวแทนของอังกฤษกลับไปเจรจาใหม่ “เพื่อให้ได้ความตกลงที่ดีขึ้น” กว่าเดิมได้ หรือไม่ก็มีสิทธิที่จะลงมติ “ยับยั้ง” กระบวนการเจรจาเบร็กซิททั้งหมดเลยก็เป็นได้

นอกเหนือจากเรื่องเบร็กซิท พรรคแรงงานมีแผนที่จะขึ้นภาษี “คนรวยที่สุด 5 เปอร์เซ็นต์แรกของอังกฤษ” พร้อมๆกับการเรียกเก็บภาษีจากบริษัทขนาดใหญ่เพิ่มมากขึ้น เพิ่มงบประมาณรายจ่ายสำหรับการศึกษา สาธารณสุขและงบประมาณของตำรวจ ซึ่งเป็นประเด็นนโยบายที่สอดคล้องเหมาะเจาะกับพรรคชาตินิยมสกอตของนาง นิโคลา สเตอร์เจียน

ผู้สันทัดกรณีชี้ว่า ในสภาพที่แนวโนยายของพรรคเล็กหลายๆพรรคสอดคล้องกับนโยบายของพรรคแรงงานมากกว่าของพรรคอนุรักษ์นิยม ทำให้โอกาสที่ เจเรมี คอร์บิน จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของอังกฤษ ก็มีไม่น้อย อย่างน้อยที่สุดก็ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันอีกต่อไป

แม้ว่าจะส่งผลให้การเจรจาเบร็กซิท ยิ่งยากที่จะคาดเดาผลลัพธ์มากยิ่งขึ้นกว่าเดิมก็ตามที

 

 

ในทัศนะจากฝั่งยุโรป สถานการณ์ทางการเมืองในอังกฤษในเวลานี้ นอกจากจะทำให้การเจรจาตามกระบวนการเบร็กซิทล่าช้าแล้วยังเสี่ยงต่อการทำให้การเจรจาล้มเหลวอีกด้วย

กุนเธอร์ ออททิงเกอร์ สมาชิกคณะกรรมาธิการยุโรปชาวเยอรมัน ยอมรับว่า การมีรัฐบาลอังกฤษที่มีเสถียรภาพ มีความเข้มแข็ง จะส่งผลให้การเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ราบรื่นและแน่นอนกว่าการเจรจากับคู่เจรจา “ที่ไม่สามารถทำตามที่พูดได้” แน่นอน

การเจรจาโดยที่คู่เจรจาต่อรอง อ่อนแอ ไม่สามารถดำเนินการในด้านของตัวเองได้ตามที่รับปากไว้ ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ผลการเจรจาออกมาในแบบที่ “ไม่เป็นผลดีกับทั้งสองฝ่าย”

น่าเสียดายที่สภาพในเวลานี้ จะยิ่งทำให้เกิด “ความไม่แน่นอน” มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ในเวลาเดียวกันตัวแทนของชาติสมาชิกยุโรปหลายชาติ ชี้ด้วยว่า รัฐบาลอังกฤษ เริ่มต้นกระบวนการเบร็กซิทไว้อย่างเป็นทางการแล้ว

นั่นหมายถึงว่า กำหนดการเจรจาต่อรองที่ต้องแล้วเสร็จภายในปี 2019 นั้น คือ “สิ่งที่กำหนดไว้ในสนธิสัญญา”

เป็น “กฎหมาย” ไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกต่อไปแล้วสำหรับอังกฤษ

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image