คอลัมน์ Think Tank: คนอังกฤษปฏิเสธ ‘ฮาร์ดเบร็กซิท’

AFP PHOTO / Daniel LEAL-OLIVAS

จากที่การเจรจาออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) ของอังกฤษหรือเบร็กซิทมีกำหนดจะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์หน้า ผลเลือกตั้งอังกฤษที่น่าตกตะลึงอาจส่งผลให้รัฐบาลต้องใช้ยุทธศาสตร์ที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น หากว่าสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ทันกำหนดเวลาเริ่มต้นเจรจากับทางอียู

อังกฤษอาจตกอยู่ในความไม่แน่นอนเป็นเวลาหลายสัปดาห์ ในช่วงที่เทเรซา เมย์ พยายามจัดตั้งรัฐบาล หลังจากพรรคอนุรักษนิยมของเธอสูญเสียเสียงข้างมากในสภาไป ทำให้ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งระบุว่า แผนการที่จะเริ่มต้นเจรจาเรื่องเบร็กซิทในวันที่ 19 มิถุนายน อาจต้องถูกเลื่อนออกไป

และเมื่อการเจรจาเริ่มต้นขึ้น อาจจะมีวิธีการที่แตกต่างไปจาก “ฮาร์ดเบร็กซิท” ที่เป็นแนวทางที่เมย์ต้องการ ซึ่งหมายถึงการออกจากตลาดร่วมยุโรปและควบคุมผู้อพยพจากชาติยุโรปอื่นๆ

“สิ่งที่อังกฤษร้องขอจะค่อนข้างไม่แข็งกร้าวอย่างที่เคยประกาศไว้ก่อนหน้านี้ เราอาจจะได้เห็นจุดยืนที่ผ่อนปรนมากขึ้นหลังผลการเลือกตั้งออกมาเป็นเช่นนี้” ไซมอน ฮิกซ์ ศาสตราจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์ลอนดอน (แอลเอสอี) บอก

Advertisement

ด้านพอล เคลลี จากแอลเอสอีเช่นเดียวกัน บอกว่าผลเลือกตั้งที่ออกมาทำให้เมย์อ่อนแอลงในการต่อรองกับทางอียู ที่เธอมีกำหนดต้องเข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอียูที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ในวันที่ 22 และ 23 มิถุนายนนี้

“อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี และเอ็มมานูแอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศสรวมถึงทุกๆ คนสังเกตเห็นเรื่องนี้อย่างแน่นอน และนั่นทำให้พลวัตเปลี่ยนแปลงไป” เคลลีกล่าว และว่า “เมย์จะเข้าร่วมประชุมและขอในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งในตอนนี้บรรดาผู้นำอียูสามารถพูดได้ว่า เราจะดูก่อนว่านั่นทำได้หรือไม่”

ด้านพอลลา เซอร์ริดจ์ ศาสตราจารย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยบริสตอล ระบุว่า จำเป็นจะต้องยืดเวลาออกไปก่อนที่จะเริ่มต้นการเจรจาครั้งแรก โดยกล่าวว่า “ข้อเสนอที่จะขยายเวลาก่อนการเจรจาออกไปเป็นเรื่องสำคัญมาก”

Advertisement

หนึ่งในผลการเลือกตั้งที่น่าประหลาดใจเมื่อวันที่ 9 มิถุนายนที่ผ่านมา คือเสียงสนับสนุนพรรคแรงงานที่เพิ่มมากขึ้นในกรุงลอนดอน ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนการเป็นสมาชิกอียูต่อไปในการลงประชามติเมื่อปีที่แล้วเช่นเดียวกับคะแนนนิยมต่อพรรคเสรีประชาธิปไตย ที่มีแนวคิดนิยมยุโรป

จีนา มิลเลอร์ แกนนำฝั่ง “รีเมน” หรืออยู่ต่อกับอียูในการลงประชามติเบร็กซิท ระบุว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาเป็นสัญญาณว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งปฏิเสธจุดยืนในเรื่อง “ฮาร์ดเบร็กซิท” ของเมย์ โดยเธอบอกว่า “ฉันคิดว่าการเจรจาเบร็กซิทจำเป็นต้องใช้วิธีการที่ต่างออกไปจากเดิม”

ขณะที่อลิสแตร์ แคมป์เบลล์ รัฐมนตรีแรงงานในสมัยของอดีตนายกรัฐมนตรีโทนี แบลร์ บอกว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการปฏิเสธเทเรซา เมย์ และฮาร์ดเบร็กซิท

เป็นการเลือกตั้งที่ผู้ลงคะแนนแสดงความต้องการว่าสิ่งหนึ่ง (คือเมย์) ต้องไป และอีกสิ่งหนึ่ง (ฮาร์ดเบร็กซิท) จำต้องได้รับการทบทวนใหม่

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image