คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ‘ไอเอส เอเมียร์’ แห่งอุษาคเนย์

อิสนิลอน ฮาปิลอน (ที่ 2 จากซ้าย) กับ อับดุลเลาะห์ เมาว์เต (ขวาสุด) ระหว่างการร่วมวางแผนปฏิบัติการ (ภาพ-AFP)

“ศึกมาราวี” ระหว่างกองทัพฟิลิปปินส์ (เอเอฟพี) ฝ่ายหนึ่ง กับกองกำลังติดอาวุธมุสลิมที่เรียกตัวเองว่ากลุ่ม “เมาว์เต” ยืดเยื้อมานานกว่าเดือน มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบกันกลางเมืองครั้งนี้แล้วร่วม 400 คน ชาวเมืองมาราวีไม่น้อยกว่า 330,000 คนจำเป็นต้องอพยพออกจากบ้านเรือนที่พักอาศัย

ในขณะที่อีกไม่น้อยกว่า 16,000 คนยังคงพลัดหลงอยู่ภายในเมืองท่ามกลางห่ากระสุนและระเบิด กว่า 1,500 คนในจำนวนนั้นกลายเป็นตัวประกัน ตกอยู่ในสภาพเป็น “โล่มนุษย์” ของกองกำลังเมาว์เต

จนถึงขณะนี้ กองทัพฟิลิปปินส์ ยอมรับว่า ยังไม่แน่ใจว่าเหตุการณ์สู้รบที่เป็นประหนึ่งสงครามกลางเมืองย่อยๆ ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แต่แน่ใจได้ประการหนึ่งว่า ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดน่าจะเพิ่มสูงขึ้นกว่านี้มาก หากกองทหารสามารถยึดมาราวีคืนมาและเข้าไปเคลียร์พื้นที่ได้กระจ่างชัด

Advertisement

น่าสนใจอย่างยิ่งตรงที่ เหตุการณ์นองเลือดคาราคาซังครั้งนี้มีสาเหตุมาจากบุคคลเพียงคนเดียว คือ “อิสนิลอน ฮาปิลอน” หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธ “อาบู ไซยัฟ” (เอเอสจี)

ชื่อเต็มๆของเขาคือ “อิสนิลอน ทอตโทนี ฮาปิลอน” คนที่ไม่เพียงถูกทางการฟิลิปปินส์หมายหัวเอาไว้เท่านั้น ยังเป็น “อาชญากร-ผู้ก่อการร้าย” ระหว่างประเทศที่มีค่าหัวติดตัว กระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกาประกาศจะให้รางวัลสูงถึง 5 ล้านดอลลาร์ หรือราว 170 ล้านบาท ต่อผู้ที่ให้เบาะแสอันนำไปสู่การจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้สำเร็จ

นั่นเป็นค่าหัวก่อนที่ กองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอสหรือไอซิส) จะประกาศสถาปนาเขาขึ้นเป็น “เอเมียร์แห่งอุษาคเนย์” เมื่อปีที่ผ่านมาด้วยซ้ำไป

Advertisement

กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา กองทัพฟิลิปปินส์เปิดปฏิบัติการ “ล่าสังหาร” อิสนิลอน ในพื้นที่ตอนเหนือของเกาะมินดาเนา เป้าหมายคือ “จับเป็นหรือไม่ก็จับตาย” แกนนำก่อการร้ายระดับภูมิภาครายนี้

การไล่ล่ากระชั้นมากขึ้นตามลำดับ ถึงขนาดที่กองทหารฟิลิปปินส์สามารถ “ปิดล้อม” อิสนิลอนกับพวกไว้ในพื้นที่จังหวัดมาราวี ทางตอนเหนือของเกาะมินดาเนา เกาะใต้สุดของประเทศ

เมื่อจวนตัวมากเข้า อิสนิลอน มีคำสั่ง “ระดมกำลัง” ฉุกเฉิน เรียกกองกำลังติดอาวุธของ 2 พี่น้องตระกูล เมาว์เต หัวหน้ากลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่มาราวี ซึ่งเป็นหนึ่งในกองกำลังติดอาวุธมุสลิมหัวรุนแรงหลายสิบกลุ่มในภูมิภาคที่ประกาศตัวเป็นส่วนหนึ่งในเครือ ไอเอส เข้ามาเป็นกองหนุน

23 พฤษภาคม กองกำลังเมาว์เตหลายร้อยหรืออาจจะเป็นเรือนพัน หลั่งไหลเข้ามาในตัวเมือง ยึดอาคารโรงเรียนแห่งหนึ่งเป็นฐาน อาคารของทางการที่ยึดไม่ได้ก็จุดไฟเผา ถล่มเรือนจำ ปล่อยตัวนักโทษ ที่ส่วนหนึ่งได้รับอาวุธให้ร่วมรบกับกองทหารฟิลิปปินส์ จับพลเรือนส่วนหนึ่งเป็นตัวประกัน หอสูงของมัสยิดถูกยึดเป็นฐานปฏิบัติการของสไนเปอร์

สงครามจรยุทธใจกลางเมืองเริ่มต้นขึ้นเมื่อกองทัพฟิลิปปินส์ส่งกำลังเข้ามาเสริม หนุนหลังด้วยการโจมตีทางอากาศ ที่ทำให้มาราวี กลายเป็นซากปรักหักพัง ไม่ต่างจากหลายเมืองในซีเรีย
นั่นคือปฐมเหตุของ “ศึกมาราวี” ที่ยังคงดำเนินอยู่ในเวลานี้

 

 

เป็นความจริงที่ว่า มินดาเนา เกาะทางใต้ของฟิลิปปินส์พื้นที่เดียวของประเทศที่มีประชากรกลุ่มใหญ่ที่นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีพรมแดนทางทะเลเชื่อมต่อระหว่าง 3 ประเทศ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ที่ยากต่อการตรวจตราให้เข้มงวด ทำให้เต็มไปด้วยกลุ่มอาชญากรและกลุ่มก่อการร้าย หรือแม้แต่กองกำลังกบฏแบ่งแยกดินแดนมาเนิ่นนานเต็มที

มินดาเนาเป็นที่ขึ้นชื่อลือชาเรื่องเหตุรุนแรงต่างๆ ที่เกิดจากกองกำลังติดอาวุธหลากหลายมาตั้งแต่ ทศวรรษ 1970

เหตุการณ์ตั้งแต่การลอบวางระเบิด การลักพาตัวเรียกค่าไถ่ เรื่อยไปจนถึงอาชญากรรมร้ายแรงอื่นๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้คนในท้องที่มากมายนัก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับมาราวี แตกต่างออกไป

การสู้รบที่มาราวี ไม่เพียงสะท้อนให้เห็นถึงการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อน มีการนำที่ชัดเจนเท่านั้น ยุทธวิธีที่ใช้ ซึ่งส่งผลให้การยึดเมืองยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้ ก็แตกต่างออกไปจากที่เคยพบเห็นกันมาก่อนหน้านี้

รอมเมล บันเลา ผู้เชี่ยวชาญลัทธิก่อการร้าย จากสถาบันเพื่อการวิจัยสันติภาพ ความรุนแรงและการก่อการร้ายแห่งฟิลิปปินส์ ระบุว่าสถานการณ์ที่มาราวี ถือเป็นครั้งแรกที่แสดงให้เห็นว่ากองกำลังติดอาวุธทั้งหลายเหล่านี้รวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียวได้ภายใต้ร่มธงของ ไอเอส

ซิดนีย์ โจนส์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อนโยบายและการวิเคราะห์ความขัดแย้ง ในอินโดนีเซีย ก็ยอมรับเช่นกันว่า ไม่เคยเห็นการรวมตัวเป็นพันธมิตรเหมือนเช่นครั้งนี้มาก่อน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นก็คือ กองกำลังติดอาวุธที่รวมตัวเข้าด้วยกันนี้ยังแสดงศักยภาพทางทหารในระดับ “ยึดเมือง” หรือสามารถปฏิบัติการรบออกมาได้อย่างเป็นระบบและซับซ้อน ซึ่งเพิ่งได้พบเห็นกันที่มาราวีนี้เช่นเดียวกัน

ข้อมูลของ รอมเมล บันเลา นักวิชาการชาวตากาล็อก ระบุว่าปรากฏการณ์ดังกล่าวในทางหนึ่งเกิดขึ้นจากตัว อิสนิลอน

รอมเมล ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่ได้รับแต่งตั้งให้เป็น “เอเมียร์” หรือ “ผู้ครองรัฐ” ในปี 2016 ที่ผ่านมา อิสนิลอน ใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือนรวบรวมกลุ่มก้อนของกองกำลังติดอาวุธต่างๆเข้ามาอยู่ภายใต้ “ไอเอส” ซึ่งหมายถึงอยู่ภายใต้บัญชาการของตนเองด้วยเช่นกันได้มากถึง 14 กลุ่ม

โจนส์ ชี้ให้เห็นข้อเท็จจริงอีกด้านว่า กลุ่มที่รวมตัวกันอยู่ภายใต้ธงสีดำของไอซิสในเวลานี้นั้น มีความแตกต่างกันสูงมาก ดังนั้นสิ่งที่ทำให้สถานการณ์ในเวลานี้แตกต่างออกไปจากก่อนหน้านี้คือ “อุดมการของไอเอส”
อุดมการว่าด้วย “รัฐอิสลามรัฐเดียวที่ครองอำนาจทั้งโลก” คือสิ่งที่ดึงดูดคนเหล่านี้ให้เข้ามารวมตัวกันเป็นหนึ่งเดียว

ภายใต้การนำของ “เอเมียร์แห่งอุษาคเนย์” อย่าง อิสนิลอน!

 

 

ตามข้อมูลของ สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ของสหรัฐอเมริกา อิสนิลอน เกิดเมื่อ 18 มีนาคม 1966 ที่เขต บูลานา เมืองลาตาวัน บนเกาะบาซิลัน เกาะเล็กๆในหมู่เกาะซูลู ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมินดาเนา
ถ้าเป็นไปตามนั้น ปัจจุบัน อิสนิลอน ซึ่งเอฟบีไอ บอกว่า สำเร็จการศึกษาจากสำนักวิศวกรรมของมหาวิทยาลัยแห่งฟิลิปปินส์ ก็ควรอายุ 51 ปี

อิสนิลอน เข้าร่วมกับกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง นิยมแนวทางญิฮัด อย่างอาบู ไซยัฟ มาตั้งแต่ปี 1997 มีส่วนในปฏิบัติการลักพาตัวเรียกค่าไถ่ ลักพาตัวฝ่ายตรงข้าม เรื่อยไปจนถึงการซุ่มโจมตีทั้งพลเรือนและทหาร มานับตั้งแต่ตอนนั้น จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในแกนนำคนสำคัญของเอเอสจี

ชื่อเสียงในทางร้ายของอิสนิลอน ก้าวกระโดดไปอีกระดับในปี 2001 เมื่อเป็นผู้นำกองกำลังเอเอสจี บุกลักพาตัวพลเรือน 20 คนจาก รีสอร์ท ดอส พัลมาส ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะส่วนตัวของเอกชนในน่านน้ำทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ 17 รายที่กลายเป็นเหยื่อเป็นชาวฟิลิปปินส์ อีก 3 รายเป็นอเมริกัน

วิกฤตจับตัวเรียกค่าไถ่ครั้งนั้นลงเอยด้วยการบุกชิงตัวประกัน ทำให้เหยื่ออย่างน้อย 5 คนเสียชีวิตพร้อมกับทหารฟิลิปปินส์อีกจำนวนหนึ่ง

นั่นคือที่มาของการตั้งข้อหาลับหลัง โดยทางการสหรัฐอเมริกา และนำไปสู่ค่าหัว 5 ล้านดอลลาร์ของอิสนิลอนในอีก 1 ปีต่อมา ฐาน “มีพฤติกรรมอันเป็นการก่อการร้ายต่อผู้ถือสัญชาติอเมริกันและต่างชาติ”

ในประกาศตั้งค่าหัวดังกล่าวของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ระบุไว้ด้วยว่า อิสนิลอน นอกจากจะเป็นที่ “ชื่นชอบ” ของบรรดาสมัครพรรคพวกแล้วคนเหล่านั้นยัง “ศรัทธา” ในความสามารถของ อิสนิลอน อีกด้วย

เดวิด ออทโต นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงและผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อการร้าย พูดถึงอิสนิลอนไว้ว่า เป็นคนมี “บารมี” สูงในเวลาเดียวกันก็สามารถหลีกเร้นการติดตามและหลบหนีการจับกุมได้ดีชนิดหาตัวจับยาก

“อิสนิลอน ขึ้นชื่อเรื่องอำมหิต แต่ในเวลาเดียวกันก็เป็นนักวางแผน นักคำนวณยุทธวิธี ที่ละเอียดถี่ถ้วน” ออทโตระบุ แน่นอนสิ่งที่อิสนิลอนทำจนชำนาญเป็นที่เลื่องลือก็คือการลักพาตัวคนต่างชาติ

ในทัศนะของออทโต ความอำมหิตโหดเหี้ยมและความปราดเปรียวในการหลบหนีการไล่ล่าจับกุมของอิสนิลอน จัดอยู่ในระนาบเดียวกันกับ “อาบูบาการ์ เชคาอู” ผู้นำเลือดเย็นของกลุ่มก่อการร้าย โบโกฮาราม ในไนจีเรีย

ทั้งคู่ล้วน “ตายแล้ว” กันมาคนละหลายครั้ง ก่อนที่จะโผล่ออกมาอาละวาดได้อีกทุกครั้งไป

ปี 2014 อิสนิลอน ฮาปิลอน นำอาบูไซยัฟ ประกาศ “ความจงรักภักดี” ต่อไอเอสและ อาบู บักการ์ อัล บักห์ดาดี อีก 2 ปีให้หลัง ไอเอส ก็แต่งตั้งเขาเป็นเอเมียร์

ครองอำนาจเหนือ “สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ของไอเอส

 

 

โฮเซ กาลิดา อัยการสูงสุดของฟิลิปปินส์ ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในมาราวี ไม่ใช่การก่อกบฏ เพื่อแบ่งแยกดินแดนอีกต่อไป แต่ถูก “เปลี่ยนรูป” ไปเป็นการ “รุกราน” จาก “กลุ่มก่อการร้ายต่างชาติ” ซึ่ง “ต้องการสร้างมินดาเนาให้เป็นนครรัฐของกาหลิบ”

เป็น “วิลาเยาะห์” (ดินแดน) ของ “กาหลิบ” ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ผู้เชี่ยวชาญและนักวิเคราะห์หลายคนมองเห็นตรงกัน แม้ว่าจะไม่มีการจัดตั้งในเวลานี้ แต่เชื่อว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นแน่นอน ขึ้นอยู่ว่าจะเป็นเมื่อใดเท่านั้น

โรหัน กุนรัตนะ ผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติเพื่อวิจัยความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย (ไอพีซีวีทีอาร์) ในสิงคโปร์ ให้ข้อมูลว่า จนถึงขณะนี้มีกลุ่มก่อการร้ายติดอาวุธมากกว่า 60 กลุ่มทั่วอุษาคเนย์ประกาศความจงรักภักดีต่อไอเอสไปแล้ว และการลงมือก่อการร้ายในนามไอเอสของกลุ่มเหล่านี้ก็ทวีขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ

ระเบิดฆ่าตัวตายที่กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ที่ทำให้ตำรวจ 3 นายเสียชีวิต ที่มาเลเซีย มีการจับกุมผู้ต้องสงสัย 6 ราย หนึ่งในจำนวนนั้นเชื่อกันว่าเป็น “นักค้าอาวุธ” ของไอเอส เช่นเดียวกันกับเหตุระเบิดที่บาร์แห่งหนึ่งใกล้กัวลาลัมเปอร์ ก็เป็นฝีมือของผู้ก่อการร้ายกลุ่มเดียวกัน

ออตโซ ไอโฮ นักวิเคราะห์อาวุโสของ ศูนย์การก่อการร้ายและก่อความไม่สงบของ เจนส์ บริษัทวิจัยด้านความมั่นคงระดับโลก เชื่อว่า ปฏิบัติการที่ถี่ขึ้นและรุนแรงมากขึ้นภายใต้ความร่วมมือของ “กลุ่มก่อการร้ายหลายๆกลุ่ม” คือขั้นตอนสำคัญที่จะนำไปสู่ “การสร้างแนวร่วมหนึ่งเดียว” ของกลุ่มมุสลิมสุดโต่งขึ้น โดยเฉพาะใน “พื้นที่ทางใต้ของฟิลิปปินส์”

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนให้ข้อมูลตรงกันว่า ในระยะหลัง กลไกโฆษณาชวนเชื่อของไอเอส ทั้งที่เป็นสื่อออนไลน์และเป็นแม็กกาซีน มุ่งความสนใจมายังภูมิภาคนี้มากขึ้นเป็นพิเศษ ไม่เพียงมีวิดีโอเผยแพร่ของ “นักรบ” จากมาเลเซีย ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย แพร่หลายออกมาเท่านั้น “รูมิเยาะห์” วารสารรายเดือนของไอเอสที่ตีพิมพ์หลายภาษามาก ยังเริ่มเน้นกระตุ้นให้เกิดปฏิบัติการของ “นักรบจากรัฐอิสลาม” ต่อ “กองทัพผู้รุกรานฟิลิปปินส์” อีกด้วย

ข้อมูลของ ไอพีซีวีทีอาร์ ระบุเพิ่มเติมไว้ด้วยว่า ไอเอส เพิ่งก่อตั้ง “คาติบาห์ อัล มูฮัจยีร์” หรือ “กองพลผู้อพยพ” ขึ้นเพื่อ “จัดตั้ง” องค์การนักรบรัฐอิสลามในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยการเรียกร้องให้ “นักรบญิฮาดต่างชาติ” เดินทางมายังภูมิภาคนี้ ค่าใช้จ่ายในการเดินทางต่ำมาก อาวุธที่ต้องการมีมอบให้พร้อมสรรพในพื้นที่

“กองพลผู้อพยพ” ที่ว่านี้ ไอพีซีวีทีอาร์ ระบุว่า อยู่ภายใต้การนำของ “อิสนิลอน ฮาปิลอน”!

 

 

ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายตั้งข้อสังเกตเอาไว้อย่างน่าสนใจมากว่า ในขณะที่กลุ่มก่อการร้ายในภูมิภาคผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้นตามลำดับ ปฏิบัติการต่อต้านการก่อการร้ายของทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังตกอยู่ในสภาพ “ตัวใครตัวมัน”

แต่ละประเทศมียุทธศาสตร์ ยุทธวิธีแตกต่างกันออกไปแต่ที่ชัดเจนก็คือ ขาดความร่วมมือซึ่งกันและกันที่เป็นรูปธรรมชัดเจนและมีประสิทธิภาพ

ยิ่ง “รัฐอิสลาม” ของไอเอส ในตะวันออกกลางสุ่มเสี่ยงกับการล่มสลายมากขึ้นเท่าใด ความร่วมมือดังกล่าวยิ่งทวีความจำเป็นมากขึ้นเท่านั้น

เพราะการคุกคามไม่ได้จำกัดอยู่กับกลุ่มก่อการร้ายในพื้นที่ ยุทธวิธีในพื้นที่อีกต่อไป

รายงานของ คาร์เนกี เคาน์ซิล เคยประเมินเอาไว้ว่า ในกองกำลังไอเอสที่ตะวันออกกลาง มีชาวต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมอยู่ด้วยไม่น้อยกว่า 1,000 คน

หากรัฐอิสลามล่มสลาย แล้วผู้คนเหล่านี้หอบเอาอุดมการ และความชำนาญพิเศษ “กลับบ้าน” มา อะไรจะเกิดขึ้น?!

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image