ดินแดนพิพาท ปัญหาหนักอกของญี่ปุ่น

ดินแดนพิพาท ปัญหาหนักอกของญี่ปุ่น

ท่ามกลางภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในทุกด้าน ทั้งการก่อการร้าย การโจมตีบนโลกไซเบอร์ ที่มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมด้านความปลอดภัยกลายเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งสำหรับความมั่นคงของประเทศรวมไปถึงระดับภูมิภาค นโยบายด้านความมั่นคงจึงถือเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งสำหรับโลกยุคปัจจุบัน

ประเทศญี่ปุ่น แม้จะดูเหมือนไม่ค่อยมีปัญหาอะไรใหญ่ๆ กับใครเท่าไหร่ แต่จริงๆ แล้ว ญี่ปุ่นเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เจอกับปัญหาด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงปัญหาเรื่องเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีเหนือที่ยังคงกระทำการอันเป็นการยั่วยุประชาคมระหว่างประเทศอยู่ตลอดเวลา แต่ยังมีปัญหาเรื่องเขตแดนพิพาทในน่านน้ำทะเลจีนตะวันออกกับประเทศจีน เรื่องหมู่เกาะเซนกากุ หรือที่จีนเรียกว่า เตี้ยวหวี

จึงไม่แปลก หากญี่ปุ่นจะเดินหน้าปรับเปลี่ยนนโยบายด้านความมั่นคงของตัวเอง เพื่อให้ตอบรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันให้มากขึ้น

Advertisement

หากแต่ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นถูกจำกัดบทบาทของกองทัพที่ถูกสหรัฐอเมริกากำหนดขึ้นหลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่เมื่อปี 2015 รัฐบาลญี่ปุ่น ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อ “ชินโสะ อาเบะ” ก็ได้มีการแก้ไขกฎหมายใหม่ด้วยเรื่องสันติภาพและความมั่นคง ที่หลักสำคัญที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง คือการคงไว้ซึ่งการเป็นประเทศที่

“รักสันติภาพ” แต่ในส่วนของการว่าด้วยเรื่องการใช้กำลังทหาร จะต้องนำมาซึ่งสันติภาพและเสถียรภาพของประชาคมระหว่างประเทศ โดยตามมาตรการป้องกันตัวเองมี 3 ข้อสำคัญใหม่ที่ระบุไว้คือ 1.จะมีการใช้กำลังทหารเมื่อเกิดการโจมตีด้วยอาวุธต่อญี่ปุ่น หรือเมื่อมีการโจมตีด้วยอาวุธต่อต่างชาติที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่นและจะเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดของญี่ปุ่นและเป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดอันตรายต่อสิทธิของชีวิต เสรีภาพ และทำให้ไม่มีความสุข 2.เมื่อไม่มีความเหมาะสมอื่นๆในการยับยั้งการโจมตีและเพื่อให้แน่ใจในความอยู่รอดของญี่ปุ่นและเพื่อปกป้องชาวญี่ปุ่น และ 3.จะต้องจำกัดการใช้กำลังเพื่อทำให้เกิดการแผ่ขยายที่น้อยที่สุด และแน่นอนที่สุดการใช้กำลังจะมีก็ต่อเมื่อเป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และสถานการณ์นั้นอยู่บนพื้นฐานด้านสิทธิของการป้องกันตนเองภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ

โดยในส่วนของคำจำกัดความของคำว่า “ประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับญี่ปุ่น” นั้น ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ก็ต้องดูเป็นกรณีๆ กันไป ตามแต่สถานการณ์ที่เกิดขึ้น

Advertisement

แม้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญดังกล่าว จะถูกคัดค้านจากชาวญี่ปุ่นจำนวนมาก แต่หากมองในเรื่องความมั่นคง ก็ดูอาจจะเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมองให้หลากมิติมากขึ้น อย่างเช่นในกรณีของประเทศเกาหลีเหนือ เพื่อนบ้านที่ดูยังคงเป็นภัยคุกคามสำหรับประเทศญี่ปุ่นอยู่ตลอดเวลา แม้ในยามนี้ ที่เกาหลีเหนือยังคงเดินหน้าทดลองนิวเคลียร์และยิงจรวดเป็นว่าเล่น เพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่นมีหรือจะไม่รู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กับการทดลองยิงจรวดหรือยิงขีปนาวุธ หรือแม้แต่การทดลองนิวเคลียร์ที่ไม่รู้ว่าจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่ แต่ก็รู้สึกได้ถึงภัยคุกคามที่อยู่ใกล้ตัว

อีกประเทศหนึ่งที่ดูจะเริ่มสร้างความหวาดระแวงให้กับญี่ปุ่นมากขึ้นในเรื่องความมั่นคง คือ “ประเทศจีน” จากปัญหาเรื่องหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาทกันในทะเลจีนตะวันออก

เรื่องของเรื่องคือ จริงๆ แล้วจีนกับญี่ปุ่นเองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาตลอดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อจีนกับญี่ปุ่นสานสัมพันธ์กันอีกครั้งเมื่อปี ค.ศ.1972 มีการค้าขายระหว่างกันมากขึ้น จนจีนกลายเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของญี่ปุ่น ส่วนญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าใหญ่อันดับ 2 ของจีน ขณะที่ประชาชนต่างเดินทางไปมาระหว่างสองประเทศปีละหลายล้านคน จากตัวเลขเมื่อปี 2015 มีมากถึง 7.5 ล้านคน

โดยในเดือนพฤษภาคม 2008 ประธานาธิบดีหู จิ่นเทา ของจีน เดินทางเยือนญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการ มีการลงนามร่วมกันกับนายยาสุโอะ ฟุกุดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น เพื่อสานสัมพันธ์อันดีระหว่างกันและออกแถลงการณ์ร่วมกันระหว่างสองประเทศ ย้ำถึงความเป็นหุ้นส่วนกันของทั้งสองประเทศและจะร่วมมือกัน ไม่เป็นภัยคุกคามต่อกัน

ความสัมพันธ์ที่กำลังดูเหมือนจะราบรื่นไปด้วยดี แต่จู่ๆ ก็มาถึงจุดพลิกผัน แบบหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะหลังจากนั้นไม่กี่เดือน ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน รัฐบาลจีนได้ส่งฝูงเรือเข้าไปรุกล้ำน่านน้ำบริเวณรอบๆ หมู่เกาะเซนกากุเป็นครั้งแรก แม้จะมีการแจ้งเตือนจากเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่นให้เรือจีนออกจากพื้นที่ และญี่ปุ่นก็ได้ทำการประท้วงผ่านช่องทางการทูตต่อการกระทำอันไม่เหมาะของจีนในครั้งนี้

เหตุการณ์ครั้งนั้นกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ ระหว่างจีนกับญี่ปุ่น เพราะหลังจากนั้น จีนก็ส่งเรือเข้าไปในเขตน่านน้ำใกล้หมู่เกาะเซนกากุอยู่ตลอดเวลา รวมไปถึงการที่เรือประมงจีนรุกล้ำเข้าไปในเขตน่านน้ำหมู่เกาะเซนกากุ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2010 จนทำให้ชนเข้ากับเรือลาดตระเวนของญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากนั้น ก็เริ่มมีเรือของรัฐบาลจีนล่องเข้าไปในเขตน่านน้ำเซนกากุบ่อยขึ้นจนเห็นได้ชัด

แต่สำหรับสาเหตุของการรุกเข้าไปในน่านน้ำใกล้หมู่เกาะเซนกากุเป็นครั้งแรกนั้น ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเพราะเหตุอะไร ทั้งๆ ที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศกำลังเป็นไปได้อย่างสวยงามราบรื่น แต่จีนกลับทำให้เรื่องวุ่นวายขึ้นมา

อย่างไรก็ตาม ความตึงเครียดยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อจีนส่งเรือรบเข้าไปใกล้กับเซนกากุ ที่ทางญี่ปุ่นมองว่าเป็นเรื่องที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง นอกจากนี้ก็ยังมีการก่อสร้างแท่นขุดเจาะน้ำมันกลางทะเลขึ้นหลายจุดในเขตพิพาทที่ทางญี่ปุ่นตรวจพบ และแท่นขุดเจาะน้ำมันเหล่านี้ ที่พบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นการส่งสัญญาณว่า จีนอาจจะใช้แท่นขุดเจาะเหล่านี้เป็นฐานสำหรับปล่อยขีปนาวุธก็เป็นได้

for01050359p3

นอกเหนือไปจากความพยายามรุกล้ำทางน่านน้ำแล้ว จากข้อมูลของทางการญี่ปุ่นยังพบด้วยว่า จีนได้ส่งเครื่องบินบินเข้าไปเหนือเขตพิพาทบริเวณหมู่เกาะเซนกากุบ่อยมากขึ้น

ซึ่งในส่วนของหมู่เกาะเซนกากุนั้น ญี่ปุ่นเองมีหลักฐานยืนยันถึงสิทธิในการครอบครองมายาวนานภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ หากแต่ดูเหมือนจีนจะเริ่มหันมาสนใจหมู่เกาะแห่งนี้เข้าหลังจากมีการสำรวจพบว่ามีแหล่งทรัพยากรจำนวนมหาศาลบริเวณนี้ และปัจจุบัน ก็ไม่มีใครอาศัยอยู่บนเกาะแห่งนี้แล้ว

และต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ท่าทีของญี่ปุ่นที่มีต่อการกระทำอันเป็นเหมือนการรุกรานอธิปไตยของประเทศนั้น เป็นท่าทีที่แน่ชัดและถือว่าสงบเยือกเย็นอย่างยิ่ง โดยยังคงยึดทุกอย่างไปตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และคงไว้ซึ่งอำนาจอธิปไตยในการปกป้องดินแดนของตนเอง

ด้วยสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศในเรื่องความขัดแย้งที่หมู่เกาะเซนกากุนี้เอง ผลจากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนญี่ปุ่นทำให้พบว่า ชาวญี่ปุ่นเองมีความเกลียดชังต่อจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยท่าทีที่ไม่เป็นมิตรมากขึ้นเรื่อยๆ ของจีนนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเองยังคงมองว่า จีนไม่ได้เป็นภัยคุกคามสำหรับญี่ปุ่น ตราบเท่าที่จีนยังไม่สร้างปัญหาอะไรให้กับญี่ปุ่น แต่ถึงกระนั้น นอกเหนือไปจากความขัดแย้งเรื่องดินแดนพิพาทที่จีนมีกับญี่ปุ่นเองแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังมีความเป็นห่วงกังวลเกี่ยวกับกรณีพิพาทในเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้ ที่จีนมีปัญหาอยู่กับหลายประเทศในภูมิภาคในเรื่องการครอบครองดินแดนในเขตน่านน้ำนี้ ที่กำหนดขึ้นตามที่จีนกำหนดเอง

ถามว่า แล้วทำไมญี่ปุ่นถึงต้องห่วงเรื่องทะเลจีนใต้ด้วย ทั้งที่ปัญหาของญี่ปุ่นคือ ทะเลจีนตะวันออก และแค่นั้นก็ปวดหัวแย่อยู่แล้ว

คำตอบคือ ญี่ปุ่นมองว่า ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกนี้เป็นพันธมิตรที่สำคัญ และการมีสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้เป็นเรื่องที่สำคัญต่อประชาคมระหว่างประเทศ การรุกรานอย่างไม่แคร์ใครของจีนและยังมีการสร้างสิ่งปลูกสร้างเพื่อการทหารในเขตพื้นที่พิพาท จึงถือเป็นภัยคุกคามต่อประชาคมระหว่างประเทศ

จริงๆ แล้ว เรื่องดินแดนพิพาทนั้น ญี่ปุ่นไม่ได้มีปัญหากับประเทศจีนเพียงประเทศเดียว เพราะอย่างกรณีของเกาะ “ทาเคชิมา” ที่ญี่ปุ่นมีปัญหากับเกาหลีใต้นั้น ก็ยังเป็นปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข หากแต่ก็อาจจะไม่ดูรุนแรงเหมือนกับกรณีพิพาทกับจีน แต่ก็เป็นกรณีที่น่าสนใจอีกกรณีหนึ่ง

เรื่องของเรื่องคือ เกาะทาเคชิมา หรือที่ชาวเกาหลีเรียกว่า เกาะ “ด็อกโด” หรือ “ต๊อกโต” นั้น จริงๆ แล้ว ถ้ามองผ่านๆ ก็เป็นเพียงแค่ก้อนหินใหญ่ 2 ก้อนที่ตั้งอยู่ในทะเลญี่ปุ่น และทางญี่ปุ่นเองก็ยืนยันว่า มีหลักฐานมานานนมแล้วว่า เกาะแห่งนี้เป็นของ “ญี่ปุ่น” ในขณะที่ฝ่ายเกาหลีใต้เอง ไม่ได้มีหลักฐานใดๆมายืนยันแต่อย่างใด

แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่เกาะที่ไม่มีคนอยู่ เพราะไม่รู้จะอยู่ยังไง แต่เหตุที่หมู่เกาะทาเคชิมาได้รับความสนใจ ก็น่าจะมาจากเรื่องเดียวกับเซนกากุ นั่นคือการเป็นแหล่งทรัพยากรด้านพลังงานและประมงที่สมบูรณ์

ในขณะที่ญี่ปุ่นเองอ้างว่า เกาะแห่งนี้ได้รับการประกาศให้เป็นส่วนหนึ่งของเขตชิมาเนะของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี ค.ศ.1905 ด้านเกาหลีใต้เองก็อ้างว่าได้ครอบครองหมู่เกาะแห่งนี้มานานแล้วเช่นกัน

เพื่อการแก้ปัญหาอย่างสงบและสันติ บนพื้นฐานกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐบาลญี่ปุ่นเองได้เสนอต่อรัฐบาลเกาหลีใต้เกี่ยวกับกระบวนการเพื่อนำเรื่องปัญหาความขัดแย้งบนหมู่เกาะทาเคชิมาขึ้นต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือไอซีเจแต่ทางเกาหลีใต้กลับ “ปฏิเสธ” โดยญี่ปุ่นได้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อเกาหลีใต้หลายครั้ง ทั้งในปี 1954, 1962 และล่าสุด ปี 2012 โดยเกาหลีใต้ให้เหตุผลในการปฏิเสธที่จะนำเรื่องนี้ขึ้นศาลไอซีเจว่า เป็นเพราะเกาหลีใต้มีเอกสารบันทึกเก่าแก่ที่ยืนยันได้ว่าหมู่เกาะแห่งนี้เป็นของ “เกาหลีใต้” จึงไม่จำเป็นที่จะต้องนำเรื่องขึ้นศาล

อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเองก็ยืนยันที่จะหาหนทางในการแก้ปัญหาด้วยความสงบและสันติวิธีบนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และสองประเทศก็มีการหารือระหว่างตัวแทนระหว่างกันอยู่ตลอดเวลา

มาดูปัญหาดินแดนพิพาทอีกส่วนของญี่ปุ่นกันบ้าง ที่บางคนอาจจะไม่ค่อยคุ้นหู สำหรับปัญหาเรื่อง “ดินแดนทางตอนเหนือ” ของประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นปัญหาอยู่กับประเทศ “รัสเซีย” เป็นหมู่เกาะที่ตั้งอยู่ในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่ญี่ปุ่นเรียกดินแดนทางตอนเหนือ ส่วนรัสเซียเรียก “คูริล” ซึ่งเป็นดินแดนที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้เช่นกันว่าใครเป็นเจ้าของ หลังจากรัสเซียเข้ายึดหมู่เกาะแห่งนี้ในช่วงสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ญี่ปุ่นเองก็มีหลักฐานว่าครอบครองหมู่เกาะบริเวณนี้มาก่อน

กระนั้นก็ตาม ทั้งรัสเซียและญี่ปุ่นก็มีการเจรจาเพื่อหาข้อยุติในเรื่องดินแดนพิพาทนี้ตลอดมา และมีการพูดคุยกันระหว่างผู้นำสองประเทศเรื่อยมา จนในปี 2006 การประชุมสุดยอดผู้นำญี่ปุ่น-รัสเซีย ที่กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ก็นำไปสู่การทำข้อตกลงระหว่างสองประเทศ เพื่อสร้างความเป็นหุ้นส่วนระหว่างกันและตกลงที่จะเปิดให้มีการเจรจาระหว่างกันในเรื่องดินแดนพิพาท

จะเห็นได้ว่า ญี่ปุ่นเองมีปัญหาเรื่องดินแดนพิพาทอยู่หลายที่ไม่น้อย แต่ในแต่ละจุด ก็มีการแก้ปัญหาที่แตกต่างกันออกไป แต่ในส่วนที่ดูอาจจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงมากที่สุด ก็คงจะเป็นบริเวณทะเลจีนตะวันออก ที่มีปัญหากับประเทศจีน

หากแต่อย่างที่บอกว่า ญี่ปุ่นเองยืนยันว่า ตราบเท่าที่จีนยังไม่ทำให้มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ก็น่าจะยังอยู่กันได้อย่างสันติ เพียงแต่การรุกรานเข้าไปในเขตพิพาทบ่อยครั้ง ก็อาจจะสั่นคลอนความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศอยู่ไม่น้อย

ที่สุดแล้ว ญี่ปุ่นเองยืนยันว่า หนทางที่จะนำไปสู่สันติภาพได้ คงต้องผ่าน “การเจรจา” เป็นสำคัญ แม้ดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับการพูดคุยกันดีๆ แต่ก็คงไม่เกินความสามารถ หากมีความพยายามร่วมกันอย่างจริงจัง

for01050359p2

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image