คอลัมน์ โกลบอล โฟกัส: เฮลมุท โคห์ล บุรุษผู้ปฏิเสธสงคราม

AFP PHOTO / DPA / Maurizio Gambarini

มรณกรรมของ เฮลมุท โคห์ล ในวัย 87 ปีเมื่อ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา ไม่เพียงทำให้เยอรมนีสูญเสียนักการเมืองระดับ “รัฐบุรุษ” คนสำคัญไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลให้สหภาพยุโรปสูญเสียบุคคลสำคัญผู้หนึ่งซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันและหล่อหลอมยุโรปให้เป็นปึกแผ่น เชื่อมโยงกันทับซ้อนหลายด้าน หลายชั้น เหมือนเช่นที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้

เฮลมุท โคห์ล นักการเมืองรูปร่างสูงใหญ่ สูงถึง 193 เซนติเมตร จาก ลุดวิกส์ฮาเฟน เมืองทางใต้ของประเทศ บางครั้งถูกเรียกขานว่า “เยอรมัน ไจแอนท์” ไม่ใช่เพียงเพราะรูปลักษณ์เท่านั้น แต่เป็นเพราะความ “ยิ่งใหญ่” ในสิ่งที่เขาทำมาให้ประเทศชาติและสังคมโลกโดยรวมอีกด้วย

เขาทำในสิ่งที่หลายคนไม่คิดว่าเป็นไปได้อย่าง การรวมเยอรมนีตะวันออกและเยอรมนีตะวันตกเข้าด้วยกันให้เป็นจริงขึ้นมา และมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการรังสรรค์ “ยูโร” และ “ยูโรโซน” ให้เป็นอย่างที่ได้เห็นกันในทุกวันนี้

เปลี่ยนดินแดนที่เคยเต็มไปด้วยประวัติศาสตร์การรบพุ่ง เคยทำสงครามนองเลือดซึ่งกันและกัน กลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลกได้สำเร็จ

Advertisement

ผู้ที่ตระหนักถึงคุณค่าของสันติภาพและความหมายของความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจต่อมนุษยชาติ ย่อมตระหนักถึงความสำคัญในบทบาทของ เฮลมุท โคห์ล

บิล คลินตัน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี มอบเหรียญเชิดชูเกียรติสูงสุดที่ทางการสหรัฐอเมริกามอบให้กับพลเรือนได้ อย่าง “เมดัล ออฟ ฟรีดอม” ให้กับเฮลมุท โคห์ล เพื่อตอบแทนคุณูปการที่ได้กระทำมา

เฮลมุท โคห์ล ยังได้รับรางวัล “เฮนรี คิสซิงเจอร์ ไพรซ์” สําหรับการส่งเสริม ประชาธิปไตยและการเสริมสร้างความสัมพันธ์ข้ามแอตแลนติก และยังเคยถูกเสนอชื่อให้เข้ารับรางวัล โนเบลสันติภาพ เมื่อปี 2010 อีกด้วย

Advertisement

ทั้งยังสามารถรับการยกย่องให้เป็น “ราษฎรเกียรติยศแห่งยุโรป” ได้อย่างเต็มภาคภูมิ

 

 

ปรัชญาเมธีบางคนบอกว่า มีแต่ผู้ที่ซึมซับจนซาบซึ้งถึงพิษภัยจากสงครามและการทำลายล้างเท่านั้น จึงสามารถตระหนักถึงคุณค่าของสันติภาพและความหอมหวานของอิสระเสรีที่แท้จริงได้

เฮลมุท โคห์ล ก็เช่นเดียวกัน ทัศนะต่อโลกและชีวิตของเขาถูกหล่อหลอม เคี่ยวกรำจากประสบการณ์ตรงที่สัมผัสมาด้วยตัวเอง ถึงผลลัพธ์ของการสู้รบและศักยภาพในการทำลายล้างของสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ยังอยู่ในสภาพไม่ประสาทางการเมือง

โคห์ล ลืมตามาดูโลกท่ามกลางโอบล้อมของสงคราม “วอลเทอร์” พี่ชายคนโตในครอบครัวอุทิศชีวิตให้กับมหาสงครามแห่งยุโรปในยุคเผด็จการนาซี ตัวโคห์ลเองฉลองวันเกิดอายุครบ 15 ปี ที่อาคารที่ทำการของนาซีในเมืองเบิร์ชเทสกาเดน ชายแดนอีกฟากหนึ่งของประเทศ เพื่อเข้าพิธีสาบานตนหลังถูกเกณฑ์เข้ามาเป็นยุวชนของ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์

ชีวิตการเป็นยุวชนนาซีของโคห์ล ยังไม่ทันเริ่มต้น ทุกอย่างก็สิ้นสุดลง ไม่ถึง 5 สัปดาห์หลังสาบานตน อาณาจักรไรช์ที่ 3 รวมทั้ง ฮิตเลอร์ และองคาพยพของนาซีทั้งมวล ก็มลายหายไป

สิ่งที่เด็กหนุ่มอย่างโคห์ลและผองเพื่อนวัยเดียวกันทำได้อย่างเดียวในเวลานั้นก็คือ หาทางกลับบ้าน
อีกเกือบ 2 เดือนหลังจากนั้น โคห์ลกับพวกเดินเท้าตุหรัดตุเหร่จากฟากหนึ่งของประเทศกลับไปยังบ้านเกิดอีกฟากหนึ่ง ไม่มีเงินในกระเป๋า ไม่มีอาหาร ไม่มีแม้กระทั่งความหวัง

ทั้งหมดซังกะตายผ่านซากปรักหักพังอันเป็นผลจากความกราดเกรี้ยวแห่งสงครามวันแล้ววันเล่า กะปลกกะเปลี้ยเต็มทีเมื่อบรรลุถึง มานน์ไฮม์ เมืองที่ตั้งอยู่ตรงกันข้ามกับ ลุดวิกส์ฮาเฟน โดยมีลำน้ำไรน์คั่นกลาง

ไรน์ บริดจ์ ถูกสงครามทำลายไปแล้ว กว่าทหารอเมริกันจะปล่อยทั้งกลุ่มกลับไปสมทบกับพ่อแม่ที่บ้านเกิดอีกฟากหนึ่งของแม่น้ำที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกองทัพฝรั่งเศสก็กินเวลาอีกหลายวันต่อมา

ทั้งหมดคือประสบการณ์ย่ำแย่ที่สุดในชีวิตของ เฮลมุท โคห์ล สภาพที่เห็นกับตาในช่วงสองเดือนดังกล่าวประทับอยู่ในความทรงจำ และส่งผลกระทบต่ออนาคตของเขาอย่างช่วยไม่ได้

ในทางหนึ่ง สถานการณ์ในเวลานั้นทำให้ โคห์ล เข้าเรียนช้ากว่าปกติ แต่ในเวลาเดียวกันก็ผลักดันให้เขาเข้าสู่วงการเมืองเร็วกว่าปกติ

แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้ เฮลมุท โคห์ล กลายเป็นคนที่ปฏิเสธสงคราม

หลังผ่านประสบการณ์ครั้งนั้น หนุ่มน้อยโคห์ล ตั้งเป้าหมายสำคัญอย่างหนึ่งให้กับชีวิตของตนเอง

นับแต่นี้ต่อไป เขาไม่ต้องการเห็นสงคราม ไม่ต้องการประสบกับภาวะสงครามอีกเลยตลอดชีวิต

 

 

กว่า เฮลมุท โคห์ล จะเรียนจบมัธยมศึกษา อายุก็ปาเข้าไป 20 ปีแล้ว และใช้เวลาอีกมากถึง 16 ภาคการศึกษาหรือร่วมๆ 8 ปี เพื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านประวัติศาสตร์จาก มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์กและมหาวิทยาลัยแฟรงก์เฟิร์ต ตามลำดับ เมื่ออายุ 28 ปี

แต่ตอนอายุเพียง 16 ปี โคห์ล ก็กลายเป็นสมาชิกพรรค คริสเตียนเดโมแคติก ยูเนียน (ซีดียู) พรรคการเมืองแนวอนุรักษ์นิยม เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นสมาชิกพรรคที่อายุน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์

ตอนเป็นนักเรียน นักศึกษา โคห์ล พูดไม่เก่ง เขาได้เกรด “แย่” ด้วยซ้ำไปในการนำเสนอรายงานหน้าชั้น เช่นเดียวกับ ความสามารถในการบริหารจัดการ ที่จัดอยู่ในขั้น “พอใช้” เท่านั้นเอง

สิ่งเดียวที่โดดเด่นเมื่อครั้งยังเรียนหนังสือของ โคห์ล ก็คือความดื้อแพ่งยืนกราน มุ่งมั่นยึดถือในความเชื่อและการตัดสินใจของตัวเอง จนถูกจัดเกรดคุณสมบัตินี้ในเวลานั้นไว้ว่าอยู่ในขั้น “ดีเลิศ”

แต่ในทางการเมือง เขาไม่เพียงทำสถิติสมาชิกพรรคที่อายุน้อยที่สุดไว้เท่านั้น ยังถือเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุด ที่เข้ารับหน้าที่เป็นหัวหน้าที่ประชุมภายในกลุ่มสมาชิกสภาของรัฐ ไรน์ลันด์-ฟัลทซ์ ของซีดียู ก่อนที่จะกลายเป็นผู้ว่าการรัฐบ้านเกิดที่อายุน้อยที่สุด แล้วกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่อายุน้อยที่สุดในประวัติศาสตร์ของเยอรมนี

เป็นนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในตำแหน่งต่อเนื่องกันนานถึง 16 ปี โดยไม่มีใครกล้าแข่งขันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งด้วย

เฮลมุท โคห์ล เริ่มต้นการเป็นสมาชิกพรรคซีดียู ตั้งแต่ยุคที่ทั้งพรรคยังคงเต็มไปด้วยนักการเมืองรุ่นเก่า สูงอายุ จากยุคสาธารณรัฐไวมาร์ก่อนนาซีเรืองอำนาจ แต่ โคห์ล ไม่เพียงทำความคุ้นเคยสภาพการณ์ภายในพรรคได้อย่างรวดเร็ว ยังสามารถยึดกุมหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยต่างๆได้เร็วมากด้วยอีกต่างหาก

หลักการแรกที่ได้เรียนรู้และยึดถือตลอดมาก็คือ “ทุกอย่างที่ใครก็ตามทำให้กับสังคม สิ่งเหล่านั้นสามารถสะท้อนกลับมาเป็นผลประโยชน์ต่อคนผู้นั้นได้เช่นกัน”

โคห์ลยังตระหนักและให้ความสำคัญกับ “ความสัมพันธ์ส่วนตัว” มาตั้งแต่เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เขาเชื่อว่า การปลูกฝังความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคนภายในเครือข่ายใดเครือข่ายหนึ่ง คือปัจจัยสำคัญยิ่งต่อความสำเร็จในหน้าที่การงานในอนาคต

เชื่อว่านั่้นเป็นหนทางเดียวในการไต่บันไดไม่หยุดยั้งสู่ความสำเร็จในอนาคต จากระดับเมืองสู่ระดับภูมิภาคและในระดับชาติในที่สุด

บางคนเรียกสิ่งที่เขาเพิ่งค้นพบใหม่นั้นว่า “โคห์ล ซิสเต็ม” ที่มีหลักการง่ายๆว่า “ยิ่งคุณรู้จักคนมากขึ้นเท่าใด คุณยิ่งมีคนให้พึ่งพามากขึ้นเท่านั้น”

เหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ โคห์ล ก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการรัฐ ไรน์ลันด์-ฟัลทซ์ (ไรน์แลนด์-พาลาตินาท) เมื่ออายุ 39 ปี กลายเป็นหัวหน้าพรรคซีดียูเมื่ออายุ 41 ปี

ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเยอรมนีตะวันตกที่อายุน้อยที่สุด เมื่ออายุ 52 ปีในเดือนตุลาคมปี 1982

 

 

เฮลมุท โคห์ล ไม่ใช่ผู้นำเยอรมันคนแรกที่พูดถึงการ “ล่มสลาย” ของ “ม่านเหล็ก” ที่คลี่ขึงกางกั้นยุโรปออกเป็น 2 ฟากในเวลานั้น ผู้ที่พูดถึงเรื่องนี้อย่างเป็นทางการคือ “วิลลี บรันดท์” อดีตนายกรัฐมนตรีจากพรรคคู่แข่งสำคัญคือพรรค โซเชียลเดโมแครติก (เอสพีดี) ก่อนหน้า โคห์ล ซึ่งปราศรัยต่อบุนเดสถากหรือรัฐสภาเยอรมันเมื่อเดือนกันยายนปี 1989 บอกถึง “ความรู้สึก” ส่วนตัวว่า

“ยุคสมัยกำลังจะสิ้นสุดลง” ยุคของการแข่งขันกันสั่งสมอาวุธ ยุคแห่งสงครามเย็น และยุคของกำแพงเบอร์ลินและลวดหนามคมกริบที่แบ่งเยอรมนีออกเป็นสอง กำลังจะสิ้นสุดลง

แต่เฮลมุท โคห์ล ไม่เพียงรู้สึกถึงเรื่องนี้ ยังดำเนินการอย่างลับๆ เพื่อเร่งกระบวนการให้เร็วขึ้นด้วยอีกต่างหาก
โคห์ล คือผู้ประกาศกับสมาชิกพรรคซีดียูถึงความสำเร็จของ “การเปิดม่านเหล็ก” เป็นครั้งแรกต่อตามแนวชายแดนออสเตรีย หลังประสบความสำเร็จในการเจรจา “ลับ” กับทางการฮังการี ในปีเดียวกัน ที่ส่งผลให้ความพยายามเพื่อโค่นเขาจากหัวหน้าพรรคยุติลง

ในเวลานั้นการเปลี่ยนแปลงในยุโรปตะวันออกยิ่งเห็นได้ชัดมากขึ้นตามลำดับเมื่อ มิกฮาอิล กอร์บาชอฟ ผู้นำสหภาพโซเวียตออกมาประนาม “ลัทธิเบรซเนฟ” ของผู้นำก่อนหน้าตนอย่าง เลโอนิด เบรซเนฟ ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประเทศในความควบคุมของสหภาพโซเวียตอย่างเคร่งครัด ส่งผลให้ประเทศในยุโรปตะวันออกเริ่มดิ้นรนเพื่อตัดสินอนาคตของตัวเองมากขึ้นตามลำดับ เริ่มต้นจากฮังการี ต่อด้วย โปแลนด์ และเชโกสโลวะเกีย

ชาวเยอรมันตะวันออกจำนวนมาก เริ่มกระสาถึงกลิ่นเสรีภาพที่กำลังจะมาถึง หลายคนเดินทางไปยังประเทศยุโรปตะวันออกที่เปิดมากขึ้น และเข้าไปขอความคุ้มครองจากสถานทูตเยอรมนีตะวันตกในประเทศนั้นๆ

ก่อนถึงวาระครบรอบ 40 ปีเพียงเล็กน้อย เยอรมนีตะวันออกเองก็ตกอยู่ในสภาพเจียนอยู่เจียนไป พลเรือนนับหมื่นแห่เข้าไปอาศัยอยู่ในสถานทูตเยอรมนีตะวันตกในกรุงปรากของเชโกสโลวะเกีย ก่อน โคห์ล จะส่ง ฮันส์-ดีเทอร์ เกนส์เชอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศของตนไปต้อนรับ

นั่นคือจุดเริ่มต้นที่นำไปสู่การทลายกำแพงเบอร์ลินและการรวมเยอรมนีในเวลาต่อมา

ซึ่งถือกันว่าเป็นผลงานสุดยอดทั้งในชีวิตทางการเมืองและการทูตของ เฮลมุท โคห์ล!

 

 

การรวมเยอรมันเข้าด้วยกันอีกครั้ง เป็นเรื่องที่คิดง่ายแต่ทำให้เกิดเป็นจริงได้ยากเย็นอย่างยิ่ง จำเพาะเรื่องการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจเพื่อชดเชยให้กับสหภาพโซเวียตซึ่งลงเอยที่ 15,000 ล้านดอยช์มาร์ก ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะได้รับการยอมรับกันง่ายๆ และนั่นไม่ใช่เรื่องท้าทายเรื่องเดียวที่ เฮลมุท โคห์ล ต้องเผชิญในความพยายามนี้

ผู้นำเยอรมนี ยังจำเป็นต้องประเมินผลกระทบในแทบจะทุกด้านจากการรวมชาติเข้าด้วยกันอีกครั้ง ในเวลาเดียวกันกับที่ต้องทำให้หลายต่อหลายประเทศที่คัดค้าน ไม่เห็นด้วยกับการรวมตัวครั้งนี้ยอมรับและให้การสนับสนุน ไม่ได้เป็นการ “ซื้อเยอรมนีตะวันออก” จาก “สหภาพโซเวียต” ง่ายๆอย่างที่บางคนเข้าใจกัน

การรวมเยอรมนี ได้รับการคัดค้านในระดับ “มีนัยสำคัญ” จาก มาร์กาเร็ต แทตเชอร์ แห่งอังกฤษ รวมไปถึงมิตรที่ดีของโคห์ล อย่าง ฟรองซัวส์ มิตแตร์รองด์ ในฝรั่งเศส ด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ไม่เพียงเท่านั้น บรรดาชาติเล็กๆในยุโรป โดยรอบเยอรมนีเอง ก็หวาดระแวงการรวมกันเป็นปึกแผ่นอีกครั้ง ด้วยเหตุผลทางประวัติศาสตร์จากสงครามหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมา

ทางเดียวที่ โคห์ล สามารถคลี่คลายการต่อต้านดังกล่าวได้ ก็ด้วยการเชื่อมโยงการรวมชาติเข้ากับกระบวนการสร้างความเป็นปึกแผ่น ความเป็นเอกภาพของยุโรป ทำให้การรวมเยอรมนีเข้าด้วยกันเป็นส่วนหนึ่งของการรวมยุโรป ภายใต้กระบวนการสร้าง “สหภาพทางการเงิน” เพิ่มเติมขึ้นจากการเปิดเสรีตลาดภายในและการยกเลิกการควบคุมเขตแดน

“นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม ผมถึงผูกโยงเรื่องเกิดเงินสกุลยูโรเข้ากับชะตากรรมทางการเมืองของตัวเอง” โคห์ล บันทึกไว้ในไดอารีส่วนตัวหลังจากนั้นไม่นาน

ในที่สุด เงินยูโรก็ถือกำเนิดขึ้นและดำรงอยู่อย่างมั่นคง เอื้อประโยชน์ต่อประเทศในยูโรโซนมากกว่าจะเป็นโทษต่อประเทศเหล่านั้น

จากการตัดสินใจที่ถูกต้องและถูกจังหวะเวลาของ เฮลมุท โคห์ล

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image