รมว.กต.จีนกราบบังคมทูลเชิญร.10เยือนอย่างเป็นทางการ ย้ำสัมพันธ์สองประเทศใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวร่วมกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ในโอกาสที่นายหวัง อี้ เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ

นายดอนกล่าวว่า การเยือนในครั้งนี้ถือเป็นการเยือนประเทศไทยเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี นับตั้งแต่ที่นายหวัง อี้ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศจีน ขณะที่การหารือในวันนี้เป็นการกระชับความสัมพันธ์ในเชิงยุทธศาสตร์ที่ใกล้ชิดในกรอบทวิภาคี นอกจากนี้ยังมีการหารือในประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน อาทิ ยุทธศาสตร์หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน อาเซียน ประเด็นความมั่นคงในภูมิภาค รวมถึงประเด็นทะเลจีนใต้

นายดอนกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ไทย-จีน ฉบับที่ 3 ระยะ 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2560-2564 ซึ่งจะครอบคลุมความร่วมมือระหว่างไทย-จีนในทุกมิติ ซึ่งถือเป็นสิ่งที่จะสนับสนุนความสัมพันธ์ระหว่างกัน และมิตรภาพดังกล่าวยังไม่จำกัดแค่ในกรอบพหุภาคีเท่านั้น แต่แผนปฏิบัติการดังกล่าวยังครอบคลุมช่วงเวลาที่ไทยจะทำหน้าที่ประธานการประชุมสำคัญๆ อาทิ แอคเมค อาเซียน และเอเปค จึงถือว่าเป็นกรอบความร่วมมือที่จะส่งผลสำคัญต่อภูมิภาค และเป็นการร่วมมือในเชิงยุทธศาสตร์ต่อไป

นายดอนกล่าวว่า ไทยโชคดีที่มีมิตรประเทศทั่วโลก แต่ในบรรดามิตรที่มี จีนถือเป็นมิตรที่มีความสำคัญเนื่องจากประวัติศาสตร์ยาวนานของความสัมพันธ์และเป็นประเทศที่อยู่ใกล้กัน ที่ผ่านมาความร่วมมือระหว่างไทย-จีน อาจมีปัญหาอุปสรรคบ้าง แต่ทุกครั้งที่เกิดปัญหา เรื่องต่างๆ ก็ได้รับการดูแลเป็นอย่างดี มีการเจรจาหารือติดต่อทุกระดับ จนพูดได้ว่าไม่มีสิ่งใดเป็นอุปสรรคต่อความสัมพันธ์สองประเทศ ความร่วมมือไทย-จีนยังคงต้องดำเนินต่อไป โดยมุ่งไปสู่ประโยชน์ที่ประชาชนสองประเทศพึงได้จากการติดต่อกัน

Advertisement

ด้านนายหวัง อี้ กล่าวว่า ทั้งสองประเทศพอใจต่อความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน และเชื่อมั่นต่อความพร้อมของความร่วมมือสองฝ่าย ในฐานะประเทศใกล้เคียง จีนต้องการเห็นไทยมีความมั่นคงทางการเมือง มีความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ และมีความปรองดองในสังคม โดยจีนเป็นหุ้นส่วนที่จริงใจที่อยากเห็นไทยยกระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และเชื่อว่าพลังของประชาชนจะเป็นพลังในการขับเคลื่อนความมุ่งมั่นในการพัฒนาของทั้งสองประเทศต่อไป

“ทางการจีนได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เสด็จฯ เยือนจีนอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งได้เชิญพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศกําลังพัฒนาที่มีการพัฒนาและการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว(บริกซ์ซัมมิท) ครั้งที่ 9 ที่เมืองเซี่ยเหมิน ในช่วงต้นเดือนกันยายนนี้” นายหวัง อี้กล่าว

นายหวัง อี้ กล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศเป็นพื้นฐานในการขับเคลื่อนความร่วมมือให้เกิดความยั่งยืน และยังเห็นพ้องในการร่วมกันสร้างเส้นทางคมนาคม ซึ่งเชื่อว่าความร่วมมือไทย-จีนดังกล่าวจะทำให้เศรษฐกิจไทยก้าวหน้า เพราะว่าไทยถือเป็นชุมทางเส้นทางคมนาคมทุกรูปแบบ ย่อมเป็นหุ้นส่วนสำคัญในการพัฒนาความร่วมมือ พร้อมกันนี้จีนยังเร่งรัดการดำเนินการก่อสร้างรถไฟไทย-จีน โดยเร็ว เพื่อให้ไทยได้เชื่อมโยงกับตลาดโลก เป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาค และยังเป็นส่วนช่วยส่งเสริมยกระดับเศรษฐกิจไทย ยกระดับดิจิตอลอิโคโนมี เพื่อขยายความร่วมมืออีคอมเมิร์ซของประเทศไทย ให้เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ได้อย่างยั่งยืน

นายหวัง อี้ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นพ้องว่าต้องยกระดับความร่วมมือจีน-อาเซียน กระชับความร่วมมือข้อริเริ่มเส้นทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาอาเซียน รวมถึงต้องให้การเจรจาการค้าเสรีภายใต้กรอบอาร์เซปเสร็จสิ้นโดยเร็ว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของประชาคมเอเชียตะวันออก ตลอดจนรักษาเสถียรภาพในทะเลจีนใต้ ให้ปฏิบัติตามปฏิญญาว่าด้วยแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ดีโอซี)อย่างรอบด้าน เพื่อให้บรรลุการจัดทำแนวปฏิบัติในทะเลจีนใต้(ซีโอซี)ต่อไป

นายหวัง อี้ ยังกล่าวถึงความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีนว่า จีนจะถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างรถไฟ และช่วยอบรมเจ้าหน้าที่เพื่อให้โครงการดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง และสามารถนำไปพัฒนาเศรษฐกิจของไทย ความร่วมมือรถไฟไทย-จีน ที่จะเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมระดับภูมิภาค จะช่วยขับเคลื่อนพัฒนาอุตสาหกรรมและพื้นที่ที่เส้นทางรถไฟผ่าน ยกสถานะให้ไทยเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน และจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจต่อไทยในระยะยาว ซึ่งจีนมีความตั้งใจที่จะช่วยผลักดันความร่วมมือการก่อสร้างรถไฟไทย-จีนนี้ โดยมีโรดแมปที่ชัดเจน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้เร็วยิ่งขึ้น

ขณะที่นายดอน กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าไทย-จีน จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจ ไม่เฉพาะการเชื่อมโยงไปยังประเทศจีน แต่ยังสามารถขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก ขณะเดียวกันจะทำให้กลุ่มนักลงทุนของจีนที่มีศักยภาพเข้าถึงโครงการระเบียงเขตเศรษฐกิจตะวันออก(อีอีซี) แอคเมค และเอเปค นอกจากนี้ยังเชื่อว่าพื้นที่ใดที่มีโครงการรถไฟผ่านจะนำพาไปสู่ความเจริญทางเศรษฐกิจ แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นในการพัฒนาในแต่ละพื้นที่ด้วย

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image