นักวิทย์เตือนคลื่นความร้อนเสี่ยงทำยุโรปตายพุ่ง50เท่า

AFP PHOTO / Marco BERTORELLO

สำนักข่าวรอยเตอร์และเอเอฟพีรายงานว่า เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งเตือนว่า อัตราการเสียชีวิตจากหายนะสภาพอากาศสุดโต่งในยุโรปอาจเพิ่มขึ้น 50 เท่า จากเดิมที่ประเมินไว้ที่ราว 3,000 รายต่อปีเมื่อไม่นานมานี้กลายเป็นมากกว่า 150,000 รายต่อปีภายในปีพ.ศ. 2643 หากไม่มีมาตรการใดๆ เพื่อควบคุมผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ

ในผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารแลนเซต แพลเน็ตทารี เฮลธ์ นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศก่อให้เกิดภาระทางสังคมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว โดย 2 ใน 3 ของประชากรในยุโรปจะได้รับผลกระทบ หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเหตุการณ์สุดโต่งด้านสภาพอากาศไม่ได้รับการควบคุม

การคาดการณ์ดังกล่าว ตั้งอยู่บนสมมุติฐานที่ไม่มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง และไม่มีการปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อลดผลกระทบของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่ง ซึ่งจะทำให้การเสียชีวิตจากสาเหตุที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 3,000 รายต่อปี ระหว่างช่วงปีพ.ศ. 2524-2553 มาอยู่ที่ 152,000 รายต่อปีในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2614-2643

นายจอร์โจ ฟอร์ซิเอรี แห่งศูนย์วิจัยร่วมกรรมาธิการยุโรป ในอิตาลี ที่เป็นผู้นำการศึกษาวิจัยชิ้นนี้ระบุว่า “การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในภัยคุกคามใหญ่ที่สุดของโลกต่อสุขภาพของมนุษย์ในศตวรรษที่ 21 และอันตรายต่อสังคมที่เชื่อมโยงกับความร้ายแรงด้านสภาพอากาศจะเพิ่มขึ้น”

Advertisement

ผลการศึกษาชิ้นนี้วิเคราะห์ผลกระทบของหายนะจากสภาพอากาศที่เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุด 7 แบบ นั่นคือ คลื่นความร้อน คลื่นความเย็น ไฟป่า ความแห้งแล้ง น้ำท่วมที่มาจากการล้นตลิ่งของแม่น้ำ และลมพายุ ใน 28 ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) บวกกับสวิตเซอร์แลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์

ผลปรากฏว่าคลื่นความร้อนเป็นภัยอันตรายร้ายแรงที่สุดและ 99 เปอร์เซ็นต์ของการเสียชีวิตจากสาเหตุเกี่ยวกับสภาพอากาศของยุโรปในอนาคตจะเกิดขึ้นจากคลื่นความร้อน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image