คอลัมน์ไฮไลต์โลก: ข่าวจริง-เท็จ ยุค4.0?!

เอเอฟพี

การเสพข่าวโลกยุค 4.0 จะเชื่อได้ เชื่อไม่ได้ คงต้องกรองข้อเท็จจริงกันให้ดี โดยเฉพาะข่าวจากสื่อโซเชียลทั้งหลายแหล่ ที่ใครจะโพสต์อะไรก็ได้ ข่าวไหนจริง อันไหนเท็จ เป็นข่าวลวง ข่าวปล่อย มีมั่วกันไปหมด การตรวจสอบให้รอบด้าน กรองข้อมูลกันเสียก่อน จึงเป็นเรื่องอันควรก่อนจะตัดสินใจเชื่อลงไป

มีผลสำรวจของบีบีซีเวิลด์ เซอร์วิส สื่อกระแสหลักของอังกฤษ ออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ เผยให้เห็นพลเมืองเน็ตโลกมีความวิตกกังวลมากขึ้นกับพวก fake news หรือข่าวเท็จ ข่าวลวงในโลกออกไลน์ ที่บั่นทอนความเชื่อมั่นในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ ที่เกิดขึ้น ทว่าแม้จะมีความไม่เชื่อมั่นมากขึ้น แต่เสียงส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะวางกฎระเบียบควบคุมเสรีภาพในโลกออนไลน์

โพลนี้เป็นการสำรวจความเห็นกลุ่มตัวอย่างวัยผู้ใหญ่ใน 18 ประเทศ คล้ายกับที่เคยทำมาก่อนแล้วในปี 2010 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 79 บอกว่ามีความกังวลกับการเสพข่าวทางอินเตอร์เน็ตว่าอันไหนเป็นข่าวจริงข่าวเท็จ โดยชาวบราซิลที่เป็นกังวลกับเรื่องนี้มากที่สุด ถึงร้อยละ 92 ชาวอินโดนีเซีย ร้อยละ 90 ไนจีเรีย ร้อยละ 88 และเคนยา ร้อยละ 85

ขณะที่เยอรมนีเป็นชาติเดียวที่มีสัดส่วนของผู้ที่ห่วงเรื่องข่าวจริงข่าวเท็จไม่แตกต่างกันนัก โดยมีกลุ่มผู้ที่ไม่ได้กังวลกับเรื่องนี้นักร้อยละ 51

Advertisement

ผลโพลยังชี้ให้เห็นว่าคนมีความกังวลในเรื่องของการแสดงออกทางความคิดเห็นในโลกออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยร้อยละ 53 บอกว่ารู้สึกไม่ปลอดภัยที่จะแสดงความเห็นของตนเองในโลกออนไลน์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49 ในผลสำรวจครั้งก่อน ประเด็นนี้ยังมีความเห็นแตกต่างกันไปในหมู่โลกที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา โดยพลเมืองเน็ตในไนจีเรีย เปรู และจีน ส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการแสดงออกทางความคิดเห็นในโลกออนไลน์ แต่คนในยุโรปและอเมริกาเหนือจะมีความกังวลมากกว่า โดยมีชาวฝรั่งเศสและชาวกรีกที่ต้องการแสดงความเห็นโดยเสรีทางอินเตอร์เน็ตน้อยที่สุด

ผลสำรวจยังชี้ว่าแม้จะมีความกังวลเรื่องเส้นบางๆ ของข่าวจริงกับข่าวเท็จ แต่คนส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะออกกฎระเบียบควบคุมเสรีภาพในโลกออนไลน์ โดยมีร้อยละ 58 ที่บอกว่าไม่ควรมีกฎระเบียบออกมาควบคุมเลย แต่มีเพียง 2 ประเทศเท่านั้นที่เห็นต่างคือ จีนและอังกฤษ ที่ต้องการให้รัฐบาลมีกฎมาควบคุม โดยชาวจีนเห็นด้วยร้อยละ 67 ส่วนชาวอังกฤษเห็นด้วยร้อยละ 53

ผลสำรวจยังเผยให้เห็นทัศนคติเรื่องการใช้อินเตอร์เน็ตที่แตกต่างกันระหว่างเพศหญิงและเพศชาย โดยผู้ชายนิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากกว่า ที่ร้อยละ 78 เมื่อเทียบกับผู้หญิงร้อยละ 71 นอกจากนี้ ผู้หญิงยังมีความรู้สึกปลอดภัยในการแสดงความคิดเห็นทางออนไลน์น้อยกว่าผู้ชายด้วย

Advertisement

 

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image