ผบ.สส.พม่ายันโรฮีนจาไม่ใช่คนท้องถิ่น จวกสื่อเสนอข่าวเกินจริงเรื่องตัวเลขผู้ลี้ภัย

AFP PHOTO / INDRANIL MUKHERJEE

สำนักข่าวเอเอฟพีและรอยเตอร์รายงานว่า พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่า กล่าวเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมว่า ชาวมุสลิมโรฮีนจาไม่ได้เป็นคนพื้นเมืองของพม่า และสื่อ “รายงานเกินกว่าความจริง” เรื่องจำนวนผู้อพยพชาวโรฮีนจาที่หนีการปราบปรามของกองทัพ ในการออกมาโต้แย้งข้อกล่าวหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มีต่อกองทัพพม่า

มีชาวโรฮีนจาราว 520,000 คนที่หนีออกจากทางตะวันตกของรัฐยะไข่นับตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม เมื่อกองทัพเปิดฉากกวาดล้างกองกำลังติดอาวุธของชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมกลุ่มนี้

การปราบปรามเข้มข้นรุนแรงจนสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมากล่าวหาพม่าว่า พยายามที่จะกำจัดเผ่าพันธุ์ชาวโรฮีนจาทั้งหมด

รายงานฉบับล่าสุดของยูเอ็นที่ออกในวันดังกล่าวนี้อธิบายถึงการปราบปรามที่นำโดยกองทัพครั้งนี้ว่า มีการจัดการประสานงานที่ดีและเป็นระบบ โดยมีความตั้งใจไม่เพียงแค่ผลักดันให้ประชากรกลุ่มนี้ออกจากพม่าไปเท่านั้น แต่เพื่อป้องกันไม่ให้คนเหล่านี้ย้อนกลับมายังบ้านของตนเองด้วย

Advertisement

ครึ่งหนึ่งของชาวโรฮีนจาในพม่าอพยพออกมาในช่วง 7 สัปดาห์หลังสุด โดยหนีออกจากหมู่บ้านที่ถูกเผาเป็นเถ้าถ่านเพื่อข้ามไปยังค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกไปแล้วในตอนนี้

ขณะที่มีอีกหลายพันคนเตรียมอพยพโดยรออยู่ที่ชายหาดและหวังจะข้ามแม่น้ำนาฟก่อนที่อาหารจะหมด
ในหน้าเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของพม่าแสดงความคิดเห็นอย่างไม่รู้สึกผิด โดยระบุว่าการตอบสนองของกองทัพนั้นอยู่ในระดับที่เหมาะสมและกล่าวถึงการอพยพว่าไม่ได้อยู่ในระดับมากมายมหาศาล

เป็นเรื่อง “เกินจริงที่บอกว่าจำนวนของชาวเบงกาลีที่หนีไปยังบังกลาเทศมีมากมายมหาศาล” พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง ลาย ระบุไว้ในโพสต์บนหน้าเฟซบุ๊ก ที่กล่าวถึงชาวโรฮีนจาโดยใช้คำว่า “เบงกาลี” ที่เป็นคำในเชิงดูถูกเหยียดหยามและหมายความว่า ชาวโรฮีนจาเป็นผู้อพยพเข้าเมืองผิดกฏหมาย “พวกเขาไม่ใช่คนพื้นเมือง และไม่ได้ถูกนำเข้ามาโดยชาวพม่า แต่เป็นพวกล่าอาณานิคม และพวกอังกฤษในยุคล่าอาณานิคมเป็นคนต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้”

Advertisement

นอกจากนี้เขายังโทษ “การยุยงและการโฆษณาชวนเชื่อ” ของสื่อที่กลายเป็นที่ระบายความโกรธในพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธและมีความเห็นอกเห็นใจต่อชาวโรฮีนจาน้อยมาก
ความจำเป็นในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยนั้นมากมายมหาศาลขณะที่อาหารและที่พักพิงมีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งภัยคุกคามจากโรคระบาดเริ่มรุนแรงขึ้น

ข่าวระบุว่า การแสดงความคิดเห็นนี้มีขึ้นในระหว่างการพบปะกับนายสก็อต มาร์ซีล ทูตสหรัฐอเมริกาประจำพม่าที่ตามรายงานข่าวระบุว่า “แสดงความกังวลในเรื่องวิกฤตผู้อพยพจำนวนมากและได้เสนอความช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในเรื่องนี้

วันเดียวกัน เจ้าหน้าที่ของนครรัฐวาติกันเปิดเผยว่า สมเด็จพระสันตะปะปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักรโรมันคาทอลิกจะเดินทางเยือนพม่าในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้เพื่อผลักดันให้เกิดสันติภาพ แม้ว่าในหมายกำหนดการณ์ที่เปิดเผยในตอนนี้ สมเด็จพระสันตะปาปาจะไม่ได้เสด็จไปยังรัฐยะไข่หรือค่ายผู้อพยพในบังกลาเทศก็ตาม โดยพระองค์จะทรงพบหารือกับนางออง ซาน ซู จี ที่ปรึกษาแห่งรัฐของพม่า

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image