คอลัมน์ Think Tank: การผงาดของปัญญาประดิษฐ์ จุดสิ้นสุดของมนุษยชาติ?

AFP PHOTO / Google DeepMind / Google DeepMind

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ชัยชนะอันน่าทึ่ง 3-1 ในการแข่งขันระหว่างมนุษย์กับเครื่องจักร ที่ “อัลฟาโกะ” โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของกูเกิล มีเหนือสุดยอดนักเล่นโกะหรือหมากล้อม เน้นย้ำให้เห็นถึงความจำเป็นที่ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์

ชัยชนะที่โปรแกรมอัลฟาโกะมีต่อลี เซ ดอล สุดยอดนักเล่นหมากล้อมชาวเกาหลีใต้แสดงให้เห็นว่า ปัญญาประดิษฐ์ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คิด

และในขณะที่ปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทสำคัญในการสร้างโลกที่ดีและปลอดภัยยิ่งขึ้น หลายฝ่ายกลัวว่าการพัฒนาที่รวดเร็วอาจทำให้ท้ายที่สุดแล้วมนุษย์จะพ่ายแพ้ให้กับสิ่งประดิษฐ์ของตนเอง

“ความจริงที่ว่าเอไอก้าวหน้าอย่างรวดเร็วมากกว่าที่คาดไว้ ทำให้ปัญหาที่มีในระยะยาวเป็นเรื่องเร่งด่วนมากขึ้น” สจวร์ต รัสเซล ผู้เชี่ยวชาญด้านเอไอแห่งสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าและวิทยาการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียเบิร์กลีย์ สหรัฐ บอกและว่า “เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องพัฒนาระเบียบการวิจัยใหม่เพื่อรับประกันว่าระบบเอไอที่ทรงพลังมากยิ่งขึ้นจะยังคงอยู่ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ทั้งหมด”

Advertisement

เพียงไม่ถึง 5 เดือนก่อนหน้านี้ คาดกันว่าต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 1 ทศวรรษ จึงจะสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ที่เป็นเสิศในการเล่นหมากล้อม เกมกระดานอายุเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ซึ่งซับซ้อนมากที่สุดเท่าที่เคยคิดค้นขึ้นมาได้

แต่เมื่ออัลฟาโกะสามารถเอาชนะฟ่าน ฮุย แชมป์หมากล้อมยุโรปชาวฝรั่งเศสเชื้อสายจีนได้ กูเกิลดีพไมนด์ ผู้สร้างจึงตัดสินใจที่จะทดสอบความเก่งกาจที่แท้จริงโดยให้ประมือกับลี ที่ถือเป็นหนึ่งในยอดฝีมือตลอดกาลของหมากล้อม

การเล่นเกมกระดานถือเป็นมาตรวัดสำคัญในพัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์ เนื่องจากเป็นการแสดงให้เห็นว่า เครื่องจักรกล สามารถทำในสิ่งที่ต้องใช้ “สติปัญญา” ได้ดีกว่ามนุษย์

Advertisement

บททดสอบสำคัญครั้งหนึ่งคือเมื่อ “ดีพบลู” ของไอบีเอ็มสามารถเอาชนะ แกรี คาสปารอฟ ยอดฝีมือหมากรุกชาวรัสเซียได้สำเร็จเมื่อปี 2540

แต่หมากล้อมซับซ้อนกว่าหมากรุกมาก โดยมีความเป็นไปได้ในการเดินหมากบนกระดานมากกว่าจำนวนอะตอมในจักรวาลเสียอีก

ส่วนหนึ่งในความสำเร็จของอัลฟาโกะคือ การสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองโดยการเล่นหมากล้อมสู้กับตัวเองหลายล้านกระดานและขัดเกลากลยุทธ์ผ่านการทดลองและความผิดพลาด

ปัญญาประดิษฐ์เป็นอีกหนทางที่จะช่วยให้โลกมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิการมีหุ่นยนต์ดูแลผู้ป่วย บริการขนส่งอย่างปลอดภัย และทำงานเสี่ยงอันตรายที่มนุษย์ไม่ต้องการทำ

แต่สำหรับบางส่วนแล้ว การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่มีการตรวจสอบชวนให้นึกถึงภาพความหายนะที่เครื่องจักรกลเป็นปฏิปักษ์กับมนุษย์

สตีเฟ่น ฮอว์กิ้ง นักฟิสิกส์ชื่อก้องเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เตือนว่า วันหนึ่งคอมพิวเตอร์จะฉลาดกว่ามนุษย์และ “มีความเป็นไปได้ว่าจะจัดการกับมนุษย์ด้วยอาวุธที่เราไม่มีทางเข้าใจ”

ด้านอันเดอร์ส แซนด์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ด ประเทศอังกฤษกล่าวว่า “นี่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นการสูญสิ้นของมนุษยชาติ  อย่างน้อยหากเราตัดสินใจว่าจะพัฒนาเอไอที่เป็นประโยชน์และปลอดภัยมากกว่าเอไอที่มีประสิทธิภาพสูง”

อย่างไรก็ตาม แซนด์เบิร์กบอกว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นเหมือนจุดสูงสุดของคลื่น แต่เป็นกระแสน้ำข้างใต้ที่เราต้องคอยเฝ้าจับตามองเอาไว้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image