‘ภาษีบันเทิง’ หนุนมนุษยธรรม

ความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลกไม่มีวันจะหมดสิ้นไปได้ ตราบใดที่โลกเรายังมีภัยท้าทายจากปัญหาคุกคามต่างๆ โดยเฉพาะจากภาวะสงครามความขัดแย้งและภัยธรรมชาติเลวร้ายที่อยู่นอกเหนือความควบคุมของมนุษยชาติ

ความต้องการดังกล่าวที่มีอยู่มากล้นเกินกำลัง ทำให้สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เป็นเสาหลักค้ำจุนเสถียรภาพและความมั่นคงโลก พยายามหาทางที่จะเพิ่มความช่วยเหลือและกระจายให้ทั่วถึงมือผู้ประสบภัยคุกคามทุกคน ทว่ายังติดปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวนมาก

ก่อนการประชุมสุดยอดด้านมนุษยธรรมโลกจะมีขึ้นที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ หน่วยงานในสังกัดยูเอ็นได้เผยแพร่รายงานการศึกษาเกี่ยวกับความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยท้าทายทั่วโลกของยูเอ็น ระบุว่า สงครามและหายนภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษผ่านมา ทำให้ความจำเป็นต้องการเงินสนับสนุนของยูเอ็นเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากในปี ค.ศ.2000 ที่อยู่ราว 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นเป็น 24,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ค.ศ.2015 แต่ยูเอ็นกลับประสบปัญหาขาดแคลนเงินสนับสนุน ส่งผลให้ในปีที่แล้วหน่วยงานของยูเอ็นจำเป็นต้องตัดลดความช่วยเหลือด้านอาหารที่จะให้แก่ผู้อพยพชาวซีเรียราว 1.6 ล้านคน ที่หนีภัยสงครามกลางเมืองมาพักพิงอยู่ในค่ายผู้อพยพลี้ภัยในประเทศต่างๆ ลง

จากปัญหาข้างต้นทำให้รายงานการศึกษาฉบับนี้ของคณะทำงานยูเอ็นได้นำเสนอ 3 แนวทางใหญ่ในการแก้ปัญหา คือ 1.การตัดไฟเสียแต่ต้นลม โดยการมุ่งเน้นลดความต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก่อนด้วยการส่งเสริมป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งขึ้นบนโลก 2.การขยายเครือข่ายผู้บริจาคไปสู่ผู้บริจาครายใหม่ให้กว้างขวางขึ้น โดยปัจจุบันมีเพียงแค่ 5 ประเทศ ผู้บริจาครายใหญ่โลกเท่านั้นที่บริจาคเงินในสัดส่วน 2 ใน 3 ของเงินสนับสนุนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมโลก และ 3.การจัดเก็บภาษีความบันเทิงโดยสมัครใจ ที่เป็นแนวคิดที่พลเมืองโลกเราทุกคนที่อยู่ในสถานะไม่เดือดร้อนนักและยังหาความสุขความบันเทิงใส่ตัวได้ ช่วยกันบริจาคเงินเล็กๆ น้อยๆ เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

Advertisement

ภาษีบันเทิงดังกล่า วอาจทำในลักษณะเดียวกับ Unitaid องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่ขอความร่วมมือให้ 10 ประเทศจัดเก็บภาษีมูลค่าเล็กน้อยจากค่าตั๋วโดยสารเครื่องบิน เพื่อนำเงินภาษีที่ได้ดังกล่าวมาใช้ในการต่อสู้รับมือกับโรคมาลาเรียและโรคเอดส์ โดยอาจจัดเก็บเป็นภาษีค่าตั๋วเข้าชมฟุตบอลและคอนเสิร์ต เป็นต้น

อีกทางเลือกหนึ่งคือ เงินสนับสนุนจาก ‘ซะกาต’ หรือทานประจำปี ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนเกินของชาวมุสลิมที่จะต้องบริจาคให้ผู้มีสิทธิได้รับซึ่งรวมถึงคนยากจนในแต่ละปี โดยการบริจาคทานหรือซะกาตนี้ของชาวมุสลิมทั่วโลกในแต่ละปีมีมูลค่ารวมกันมากถึงราว 232,000-560,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเงินซะกาตเพียงแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ที่หากมอบให้เพื่อช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม จะพลิกฟื้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นบนโลกได้…

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image