สเปนส่อวิกฤตหลังรบ.ใช้อำนาจพิเศษยึดกาตาลุญญา ยับยั้งการแยกตัวเป็นเอกราช

นายกรัฐมนตรีมารีอาโน ราฆอยของสเปน เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีฉุกเฉินก่อนใช้อำนาจพิเศษยึดกาตาลุญญา / AFP PHOTO / POOL / Diego Crespo

ชาวกาตาลุญญาตื่นขึ้นมาในวันที่ 28 ตุลาคม ภายใต้การปกครองโดยตรงของรัฐบาลกลางกรุงมาดริด หลังจากที่นายมารีอาโน ราฆอย นายกรัฐมนตรีสเปน ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 155 ของรัฐธรรมนูญ ดำเนินการเข้าควบคุมการบริหารราชการของแคว้นกาตาลุญญาด้วยมาตรการพิเศษเพื่อยับยั้งการแยกตัวเป็นเอกราชโดยสั่งปลดผู้นำของแคว้นและยุบสภา ไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่สมาชิกสภานิติบัญญัติของกาตาลุญญาประกาศเอกราชเพียงฝ่ายเดียว

ในวิกฤตการเมืองที่ยกระดับอย่างรวดเร็วซึ่งจุดชนวนความกังวลไปทั่วยุโรปและสร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วสเปน นายราฆอยได้ตัดสินใจให้มีการจัดเลือกตั้งใหม่ในแคว้นกาตาลุญญาในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ เพื่อ “ฟื้นฟูความสงบเรียบร้อย” ของแคว้นให้กลับสู่สภาวะปกติ

ถึงตอนนี้ สายตาทุกคู่จับจ้องอยู่ที่บรรดาแกนนำแบ่งแยกดินแดนกาตาลุญญาว่าจะยินยอมก้าวลงจากตำแหน่งหรือไม่ และกลุ่มผู้สนับสนุนการประกาศเอกราชจะออกมาชุมนุมประท้วงอย่างที่ประกาศไว้หรือไม่
ขณะที่ในกรุงมาดริด ผู้ประท้วงกลุ่มหนึ่งเตรียมออกมาชุมนุมบนท้องถนนเพื่อแสดงออกถึงการต่อต้านการประกาศเอกราชของกาตาลุญญา ซึ่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม สมาชิกสภานิติบัญญัติกาตาลุญญาซึ่งประชุมกันที่รัฐสภาในนครบาร์เซโลนา ผ่านข้อมติ “ประกาศให้กาตาลุญญาเป็นรัฐอิสระที่มีรูปแบบการปกครองในแบบสาธารณรัฐ” ด้วยคะแนนเสียง 70 ต่อ 10 เสียง งดออกเสียง 2 ในสภาที่มีสมาชิกทั้งหมด 135 คน โดยสมาชิกที่ต่อต้านการแยกตัวเป็นเอกราชประท้วงด้วยการวอล์กเอาท์ ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุนการประกาศเอกราชออกมาชุมนุมทั้งในนครบาร์เซโลนาและเมืองอื่นๆ ภายในแคว้นกาตาลุญญาเพื่อเฉลิมฉลอง ด้วยการตะโกนว่า “เราเป็นเอกราช”

Advertisement

อย่างไรก็ตาม มีชาวกาตาลุญญาอีกส่วนหนึ่งที่มองเรื่องนี้อย่างหดหู่โดยเกรงว่าจะมีผลร้ายตามมาจากที่การประกาศเอกราชเป็นการลงมติที่ผิดกฎหมายและสร้างความเสียหายใหญ่หลวง

ข่าวระบุว่า การยึดอำนาจกาตาลุญญามีแนวโน้มว่าจะทำให้คนจำนวนมากในแคว้นที่มีประชากร 7.5 ล้านคนแห่งนี้โกรธเคือง หลังจากที่เคยมีอำนาจปกครองตนเองทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข และตำรวจ โดยนับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลกลางริบอำนาจจากแคว้นปกครองตนเองตั้งแต่สมัยนายพลฟรังโก ฟรานซิสโก อดีตผู้นำเผด็จการที่ปกครองประเทศระหว่างปี 1939-1975 เป็นต้นมา

กลุ่มผู้สนันสนุนการประกาศเอกราชเตือนว่า พวกเขาจะต่อต้านขัดขืนมาตรการพิเศษภายใต้มาตรา 155 ที่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า อาจมาในรูปแบบของการประท้วงบนท้องถนน หรือผละงาน

Advertisement

ด้านนายการ์เลส ปุจเดมอนต์ ประธานาธิบดีกาตาลุญญา เรียกร้องให้บรรดานักเคลื่อนไหว รักษาแรงผลักดันด้วยวิธีการสันติ

ภายใต้มาตรการพิเศษดังกล่าว รัฐบาลกลางยังได้สั่งปลด โจเซ็ป หลุยส์ ตราเปโร ผู้อำนวยการสำนักงานตำรวจกาตาลุญญา และผู้แทนของกาตาลุญญาในสเปนและในสหภาพยุโรป (อียู) แล้ว

ขณะที่นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรป ยืนยันว่า รัฐบาลกรุงมาดริดยังคงเป็นคู่เจรจาเดียวของอียู ในสเปน แต่ได้ทวีตข้อความเรียกร้องให้รัฐบาลสเปนใช้ความอดกลั้น แก้ปัญหาด้วยการเจรจา และหลีกเลี่ยงการใช้กำลังรุนแรง

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image