คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: การสิ้นสุดของรัฐกาหลิบž

การล่มสลายของ รัฐกาหลิบอิสลามŽ ที่สถาปนาขึ้นเองของกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส หรือไอซิส) ไม่โด่งดังเท่า ไม่ได้รับความใส่ใจจากทั่วโลกมากเท่ากับเมื่อครั้งมีการประกาศสถาปนาในปี 1999 แต่เหมือนกันตรงที่ฉับไว รวบรัดมากกว่าที่หลายคนคาดคิด จนอดตั้งข้อกังขาไม่ได้ว่ามีอะไรซุกงำอยู่เบื้องหลังนั้นหรือไม่หนอ

เมืองน้อยใหญ่สองฟากแนวเส้นเขตแดนสมมุติระหว่างอิรักกับซีเรีย ที่เคยอยู่ภายใต้การปกครองของไอเอสหดตัวลงอย่างรวดเร็ว ระบอบปกครองเข้มงวดล่มสลายลงเมืองแล้วเมืองเล่ากระทบต่อเนื่องราวกับตัวโดมิโน ไม่นานหลังจากกองทัพอิรักประกาศชัยชนะและปลดปล่อยพื้นที่ตอนเหนือของโมซุลเมื่อเดือนกรกฎาคม พอสิ้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กองทัพอิรักก็ยึดทัล อัฟฟาร์ ที่ตั้งอยู่ใกล้ๆ กันโดยใช้เวลาเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์

ส่วนการกวาดล้างฮาวีเยาะห์ ที่มั่นสุดท้ายของไอเอสในเขตเมืองในพื้นที่ส่วนของประเทศอิรักใช้เวลาเพียงไม่ถึงวันเท่านั้นเอง

ในซีเรีย ขบวนการไอเอสก็ตกอยู่ในสภาพถอยหนีเช่นเดียวกัน กองกำลังกบฏที่มีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน ประกาศวาระสิ้นสุดการปฏิบัติการทางทหารต่อกองกำลังไอเอส ในรอกเกาะห์ เมืองใหญ่ทางตะวันออกของประเทศซีเรีย ซึ่งไอเอสประกาศให้เป็น เมืองหลวงแห่งรัฐกาหลิบŽ และเป็น ศูนย์กลางŽสำคัญสำหรับการรวมตัวของ นักรบต่างแดนŽ ซึ่งเดินทางมาจากทุกภูมิภาคของโลกเพื่อเข้าร่วมกับ โครงการสถาปนารัฐแห่งนักรบญิฮาดŽ ของไอเอสก่อนหน้านี้สำหรับพื้นที่ซีเรีย ทำนองเดียวกันกับที่โมซุลเป็นที่สำหรับไอเอสในพื้นที่อิรัก

Advertisement

รัฐกาหลิบของไอเอสกำลังพังทลายลงเรื่อยๆ พื้นที่อิทธิพลภายใต้ร่มธงที่เคยกว้างใหญ่หดเล็กลงทุกวัน ผู้อยู่ใต้ปกครองถูกช่วงชิง ในเวลาเดียวกับที่ผู้ที่เคยทำหน้าที่ปกครองก็ไม่อาจปกครองได้อีกต่อไป

สมาชิกไอเอสในซีเรียในยามนี้ ถ้าหากไม่ตาย หรืออยู่ระหว่างดิ้นรนหลบหนี ก็ตกอยู่ในสภาพต้องซ่อนตัว เก็บงำตนเองและคนอื่นใกล้ชิดไว้มิดชิดที่สุดในพื้นที่ลึกที่สุดของทะเลทรายที่นั่น

หรือนี่คือจุดสิ้นสุดของไอเอส?…ย่อมไม่ใช่อย่างแน่นอน

Advertisement

มันเป็นได้มากที่สุดก็เพียงแค่เป็นการสิ้นสุดของรัฐกาหลิบอิสลามเท่านั้นเอง

 

 

ชะตากรรมของรัฐกาหลิบที่เคยเป็นปรากฏการณ์เชิงกายภาพŽ ของไอเอส ทั้งในซีเรียและอิรัก ไม่ได้หมายถึงการสิ้นสุดของอุดมการณ์และเครือข่ายของขบวนการนิยมลัทธิอิสลามสุดโต่งขบวนการนี้อย่างแน่นอน ในทางตรงกันข้ามยิ่งนับวันยิ่งมีหลายกลุ่มที่นิยมความรุนแรงในหลายพื้นที่ ปวารณาตัวเข้าเป็นส่วนหนึ่งของไอเอส เรียกพื้นที่อิทธิพลของตัวเองว่า จังหวัดŽ ของ รัฐกาหลิบŽ


จังหวัดŽ เหล่านี้มีทั้งในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และในเอเชีย ทั้งๆ ที่น้อยรายนักที่มีรากเหง้ามาจากรัฐกาหลิบของไอเอสในซีเรียและอิรัก

ระดับความเข้มของความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดเหล่านี้กับรัฐกาหลิบอิสลามของไอเอสนั้นสูงต่ำแตกต่างกันออกไป มีไม่น้อยเช่นกันที่ประกาศตัวเช่นนั้นเพื่อยังประโยชน์ให้กับ วิถีŽ ของกลุ่มตนที่ดำเนินมายาวนานก่อนหน้าการเกิดไอเอสด้วยซ้ำไป เพราะเชื่อว่าจะสามารถเรียกความสนใจได้มากขึ้น ดึงดูดนักรบญิฮาดจากที่อื่นๆ ได้มากขึ้น

อาลี ซูฟาน อดีตเจ้าหน้าที่สำนักงานสอบสวนกลาง (เอฟบีไอ) ที่เคยรับผิดชอบการสืบสวนสอบสวนกรณี 9/11 เจ้าของงานเขียน อนาโตมี ออฟ เทอร์เรอร์Ž ชี้ว่า ไอเอสกำลังเปลี่ยนแปลง

ผมคิดว่า ไอเอสจะเปลี่ยนสถานะจากรัฐก่อนยุคสังคมเมือง (โปรโต-สเตท) กลายเป็นองค์การก่อการร้ายใต้ดิน ที่มีกลุ่มก้อนของผู้สมรู้ร่วมคิดกระจัดกระจายกันอยู่ทั่วโลก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับคำตอบของคำถามประการหนึ่ง นั่นคือ จะเกิดอะไรขึ้นหากไม่มีรัฐกาหลิบอิสลามแล้ว? เพราะพวกเขาสาบานตนที่จะภักดีต่อกาหลิบและต่อรัฐ ซึ่งไม่มีอยู่จริงอีกต่อไปแล้วŽ

ไม่เพียงตัวรัฐ ซึ่งเดิมเคยมีเนื้อที่กว้างขวางกว่า 100,000 ตารางกิโลเมตร ทั้งในอิรักและซีเรีย ไม่มีอยู่จริงเท่านั้น จำนวนผู้คนก็ลดน้อยลงมหาศาล

ในจุดที่เคยทรงอิทธิพลสูงสุดในราวปี 2014 พื้นที่มากกว่าแสนตารางกิโลเมตรดังกล่าวเคยมีประชาชนอยู่ภายใต้การควบคุมมากถึง 11 ล้านคน ในจำนวนนั้นเป็น นักรบญิฮาดจากต่างแดนŽ มากถึง 40,000 คนจากกว่า 120 ประเทศ แต่พอถึงต้นปี 2017 นี้ จำนวนประชาชนที่เคยอยู่ภายใต้การควบคุมของไอเอสในซีเรียก็ลดลงราว 56 เปอร์เซ็นต์

ส่วนในอิรักนั้นลดลงมากถึง 83 เปอร์เซ็นต์

 

 

คริส ไมเออร์ ผู้อำนวยการหน่วยงานเฉพาะกิจเพื่อเอาชนะไอเอส ประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเตือนว่า ทุกฝ่ายจำเป็นต้องระวังอย่างมากไม่ให้สับสนหรือไขว้เขวระหว่างการยึดเมือง ยึดพื้นที่ กลับคืนมาจากที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของไอเอส กับการเอาชนะไอเอส

การยึดคืนพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น แต่แค่ได้พื้นที่คืนยังไม่เพียงพอŽ ตราบเท่าที่ไอเอสยังสามารถปฏิบัติการลับๆ หรือยังคงมีศักยภาพในการปฏิบัติการกองโจรอยู่ทั้งในอิรักและซีเรีย ซึ่งเชื่อว่ายังเป็นไปได้อย่างน้อยก็ในอนาคตอันใกล้ ตราบนั้นไอเอสจะยังคงค้นพบรอยปริ รอยตะเข็บที่สามารถใช้เป็นประโยชน์สำหรับพวกตนได้ต่อไปในพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ซึ่งไร้เสถียรภาพและไร้ความชอบธรรม

นักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า ไอเอส หรือไอซิส มองเห็นจุดจบของรัฐกาหลิบอยู่ก่อนแล้วและปรับทิศทางการโน้มน้าวผู้คนให้เข้าร่วมขบวนการของตนเองไปที่อื่น ไม่ใช่ในซีเรียและอิรัก แต่ข้อสังเกตดังกล่าวก็น่าจะเป็นเรื่องของการระดมคนเพื่อเป้าหมายอย่างอื่นไม่ใช่อย่างที่เคยเป็นในซีเรียและอิรัก และไม่ใช่ว่าแกนนำของไอเอสในซีเรียหรืออิรักจะเดินทางไปปักหลักยังที่ใหม่แต่อย่างใด

ฮัสซัน ฮัสซัน นักวิเคราะห์และผู้เขียนหนังสือ เจาะลึกกองกำลังรัฐอิสลามŽ (สำนักพิมพ์มติชน 2559) ร่วมกับ ไมเคิล ไวส์ ชี้ว่า ส่วนที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่อิรักและซีเรียในเวลานี้คือ แกนŽ ที่เป็นแก่นแท้ของไอเอสจริงๆ
สิ่งที่หลงเหลืออยู่ในเวลานี้คือแกนของไอเอส คือคนที่มีความศรัทธาต่อรัฐ ต่อกาหลิบ และต่อแนวคิดนี้จริงŽ และเชื่อว่าคนเหล่านี้คงตกอยู่ในสภาพ ถูกจำกัดŽ ทั้งบทบาทและอิทธิพลอยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่ในอนาคตหากการเมืองการปกครองยังคงก่อให้เกิดความเจ็บปวดต่อสังคม ต่อผู้คนอยู่ต่อไป ก็จะกลายเป็นรากฐานให้ไอเอสสามารถกลับมาฟื้นฟูอำนาจอิทธิพลได้อีกครั้งในไม่ช้าไม่นาน

เพราะ ฮัสซัน ฮัสซัน เชื่อว่าปัญหาการกดขี่ทางการเมือง การปกครอง ไม่ว่าจะในอิรักหรือซีเรียยังคงไม่ได้รับการแก้ไขในเวลานี้

ไอเอสยังคงเป็นภัยคุกคาม โอกาสที่จะกลับมาฟื้นฟูรัฐกาหลิบขึ้นอีกครั้งยังคงมีอยู่ พวกนั้นยังจินตนาการถึงมัน ต้องการมัน และสภาพแวดล้อมที่เป็นอยู่ในเวลานี้ก็ยังเอื้ออำนวยอีกด้วยŽ

แดเนียล บายแมน ผู้เชี่ยวชาญไอเอสอีกราย บอกว่า ภาพผิดๆ ของการล่มสลายของรัฐในห้วงคำนึงของคนทั่วไป ก็คือ การแตกหนี ที่มีผู้คนเป็นคันรถ หรือต้องใช้เครื่องบินเป็นลำๆ บินหนีไปที่โน่นที่นั่น

ในความเป็นจริงมันไม่ได้เป็นรูปธรรมถึงขนาดนั้น แต่กลับเหมือนน้ำหยดหนึ่งหยดลงบนผืนทรายแห้งๆ แล้วซึมหายไปอย่างรวดเร็วมากกว่า

 

 

ลีนา คาทิบ หัวหน้าโครงการตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ประจำสำนักวิชาการ แชทแฮม เฮาส์ ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ชี้ว่า การพ่ายแพ้ในด้านการทหารของไอเอสในซีเรียและอิรัก เป็นการพ่ายแพ้ในเชิง สัญลักษณ์Ž มากกว่าที่จะเป็นการแพ้ในแง่ ปฏิบัติการŽ

เพราะกิจกรรมของไอเอสในพื้นที่อื่นๆ นอกภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ล้วนแต่เป็นฝีมือปฏิบัติการของเซลล์ก่อการร้ายในแต่ละพื้นที่ทั้งสิ้น เซลล์ก่อการร้ายเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพียงผู้ที่เห็นด้วยกับแนวความคิดและแนวทางที่ไอเอสนำเสนอ และรอรับคำสั่งจากแกนนำที่ซ่อนอยู่ในหลืบทะเลทรายชายแดนคาบเกี่ยวระหว่างซีเรียและอิรักในบางกรณี แต่ในอีกหลายๆ กรณี คนเหล่านี้ตัดสินใจลงมือเมื่อมีโอกาส หรือเมื่อโอกาสเปิดให้พวกเขาลงมือทั้งสิ้นŽ

พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ สลีปเปอร์เซลล์Ž ของไอเอส ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ยังคงสามารถปฏิบัติการได้เต็มที่ต่อไป ไม่ได้รับผลกระทบจากสิ่งที่เกิดขึ้นในซีเรียและอิรักแต่อย่างใด

อาลี ซูฟาน ชี้ว่า ในขณะที่ไอเอสยอมรามือจากการครอบครองดินแดนของตนที่เคยประกอบกันขึ้นเป็นรัฐกาหลิบ ทั้งกลุ่มและชื่อ ไอเอส คงไม่ได้หายไปง่ายๆ เหตุผลก็คือ ชื่อนี้มีอิทธิพลสูงเหลือเกินในแง่ของการสร้างแรงบันดาลใจ สร้างแรงดึงดูดใจให้กับผู้ที่หลงเชื่อแนวทางสุดโต่ง
เราได้เห็นมาแล้วว่ามีคนทั่วโลกมากมายแค่ไหนหลั่งไหลเข้ามาในซีเรียและอิรัก ไอเอสยังอาจสามารถทำในแบบเดียวกันได้ในพื้นที่อื่นของโลก ไม่ว่าจะมีจังหวัดของรัฐกาหลิบตั้งอยู่หรือไม่ก็ตามŽ

หนึ่งในพื้นที่เหล่านั้นที่น่าสนใจก็คือ ลิเบีย ซึ่งก่อนหน้านี้ไอเอสเคยมี เซิร์ตŽ เป็นเมืองอิทธิพล และแม้ว่าไอเอสจะถูกผลักดันออกจากเซิร์ตจนหมดเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ยังคงมีกลุ่มก้อนอยู่ในพื้นที่ทะเลทราย ซึ่งกวาดล้างลำบาก ในเวลาเดียวกันสภาพการเมืองการปกครองที่ยุ่งเหยิงระดับโกลาหลของลิเบียก็ทำให้การกวาดล้างยังคงเป็นไปไม่ได้

พื้นที่ถัดมาคือ พื้นที่คาบสมุทรไซนาย ส่วนที่อยู่ในปกครองของอียิปต์ ซึ่งไม่เพียงไอเอสมีกำลังเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ยังมีปฏิบัติการถี่ขึ้นอีกด้วยในระยะหลัง

อัฟกานิสถาน น่าจะเป็นพื้นที่ลำดับต้นๆ สำหรับการเข้ามาปักหลักของไอเอส แต่เอาเข้าจริงแล้วไอเอสในอัฟกานิสถานมีปัญหาไม่น้อยในการ กลมกลืนŽ กับกองกำลังอื่นๆ ในพื้นที่ ทำให้ถูกกดดันจากทั้งขบวนการทาลิบัน และกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มขุนศึกต่างๆ ไปพร้อมๆ กัน เช่นเดียวกับที่กองกำลังติดอาวุธอัล-ชาบับ ในเยเมนที่ปฏิเสธไอเอสเด็ดขาด

ในเอเชีย เหตุการณ์ที่จังหวัดมาราวี บนเกาะมินดาเนา ของฟิลิปปินส์ ที่สามารถยืนหยัดการปราบปรามของกองทัพได้นานถึง 5 เดือน สะท้อนความน่าพรั่นพรึงต่อศักยภาพในการดึงดูดนักรบของไอเอสที่นั่นได้เป็นอย่างดี

ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้คนเหล่านั้นก็คือ อาบู ไซยัฟ ขบวนการก่อการร้ายที่ไม่เคยประสบผลสำเร็จเท่านี้มาก่อน

ทั้งๆ ที่ก่อตั้งมาก่อนเนิ่นนาน

บรูซ ฮอฟฟ์แมน ผู้อำนวยการศูนย์ความมั่นคงศึกษาของมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ สรุปความเอาไว้ว่า นับแต่นี้ต่อไปไอเอสอาจเริ่มต้นด้วยกลุ่มติดอาวุธไม่ใหญ่โตนัก ฝังตัวอยู่ในรัฐใดก็ตามที่ไร้ขื่อแป ในรัฐที่ล้มเหลวทั้งหลาย หรือตามตะเข็บแนวชายแดนที่อำนาจกฎหมายเอื้อมไปไม่ถึง

ซึ่งปราบปรามได้ยากมากและจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งสำคัญเพื่อขจัดภัยคุกคามดังกล่าวนี้ให้ได้ต่อไป

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image