ครุ่นคำนึง ถึง “ถนัด คอมันตร์”

ข่าว พ.อ.(พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เสียชีวิตลงด้วยโรคชรา ขณะอายุได้ 101 ปี เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมา ดูเหมือนมีเพียงสำนักข่าวเอพีเท่านั้นที่รายงานเรื่องนี้ออกไปทั่วโลกอย่างเป็นงานเป็นการ ผมได้อ่านข้อเขียนของ แกรนท์ เป็ค ผู้สื่อข่าวเอพีประจำกรุงเทพฯ ผ่านทางหน้าหนังสือพิมพ์ บอสตัน โกลบ ในวันที่ 6 มีนาคมนี้นี่เอง

ก็ไม่น่าแปลกใจ เพราะบทบาทของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศคนนี้มีสูงมากในช่วงที่เป็นคนละยุคคนละสมัยกับในเวลานี้ไม่น้อย

ผมเอง ไม่เคยเจอะเจอ ไม่เคยพบหน้า แต่รู้จักกับท่านรัฐมนตรีผ่านตัวหนังสือเยอะมากในยุคหนึ่ง

เรียกได้ว่าบทบาทของ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ในยุคนั้นทำให้ผมได้ตระหนักถึงความสำคัญและอิทธิพลของสิ่งที่เรียกว่า “นโยบายต่างประเทศ” ต่อทิศทาง หรือแม้แต่ความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศ

Advertisement

และมีอิทธิพลไม่น้อยต่อการตัดสินเลือกศึกษาวิชารัฐศาสตร์ ในส่วนที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของผม

นอกเหนือจากประวัติส่วนตัวของท่านถนัดแล้ว เนื้อหาส่วนใหญ่ที่ แกรนท์ เป็ค เขียนเอาไว้ เป็นเรื่องที่ผมต้องท่องจำหลายรอบไม่น้อย สมัยที่เป็นนักศึกษา นั่นคือตอนที่ชื่อของ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ ถูกจับไปเรียงเคียงคู่อยู่กับชื่อของอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกาอย่าง ดีน รัสก์

คือเรื่องที่ว่าด้วย “แถลงการณ์ถนัด-รัสก์” ซึ่งรายงานของเอพี ขยายความเอาไว้ว่า “เป็นแถลงการณ์ร่วมกันในปี 2505 สาระสำคัญนั้นว่าด้วยการให้คำมั่นของสหรัฐอเมริกาว่าจะส่งกำลังเข้ามาให้ความช่วยเหลือต่อประเทศไทยในกรณีที่เผชิญการรุกราน” โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งต่อสมาชิกสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) แต่อย่างใด

Advertisement

นั่นคือช่วงเวลาที่ “ผีคอมมิวนิสต์” ถูกปลุกขึ้นมาเต้นเร่าๆ อยู่ในความรู้สึกนึกคิดของผู้คนทั่วไป

ที่มาสำคัญของความตกลง “ถนัด-รัสก์” ดังกล่าว คือการที่ลาวประเทศเพื่อนบ้านของไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ อันเป็นการเปลี่ยนแปลงในยามที่ กองกำลังคอมมิวนิสต์เวียดนามใต้และเวียดนามเหนือกำลังโหมกดดันเข้าใส่ รัฐบาลเวียดนามใต้อย่างหนัก

แกรนท์ เป็ค เขียนเอาไว้ว่า “ความตกลง (ถนัด-รัสก์) ดึงไทยเข้าไปใกล้ชิดอยู่ในวงจรของสหรัฐอเมริกา” อันเป็นสภาพที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในเวลาไม่ช้าไม่นานต่อมา ว่าเป็นการ “ตามก้นอเมริกัน” นั่นแหละครับ

ในทางหนึ่ง “ถนัด-รัสก์” ส่งผลให้มี “เงินช่วยเหลือ” เพื่อการพัฒนามหาศาลหลั่งไหลเข้ามาสู่ประเทศไทย แต่ในอีกทางหนึ่ง ก็เป็นการเปิดทางให้ ทหารอเมริกันเข้ามาลงหลักปักฐานอยู่ในไทยกันเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน ที่ฐานทัพอากาศหลายต่อหลายแห่งทั่วประเทศ ซึ่งถูกใช้เป็นฐานที่มั่นสำคัญในการเดินทางไปปฏิบัติ “ภารกิจ” ในเวียดนาม

ใครที่มีชีวิตผ่านยุคสมัยที่ว่านั้น คงจดจำบรรยากาศ เพลงสากลค่ายทหารจีไอ สินค้าหนีภาษีที่ทะลักออกมาจากคลัง พี-เอ็กซ์ ของทหารอเมริกัน เรื่อยไปจนถึง “ลูกฝรั่งหัวแดง” ที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมแห่งยุคสมัยได้เป็นอย่างดี

นั่นคือผลพวงของ “ถนัด-รัสก์” ที่คนไทยเราสัมผัสได้โดยตรง นอกเหนือจากผลพวงทางอ้อมอย่าง “สงครามลับ” ในลาว และอาสาสมัครทหารไทยในสงครามเวียดนาม ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะเลือนๆ ลืมๆ กันไปหมดแล้ว

ทหารอเมริกันคนสุดท้ายเดินทางออกจากเมืองไทยในปี 2519 ตอนนั้นแหละที่ผมตัดสินใจเลือกเรียนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ใช่เพราะอยากเป็นทูต เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ แต่เพราะอยากเข้าใจเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ผมเห็นอยู่กับตาให้ลึกซึ้งมากขึ้นไปอีก

ข้อมูลของ แกรนท์ เป็ค ตอนหนึ่งระบุเอาไว้น่าสนใจครับว่า พ.อ.ถนัด มาตระหนักเอาเมื่อตอนปลายทศวรรษ 1960 ว่า วอชิงตันไม่น่าจะยืนหยัดอยู่ในเวียดนามได้ตลอดไป และเป็นคนเริ่มจัดเตรียมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยเสียใหม่ หันไปผูกมิตรกับจีน

ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยกับจีน เริ่มสถาปนาขึ้นอย่างเป็นทางการในปี 2518 เมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารของไทยถูกโค่นพ้นจากอำนาจและมีรัฐบาลพลเรือนขึ้นมาทำหน้าที่แทน ในเวลาเดียวกันนั้นเพื่อนบ้านไทยหลายต่อหลายประเทศก็ตกอยู่ในมือของรัฐบาลคอมมิวนิสต์

จอห์น กุนเธอร์ ดีน นักการทูตอเมริกันรุ่นลายคราม อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เคยพูดถึง พ.อ.ถนัด เอาไว้เมื่อปี 2543 ไว้ว่า เป็น “ชาตินิยมขนานแท้” คบกับอเมริกันด้วยดีเมื่อมีผลประโยชน์ร่วม

“แต่เมื่อเวลาผ่านไป ยิ่งนับวันความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับสหรัฐอเมริกาของคุณถนัดก็ทิ้งห่างออกไปมากขึ้น ระยะหลังถึงกับออกมาวิพากษ์วิจารณ์สหรัฐอเมริกาในหลายๆ เรื่อง”

ทั้งหมดนี้คือ ถนัด คอมันตร์ ในห้วงคำนึงครับ!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image