‘ปธน.ทรัมป์’! ติด 1 ใน 10 ความเสี่ยงภัยโลก

AFP

เมื่อวันที่ 17 มีนาคม สำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า การชนะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาของนายโดนัลด์ ทรัมป์ มหาเศรษฐีด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และผู้สมัครเป็นตัวแทนรีพับลิกันเพื่อชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ ถูกจัดอยู่ 1 ใน 10 ความเสี่ยงอันตรายมากที่สุดของโลก จากการจัดอันดับของ “ดิ โอโคโนมิสต์ อินเทลลิเจนซ์ ยูนิต” (อีไอยู) บริษัทวิจัยชั้นนำ ที่ยังเตือนว่าทรัมป์สามารถทำให้เศรษฐกิจโลกยุ่งเหยิงและจะทำให้เกิดความเสี่ยงภัยทางการเมืองและความมั่นคงในสหรัฐเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดียังคงเป็นที่คาดหมายว่าทรัมป์ไม่น่าจะเอาชนะนางฮิลลารี คลินตัน อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ที่ถูกมองว่าน่าจะได้เป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐ

จากการจัด 10 อันดับความเสี่ยงภัยโลกที่มีมาตรวัดเป็นคะแนน 1 ถึง 25 ของอีไอยูชี้ว่า การได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐของทรัมป์ ยังทำให้โลกมีความเสี่ยงภัยมากกว่าการที่อังกฤษจะก้าวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป(อียู)ที่เรียกว่า “เบร็กซิท” หรือการปะทะกันของคู่พิพาทในทะเลจีนใต้เสียอีก

“ทรัมป์แสดงท่าความเป็นปฏิปักษ์ต่อการค้าเสรี รวมถึงข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(นาฟต้า) และทรัมป์ยังตราหน้าจีนซ้ำว่าเป็นนักบิดเบือนค่าเงิน การใช้ถ้อยคำที่เผ็ดร้อนแข็งกร้าวต่อเม็กซิโกและจีนของเขายังจะทำให้สงครามการค้าลุกลามบานปลายไปมากขึ้นได้” อีไอยูระบุ และว่า ความโน้มเอียงในการจัดการทางทหารที่มีต่อตะวันออกกลางและการห้ามมุสลิมเดินทางเข้าสหรัฐของทรัมป์จะกลายเป็นเครื่องมือในการเกณฑ์ไพร่พลของกลุ่มนักรบญิฮาดชั้นดี ที่จะก่อให้เกิดภัยคุกคามเพิ่มมากขึ้นทั้งในภูมิภาคและนอกภูมิภาค

ส่วนประเด็นปัญหาที่เป็นความเสี่ยงภัยสูงสุดของโลกจากการจัดอันดับของอีไอยู คือ 1.การได้เห็นเศรษฐกิจจีนดิ่งทรุดหนัก ตามมาด้วย 2.การเข้าแทรกแซงกิจการภายในยูเครนของรัสเซียและภาวะสงครามเย็นรอบใหม่ในซีเรีย 3.ความผันผวนของค่าเงินในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่จะส่งผลให้เกิดวิกฤตหนี้ของภาคเอกชนตามมา 4.การถูกรุมเร้าด้วยแรงกดดันทั้งจากภายในและภายนอกที่จะทำให้เกิดรอยร้าวในอียู 5.ปรากฏการณ์”เกร็กซิท” หรือการออกจากยูโรโซนของประเทศกรีซ ที่จะตามมาด้วยการแตกแยกของยูโรโซน 6.ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ 7.ภัยคุกคามที่มีมากขึ้นจากการก่อการร้ายของกลุ่มนักรบญิฮาดที่จะบ่อนทำลายเศรษฐกิจโลก 8.สหราชอาณาจักรลงคะแนนโหวตออกจากอียู 9.การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนที่ทำให้เกิดการปะทะรบพุ่งกันในทะเลจีนใต้ และ 10.การล่มสลายของการลงทุนในภาคพลังงานที่จะจุดภาวะช็อกโลกในเรื่องราคาน้ำมันที่ซื้อขายกันในอนาคตตามมา

Advertisement
QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image