คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ด้วยรักจากปารีส

FILE PHOTO: REUTERS/Romeo Ranoco/File Photo

บุคคลที่เคยมีทั้งภารกิจ ทั้งกิจวัตร จำเป็นต้องพบปะผู้คนมากหน้าหลายตา ยุ่งเหยิงตลอดทั้งวัน จู่ๆ ทุกอย่างพลันหายวับ หลงเหลือเพียงไม่กี่คนใกล้ชิด ต้องทำตัวอย่างไร ต้องจัดการเรื่องชีวิตกับเวลาอย่างไร?

ในแง่ของคนทั่วไป นั่นเป็นเรื่องยากลำบากประการหนึ่ง สำหรับคนอย่าง สม รังสี ความยุ่งยากในใจยิ่งทวีมากขึ้นไปอีก เนื่องจากในห้วงคำนึงยังคงโยงใยอยู่กับผู้คนทั้งหลายในมาตุภูมิที่ไกลโพ้นอย่างแนบแน่น

โชคดีที่ในฐานะนักการเมืองอาชีพ ในฐานะผู้นำปีกการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามกับรัฐบาล ภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก สร้างความคุ้นเคยให้เกิดขึ้นได้อยู่บ้าง ไม่มากก็น้อย

สม รังสี ถูกบีบจนจำเป็นต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรค กู้ชาติกัมพูชา (ซีเอ็นอาร์พี) พรรคฝ่ายค้านระดับหัวแถวของประเทศเมื่อต้นปีที่ผ่านมา และจำเป็นต้องเดินทางออกจากบ้านเกิดเมืองนอน ผ่านไทย สหรัฐอเมริกา ก่อนที่จะลงเอยอยู่ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

Advertisement

เป็นการตัดสินใจก่อนที่ร่างแก้ไขกฎหมายพรรคการเมือง ที่เพิ่มเติมบทบัญญัติว่าด้วยการห้ามดำรงตำแหน่งระดับสูงในพรรคการเมืองของผู้ต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดอาญา ที่รัฐบาลนำเสนอ จะมีผลบังคับใช้

การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ผู้รู้ 9 ใน 10 ระบุว่า มีเจตนาทางการเมืองพุ่งเป้าเพื่อจัดการกับ สม รังสี และพรรคซีเอ็นอาร์พีเป็นการเฉพาะ

เพราะสม รังสี กับพรรคและความนิยมชมชอบต่อซีเอ็นอาร์พี ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในระยะหลังนี้แทบจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน จัดการกับสม รังสี ได้ ก็จัดการกับซีเอ็นอาร์พีได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น

Advertisement

เดือนกันยายนที่ผ่านมา ประธานพรรคซีเอ็นอาร์พีที่ถูกเลือกเข้ารับหน้าที่แทนเขา ถูกจับกุมในข้อหาเป็นกบฏต่อชาติ เชื่อมโยงไปสู่คำพิพากษาศาลฎีกา ให้ยุบพรรคซีเอ็นอาร์พีเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทั้งผู้คน ทั้งพรรคการเมืองมลายหายไปภายใต้คำพิพากษาดังกล่าว

ผู้สันทัดกรณีทางการเมืองกัมพูชาออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า ปฐมเหตุของการยุบพรรคฝ่ายค้านสำคัญที่สุดของประเทศ เริ่มต้นเมื่อปี 2013

เริ่มต้นเมื่อผลการเลือกตั้งทั่วไปในปีนั้นปรากฏชัดเจนว่า พรรคการเมืองใหม่ นักการเมืองใหม่ๆ สามารถเขย่าขวัญ สั่นคลอนอำนาจของพรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) และรัฐบาลได้จนถึงฐานราก

ตอกย้ำทิศทางทางการเมืองดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้นในการเลือกตั้งท้องถิ่นในระดับคอมมูน ทั่วประเทศเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

นำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า พรรคฝ่ายค้านอย่างซีเอ็นอาร์พีต้องถูกทุบทำลาย

 

 

สม รังสี ผ่านวันเวลาระหว่างการลี้ภัยทางการเมืองอยู่ในปารีส ใจกลางกรุงปารีส ในอาณาบริเวณที่ขึ้นชื่อลือชาของตลาดอสังหาริมทรัพย์ฝรั่งเศสว่าแพงระยับ อพาร์ตเมนต์ของอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองฝ่ายค้านในใจกลางปารีส ยิ่งเน้นให้เห็นถึงระยะห่างระหว่างสม รังสี กับบรรดาผู้สนับสนุนทั้งหลายในกัมพูชา ที่ส่วนใหญ่ยังคงใช้ชีวิตอยู่กับบ้านไม้ ยกพื้นสูงตามแบบฉบับของชนบทห่างไกลของกัมพูชา

ในขณะที่อพาร์ตเมนต์หลังนี้มีลิฟต์ขึ้นตรงถึงในห้องนั่งเล่น ซึ่งด้านหนึ่งเป็นครัวสมัยใหม่ ถัดออกไปเป็นสวนเล็กๆ บนระเบียง ซึ่งสม รังสี ใช้เป็นพื้นที่ปลูกผัก ไม้ผลขนาดเล็กและสมุนไพร พอให้มีเวลาได้ดูแลทุกยามบ่าย

สม รังสี เป็นเจ้าของอพาร์ตเมนต์แห่งนี้ทั้งหลัง แต่เลือกใช้เป็นที่พักเพียงชั้นเดียว ส่วนที่เหลือ เปิดให้เช่า หาเงินมาใช้สนับสนุนกิจกรรมทางการเมืองของตัวเอง

นอกเหนือจากครัวทันสมัย สไตล์ยุโรป ห้องนอนทุกห้องชั้นที่สม รังสี ใช้ชีวิตอยู่ ผ่านการตกแต่งเล็กน้อย ผนังเพียงประดับประดาด้วยภาพถ่าย ไม่ได้เข้ากรอบ แสดงถึงบุคคลในครอบครัวและเพื่อนพ้อง ติดไว้หยาบๆ เน้นให้เห็นถึงความเรียบง่าย ไม่หรูหราอย่างจงใจ

เพียงไม่รู้เจตนาว่าผู้อยู่อาศัยยอมรับและคุ้นเคยกับความเรียบง่าย ไม่ฟุ้งเฟ้อ อยู่ก่อนแล้ว หรือเป็นเพราะไม่ได้คิดว่าที่นี่คือที่พักอาศัยถาวร เป็นเพียงฐานชั่วคราวที่พร้อมผละจากไปได้ทุกเมื่อเท่านั้น

นอกเหนือจากกิจกรรมเพาะปลูกและดูแลพืชผัก ไปช้อปปิ้งกับภรรยาอยู่บ้างในยามบ่าย สม รังสี ใช้เวลาอีกส่วนไปกับการวิ่งออกกำลังในชุดจัมพ์สูทสีแดง ไปไหนมาไหนด้วยจักรยาน ที่สะสมเป็นงานอดิเรกสร้างอารมณ์กึ่งขบขันกึ่งหงุดหงิดให้กับคู่ชีวิต

ผู้นำฝ่ายค้านกัมพูชาวัย 68 ปี เจ้าของแว่นตากรอบหนาที่เป็นสัญลักษณ์ ใช้ชีวิตอยู่กับ เตียวหลง สมอุรา ผู้เป็นภรรยา กับผู้ช่วยชาวกัมพูชาอีก 3 คน พยายามอย่างถึงที่สุดเพื่อใช้เวลาส่วนที่ตื่นอยู่ร่วมรับรู้และแบ่งปันเรื่องราวเกี่ยวกับเพื่อนร่วมชาติของตนเอง

“ทุกอย่างยังคงหมุนเวียนอยู่รอบๆ กัมพูชา” เขาบอก “งานที่ผมทำ ความคิดทั้งหมดของผมเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกัมพูชาอยู่ตลอดเวลา”

เพื่อการนี้ เขาจำเป็นต้องมีอินเตอร์เน็ต เพื่อใช้ในการติดต่อ แลกเปลี่ยน ฯลฯ

“อินเตอร์เน็ตทำให้ระยะห่างทางกายภาพจริงๆ ไม่เป็นปัญหา”

 

 

แม้จะอยู่ห่างไกลออกไป แม้จะลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคและกลายเป็นส่วนหนึ่งของความปั่นป่วนทางการเมืองในบ้านเกิด สม รังสี ยังคงเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่กับการเมืองในกัมพูชา เหมือนเมื่อครั้งยังคงดำรงตำแหน่งประธานพรรค แต่รายละเอียดในเชิงปฏิบัติของการเข้าไปมีส่วนร่วมย่อมแตกต่างออกไป

“ในทางปฏิบัติย่อมต้องเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง โดยทางเทคนิคแล้ว ผมไม่สามารถเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกๆอย่างได้ แต่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระ ส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี ผมยังคงเกี่ยวข้องอยู่เหมือนที่ผ่านมา”

เป็นการเข้าไปยุ่งเกี่ยวทางการเมืองจากระยะทางห่างไกล โดยความช่วยเหลือจากภรรยาและผู้ช่วยทั้ง 3

โต๊ะอาหารในห้องครัว คือสถานที่สำหรับทีมงานเล็กๆ จากปารีสได้ติดต่อพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานในกัมพูชา ทั้งยังเป็นสถานที่ใช้สำหรับการล็อบบี้นักการเมืองระหว่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ทั้งยังใช้เป็นจุดในการจัดการการเดินทางไปยังประเทศต่างๆ รวมทั้งที่ขาดไม่ได้ ก็คือใช้เป็นสถานที่สำหรับการบริหารจัดการโซเชียลมีเดียทั้งหลายเท่าที่มีของสม รังสี

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา สม รังสี กำลังใช้โต๊ะตัวเดียวกันนี้ทบทวนและประเมินถ้อยแถลงในนามของพรรค เรียกร้องให้รัฐบาลกัมพูชาปล่อยตัวประธานพรรคคนปัจจุบันที่เป็นผู้ร่วมก่อตั้งซีเอ็นอาร์พีมาด้วยกัน เป็นครั้งสุดท้ายก่อนโพสต์เนื้อหาทั้งหมดลงบนเฟซบุ๊ก เพจ และเว็บไซต์ของตนเอง

ลายมือชื่อของเขาที่ปรากฏอยู่ในเอกสารชิ้นดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลออกมากล่าวหาและขู่ที่จะดำเนินคดีทั้งในพนมเปญและปารีส พร้อมกับเตือนให้บรรดาเพื่อนร่วมเจตนารมณ์ทางการเมืองทั้งหลายให้ “พาตัวออกห่างจากผู้ที่กระทำความผิดทางอาญา” อย่างสม รังสี

ในมิติทางการเมือง ทั้งหมดเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับสม รังสี

“ตลอด 20 ปีหลังมานี้ ผมถูกบีบให้ลี้ภัยอยู่นอกประเทศหลายต่อหลายครั้ง เลยคุ้นเคยกับการเข้าๆ ออกๆ” และทำงานการเมืองจากแดนไกล เหมือนเช่นที่กำลังทำอยู่ในปารีส

“ผมว่าผมคงทำลายสถิติของกินเนสส์ไปแล้ว ในฐานะนักการเมืองที่ถูกตัดสินจำคุกมากครั้งที่สุด…ทั้งหมดเป็นเกมการเมือง”

เป็นเกมการเมืองที่ไม่มีที่ไหนในโลกอีกแล้ว สม รังสี ยืนยัน นอกจากที่กัมพูชา

 

 

ชีวิตประจำวันของสม รังสี สะท้อนวิถีชีวิตของตัวเองออกมาอย่างแจ่มชัด เขาเป็นชาวกัมพูชาเต็มตัว แต่ใช้ชีวิตอยู่ในต่างแดน โดยเฉพาะในฝรั่งเศส ยาวนานกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในบ้านเกิด, สม รังสี พูดฝรั่งเศสกับภรรยา แต่พูดเขมรกับผู้ช่วยทั้ง 3 มื้ออาหารของเขาเริ่มต้นด้วยสลัดอิตาเลียนสไตล์ แต่ตามด้วยไส้กรอกสไตล์กัมพูชา (คล้ายไส้กรอกอีสาน) และต้องมีข้าว

ภาพถ่ายประดับผนังห้องนั่งเล่น ที่อยู่ตรงกลางและเด่นที่สุด เป็นภาพของ “อาร์ค เดอ ทรียงฟ์” ในขณะที่หมอนอิงที่ตกแต่งโซฟากลับเป็นสไตล์กัมพูชาทั้งหมด

ในห้องยังมีชั้นหนังสือขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยหนังสือหนังหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์เอเชียก็จริง แต่ก็มีอีกบางชั้นที่มีแต่ตำราศิลปะฝรั่งเศสกับ แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซีรีส์ครบทั้งชุด

สม รังสี ยอมรับว่าฝรั่งเศสถือเป็นเหมือนบ้านที่สองของตัวเอง ยิ่งในเดือนนี้ กว่าครึ่งหนึ่งของ ส.ส. พรรคซีเอ็นอาร์พีต้องหลบหนีออกนอกประเทศ การประชุมยุทธศาสตร์สำคัญๆ ก็เปลี่ยนแปลงจากในพนมเปญมาเป็นในยุโรปแทน

“แต่หัวใจผมยังคงอยู่กับกัมพูชา” สม รังสี ยืนยัน

มีเพียงแต่ในกัมพูชาเท่านั้น ชื่อสม รังสี จึง “รู้จักกันทุกบ้าน ทั่วประเทศ” ต่างจากในปารีส ที่เขาเป็นเพียง “โนบอดี้” สำหรับปารีเซียงทั้งหลาย

ชีวิตของสม รังสี กับเตียวหลง สมอุรา อาจแตกต่างไปจากที่เป็นอยู่มากมาย เพียงแต่เขาไม่คิดอะไรมาก พยักหน้ายอมรับข้อเสนอก่อนหน้านี้

สม รังสี อ้างว่าหลังจากเกิดความขัดแย้งในการนับคะแนนเสียงหลังจากการเลือกตั้งปี 2013 นายกรัฐมนตรี ฮุน เซน เสนอตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีให้เขา

เป็นตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่มาพร้อมกับความมั่งคั่ง และที่สำคัญก็คือความมั่นคงในการใช้ชีวิต แต่สม รังสี บอกว่าตำแหน่งที่เสนอมาให้เป็นตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจในทางบริหารแต่อย่างใด

“สำหรับเขา (ฮุน เซน) การสานเสวนา มีความหมายเพียงว่า ผมต้องยอมรับทุกอย่างตามที่เขาต้องการ ต้องยุติการเป็นฝ่ายตรงกันข้าม ต้องยุติความคิดเห็นที่ตรงกันข้าม ต้องทำงานร่วมกับเขาอย่างเป็นหุ้นส่วน แต่เป็นหุ้นส่วนที่ต้องรับคำสั่ง ถ้าผมยอมรับทั้งหมดนี้แล้ว เขาจะจัดหาทุกอย่าง ทุกประการเพื่อสนองความต้องการทางวัตถุให้ผม

“นี่เป็นวิธีการเดียวที่เขารู้จัก เป็นวิธีการเดียวที่เขาเสนอ เพราะที่ผ่านมาเขาใช้อยู่ 2 วิธีเท่านั้นในการจัดการกับฝ่ายตรงกันข้าม นั่นคือการกว้านซื้อให้หมดหรือไม่ก็ฆ่าให้เกลี้ยง”

คำตอบง่ายๆ สั้นๆ ของสม รังสี ในเวลานั้นก็คือ

“ถ้าทำอย่างนั้น คงเป็นอัตวินิบาตกรรมทางการเมืองสำหรับตัวผมเอง”

 

 

ท่ามกลางกระแสการกวาดล้างทางการเมืองในกัมพูชาในยามนี้ สม รังสี บอกว่า เขาไม่คาดว่าจะได้รับอภัยโทษอีกครั้งเหมือนเมื่อก่อนหน้าการเลือกตั้งปี 2013 และย้ำว่า ถึงแม้จะมีการอภัยโทษ ตนเองก็คงไม่ยอมรับการอภัยโทษให้เดินทางกลับประเทศ

“คราวนี้เขาคงไม่ลังเลอีกแล้วที่จะฆ่าผมหรือแกนนำซีเอ็นอาร์พีคนอื่นๆ ครั้งนี้ไม่เหมือนกับทุกครั้งที่ผ่านมา” สม รังสี ย้ำ ด้วยเหตุนี้หนทางแก้ไขหรือดิ้นรนให้หลุดพ้นวิกฤตการณ์ทางการเมืองหนนี้ก็แตกต่างกันออกไป เวลาที่ใช้ก็ต่างกันออกไป

กัมพูชาไม่เพียงต้องปลดปล่อยนักโทษการเมืองทั้งหมด ยังต้องสร้างบรรยากาศทางการเมืองที่ปลอดการแทรกแซงข่มขู่ คุกคาม ต้องเปิดหนังสือพิมพ์และสื่อทั้งหลายที่ถูกปิดตายขึ้นมาใหม่

ทั้งหมดต้องใช้เวลานานกว่าจะประสบผล แต่ต้องอดทนอดกลั้น หากต้องการผลลัพธ์ในระยะยาว

นี่เองที่ทำให้ สม รังสี ไม่รีบร้อนกระไรนักกับการเดินทางกลับประเทศ

“การแก้วิกฤตการณ์การเมืองในกัมพูชาคราวนี้ จำเป็นต้องครอบคลุมอย่างทั่วถึงและต้องหมดจดจริงๆ”

คำถามสำคัญก็คือ นักการเมืองฝ่ายค้านและประชาชนในกัมพูชา ที่ไม่สามารถมี “บ้านที่สอง” ที่หรูหราเหมือนอพาร์ตเมนต์ในปารีส จะอดทน อดกลั้นได้นานแค่ไหนกัน!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image