สรุปสถานการณ์ล่าสุดเหตุวินาศกรรมกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม

THIERRY MONASSE AFP PHOTO / THIERRY MONASSE / AFP / THIERRY MONASSE

สรุปสถานการณ์ล่าสุดเหตุวินาศกรรมกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 ราย และบาดเจ็บอีกราว 230 คน ในการโจมตีที่กลุ่มผู้ก่อการร้ายรัฐอิสลาม (ไอเอส) อ้างว่าเป็นผู้ลงมือ โดยเกิดการระเบิดขึ้นทั้งหมด 3 ครั้ง 2 ครั้งแรกเกิดขึ้นที่สนามบินนานาชาติซาเวนเต็มทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงบรัสเซลส์ เมื่อเวลาราว 08.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น ขณะที่ระเบิดครั้งที่ 3 เกิดขึ้นที่สถานีรถไฟใต้ดินมาลเบค บนถนนรูเดอลาลัว ใกล้กับอาคารสำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู)

REUTERS/CCTV/Handout via Reuters
REUTERS/CCTV/Handout via Reuters

ผู้ต้องสงสัยก่อเหตุ 2 รายที่ใส่เสื้อสีดำและใส่ถุงมือดำที่มือซ้ายข้างเดียวซึ่งเชื่อว่าเป็นการซ่อนอุปกรณ์จุดชนวนระเบิด ถูกกล้องวงจรปิดของสนามบินจับภาพไว้ได้ โดยนายเฟรเดอริก ฟานเลอูว์ อัยการเบลเยียม เปิดเผยว่า เชื่อว่าทั้ง 2 คน “มีแนวโน้มสูงมากว่าจะจุดชนวนระเบิดฆ่าตัวตาย” ขณะที่ตำรวจเบลเยียมกำลังตามล่าผู้ต้องสงสัยรายที่ 3 (ขวาสุดในภาพ) ที่คาดว่าจะอยู่ระหว่างการหลบหนีหลังก่อเหตุ

ทางการเบลเยียมยังไม่สามารถระบุได้ว่าผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 รายเป็นใคร โดยตำรวจได้เผยแพร่ภาพออกสู่สาธารณะเพื่อให้ช่วยกันระบุชื่อผู้ต้องสงสัยทั้ง 3 ราย

วีทีเอ็มทีวี สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นในกรุงบรัสเซลส์รายงานว่า คนขับแท็กซี่ที่รับผู้ต้องสงสัย 3 รายมาส่งที่สนามบินได้พาตำรวจมายังบ้านพักหลังหนึ่งในย่านชาร์เบคทางตอนเหนือของกรุงบรัสเซลส์ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้าตรวจค้นและพบวัตถุระเบิดที่มีตะปูอยู่ข้างใน วัตถุเคมี และธงไอเอส

Advertisement

รายงานข่าวในสื่อบางส่วนระบุว่ามีกระเป๋าเดินทางใบหนึ่งที่ไม่สามารถนำใส่ในรถแท็กซี่ได้ และผู้ต้องสงสัยได้ทิ้งไว้ที่บ้านหลังดังกล่าว โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจพบกระเป๋าใบดังกล่าวขณะเข้าตรวจค้น โดยคนขับแท็กซี่เปิดเผยด้วยว่า ทั้ง 3 ไม่ยอมให้ตนช่วยในการยกกระเป๋าใส่รถ

ภาพจากเฟซบุ๊กของ อเดลมา ทาเปีย รูอิซ
ภาพจากเฟซบุ๊กของ อเดลมา ทาเปีย รูอิซ

เหยื่อรายแรกที่ทราบชื่อคือ อเดลมา ทาเปีย รูอิซ หญิงชาวเปรูวัย 37 ซึ่งเสียชีวิตที่สนามบิน โดยรายงานข่าวระบุว่าเธอเดินทางมาเพื่อขึ้นเครื่องบินกับสามีชาวเบลเยียม คริสตอฟ เดลกองบ์ และลูกสาวฝาแฝดวัย 4 ปี โมรีนและอลงดรา ที่ทั้ง 3 รอดชีวิต

REUTERS/Ketevan Kardava/Courtesy of 1tv.ge
REUTERS/Ketevan Kardava/Courtesy of 1tv.ge

ขณะที่ลูกเรือของสายการบินเจ็ตแอร์เวย์สที่ได้รับบาดเจ็บ และถูกถ่ายภาพไว้หลังเกิดเหตุในสภาพชุดเครื่องแบบสีเหลืองฉีกขาดและเปรอะเปื้อนไปด้วยเลือดคือ นิธี ชาเพการ์ ชาวอินเดีย

Advertisement
People light candles in tribute to victims at a makeshift memorial in front of the stock exchange at the Place de la Bourse (Beursplein) in Brussels on March 22, 2016, following triple bomb attacks in the Belgian capital that killed about 35 people and left more than 200 people wounded. A series of explosions claimed by the Islamic State group ripped through Brussels airport and a metro train on March 22, killing around 35 people in the latest attacks to bring bloody carnage to the heart of Europe. AFP PHOTO / KENZO TRIBOUILLARD / AFP / KENZO TRIBOUILLARD
AFP PHOTO / KENZO TRIBOUILLARD / AFP / KENZO TRIBOUILLARD

นายชาร์ลส์ มิเชล นายกรัฐมนตรีเบลเยียม ประกาศให้ไว้อาลัยทั่วประเทศเป็นเวลา 3 วัน มีการจัดพิธีจุดเทียนรำลึกขึ้นในหลายเมืองทั่วโลกรวมถึงที่ปลาสเดอลาบูร์ส อาคารที่ทำการตลาดหลักทรัพย์เบลเยียมด้วย

ด้านสนามบินซาเวนเต็มประกาศว่า สนามบินยังคงปิดทำการและจะยังไม่มีเที่ยวบินไหนเดินทางออกจากสนามบินในวันที่ 23 มีนาคม และขอให้ผู้โดยสารติดต่อกับทางสายการบินเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม ขณะที่บริการรถไฟใต้ดินจะมีเพียงบางส่วน ทว่าโรงเรียนจะเปิดการเรียนการสอนตามปกติ

ขณะที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐออกประกาศเตือนชาวอเมริกันในยุโรปให้ใช้ความระมัดระวังในสถานที่สาธารณะหรือเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ และหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนพลุกพล่าน ด้านทางการเบลเยียมขอให้อียูเรียกประชุมฉุกเฉินในเรื่องนี้ ซึ่งคาดว่าการประชุมจะมีขึ้นในเช้าวันที่ 24 มีนาคม

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image