คอลัมน์ แกะรอยต่างแดน : พิพิธภัณฑ์อังกอร์ ของเกาหลีเหนือ

AFP

พิพิธภัณฑ์อังกอร์ ของเกาหลีเหนือ

บริเวณลานจอดรถอันแสนกว้างขวางของนครวัด ที่จังหวัดเสียมราฐ ประเทศกัมพูชา เป็นที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของกัมพูชา ชื่อ “พิพิธภัณฑ์อังกอร์ พาโนรามา” ที่สร้างขึ้นโดยศิลปินชาว “เกาหลีเหนือ” ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา

พิพิธภัณฑ์อังกอร์ พาโนรามา แห่งนี้ สร้างและใช้งบของ “มันซูเด โอเวอร์ซี โปรเจ็คต์” บริษัทก่อสร้างของเกาหลีเหนือ ร่วมมือกับสำนักงานอัปสราแห่งชาติ ของกัมพูชา โดยใช้เงินมากถึง 24 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 840 ล้านบาท และใช้เวลาในการก่อสร้างนานหลายปีเพื่อรังสรรค์พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ขึ้นมาสำหรับดึงดูดนักท่องเที่ยว

ภายในพิพิธภัณฑ์ จะมีภาพวาดสีน้ำมัน 360 องศา ความยาวทั้งหมด 123 เมตร สูง 13 เมตร แสดงให้เห็นช่วงเวลาต่างๆ ของยุคอังกอร์ หรือยุคพระนคร ตั้งแต่การก่อสร้าง ความรุ่งเรือง และสงคราม

Advertisement
 AFP
AFP

โดยนอกจากภาพวาดแล้ว ยังมีการสร้าง “ปราสาทพนมบาเค็ง” จำลองขึ้นมา โดยมีดินจริง ก้อนกรวดจริง และหินจริง มาไว้บริเวณโดยรอบ และเพื่อความสมบูรณ์ บริเวณโดยรอบของปราสาทพนมบาเค็ง ก็ยังมีนครวัด ปราสาทบายน โตนเลสาบหรือทะเลสาบเขมร และทุ่งข้าว

นายยิต จันดาโรต ประธานผู้บริหารของพิพิธภัณฑ์อังกอร์ พาโนรามา บอกว่า ผลงานศิลปะภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เป็นผลงานของศิลปินชาวเกาหลีเหนือ 63 คน จากบริษัท มันซูเด ที่ใช้เวลานานถึง 1 ปี ในการวาดภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ขึ้นมา และได้ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องเขมร

โดยภาพวาดสุดท้ายที่วาด เป็นภาพของผู้คนกว่า 45,000 คน ต้องใช้เวลาในการวาดนานถึงราว 4 เดือน

Advertisement

แม้ว่าผลงานจะเป็นที่น่าตรึงใจสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น หากแต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเกี่ยวกับการให้เกาหลีเหนือเข้ามาสร้างพิพิธภัณฑ์ให้ โดยเฉพาะกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชนทั้งหลาย อย่างเช่น ฮิวแมนไรท์วอทช์ ที่เห็นว่า การให้เกาหลีเหนือ ซึ่งเป็นประเทศที่ถูกตราหน้าว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศนั้น เป็นเหมือนการทำให้ประวัติศาสตร์ของกัมพูชาเสื่อมเสีย และว่า นักท่องเที่ยวไม่ควรจะไปเที่ยวที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้

ขณะที่บางคนบอกว่า พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นช่องทางในการหาเงินสกุลหลักของเกาหลีเหนือ ที่กำลังถูกคว่ำบาตรอย่างหนักจากประชาคมระหว่างประเทศในขณะนี้

อย่างไรก็ตาม นายจันดาโรตกล่าวว่า พิพิธภัณฑ์นี้ไม่มีเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น มีแต่เรื่องของวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยรายได้ที่ได้จากการเข้าชมทั้งหมดจะเป็นของเกาหลีเหนือจนกว่าจะได้คืนทุนการก่อสร้าง ภายในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี หลังจากนั้นก็จะแบ่งกำไรกันกับสำนักงานอัปสราแห่งชาติคนละครึ่ง เรื่อยไปจนครบอีก 10 ปี พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก็จะตกเป็นของสำนักงานอัปสราแห่งชาติ 100 เปอร์เซ็นต์

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image