คอลัมน์ Think Tank: ความไม่เชื่อถือในการแพทย์สมัยใหม่

(FILES) / AFP PHOTO / JUSTIN SULLIVAN

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า กระแสของความกังขาที่ถูกขยายให้ใหญ่โตขึ้นโดยโซเชียลเน็ตเวิร์ก ได้กัดกร่อนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อการแพทย์สมัยใหม่ ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์และเจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์ต้องพยายามหาทางที่จะค้ำยันความน่าเชื่อถืออย่างเร่งด่วน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศร่ำรวย ความเชื่อมั่นในวัคซีนที่รักษาชีวิตผู้คนนับล้านจากการทำลายล้างของโรคโปลิโอ บาดทะยัก ฝีดาษ ไข้หวัดใหญ่ และโรคอื่นๆ ที่ครั้งหนึ่งร้ายแรง และคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมาก ลดลงอย่างต่อเนื่อง

“ความเชื่อมั่นต่อการแพทย์สมัยใหม่ไม่เท่าระดับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว” อแลง ฟิสเชอร์ นักวิทยาภูมิคุ้มกันชาวฝรั่งเศสบอก “ตอนนี้อยู่ในขั้นพังพินาศ”

ผลสำรวจที่จัดทำโดยสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้วพบว่า มีชาวอังกฤษเพียง 37 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่เชื่อมั่นในหลักฐานจากการวิจัยทางการแพทย์ โดย 2 ใน 3 ระบุว่า เพื่อนและครอบครัวน่าเชื่อถือมากกว่า

Advertisement

1 ใน 4 ของพ่อแม่ 1,500 คนที่ถูกสำรวจในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2017 เชื่อว่า วัคซีนสามารถทำให้เด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงเป็นออทิสติกได้ แม้จะยังไม่มีหลักฐานที่น่าเชื่อถือพิสูจน์ในเรื่องนี้ก็ตาม โดย 1 ใน 10 ปฏิเสธที่จะให้ทายาทของตนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 ชนิด

ขณะที่ในฝรั่งเศส ผู้ใหญ่มากกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ ได้แสดงออกถึงความกังขาที่มีต่อประสิทธิภาพและความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งความคิดเห็นเช่นนี้ มีผลกระทบตามมา

ไอกรน หัด คางทูม และโรคติดต่อร้ายแรงอื่นๆ ที่หายไปจากสหรัฐ ได้กลับมาปรากฏขึ้นอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เนื่องจากจำนวนพ่อแม่ที่ปฏิเสธให้ลูกของตนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นสูงเกินระดับกั้นต่ำสุดที่จำเป็น ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เรียกว่า ภูมิคุ้มกันในชุมชน หรือ “ภูมิคุ้มกันหมู่”

Advertisement

มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดความไม่เชื่อถือขึ้น

ผลสำรวจในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า แพทย์ 82 เปอร์เซ็นต์และผู้ใหญ่ทั่วไป 67 เปอร์เซ็นต์เห็นว่า การศึกษาวิจัยทางการแพทย์ที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากบริษัทผู้ผลิตยา บ่อยครั้งก่อให้เกิดอคติในการทดลองให้ได้ผลลัพท์ออกมาในทางบวก

นอกจากนี้การก้าวพลาดครั้งใหญ่ทางการแพทย์เกิดขึ้นเมื่อปี 1998 โดยผลวิจัยที่ตีพิมพ์ในเดอะ แลนเซ็ต นิตยสารด้านการแพทย์ที่น่าเชื่อถือเป็นอย่างสูง ระบุถึงความเชื่อมโยงระหว่างวัคซีนและโรคออทิสติกในเด็ก

แต่หลังจากที่มีการเปิดเผยในภายหลังว่าหลักฐานที่สนับสนุนข้ออ้างดังกล่าวถูกบิดเบือน ทำให้ผลการศึกษาวิจัยชิ้นดังกล่าวถูกถอดออกไป และ แอนดรูว์ เวคฟิลด์ ผู้เขียนงานวิจัยชิ้นนี้ ถูกห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการแพทย์

แต่ความเสียหายเกิดขึ้นไปแล้ว

นอกจากนี้ สมองของเราสามารถถูกหลอกให้มองเห็นความเชื่อมโยงของเหตุการณ์ที่พบได้ยาก แต่บังเอิญเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

“เด็กจำนวนมากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นออทิสติกเมื่ออายุ 2 ขวบ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมัน” เอริก โอลิเวียร์ นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิยาลัยชิคาโกบอก

และสำหรับทฤษฎีสมคมคิดแล้ว ผู้คนมีแนวโน้มที่จะยอมรับข้อมูลที่ผิดตราบใดที่เป็นการตอกย้ำในสิ่งที่ตนเองเชื่ออยู่แล้ว

และพลังอำนาจของอินเตอร์เน็ตและโซเชียลเน็ตเวิร์ก มีบทบาทสำคัญในการขยายความไม่เชื่อมั่นนี้ให้ขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image