ถอดบทเรียนเหตุวินาศกรรมบรัสเซลส์: จากชายแดนสู่สงครามใจกลางเมือง

People gather at a makeshift memorial at Place de la Bourse (Beursplein) following attacks in Brussels on March 22, 2016. A series of explosions claimed by the Islamic State group ripped through Brussels airport and a metro train on March 22, killing around 35 people in the latest attacks to bring bloody carnage to the heart of Europe. THIERRY MONASSE AFP PHOTO / THIERRY MONASSE / AFP / THIERRY MONASSE

“Brussels is on fire” คือข้อความอันหนึ่งที่ผู้สนับสนุนกลุ่มรัฐอิสลามหรือ IS (Islamic State) สร้างขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์โดยเฉพาะทวิตเตอร์เพื่อแสดงความยินดีกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นต่อพลเรือนทั้งหลายในกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันอังคารที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีจำนวนผู้สูญสียชีวิตอย่างน้อย 34 คน และผู้บาดเจ็บอื่นๆอีกจำนวนประมาณ 271 คน การแสดงท่าทีสนับสนุนการใช้ความรุนแรงโจมตีพลเรือนยังตอกย้ำความมุ่งหมายและจุดยืนของ IS อีกระดับหนึ่งว่า การทำสงครามกับตะวันตกนั้นมิได้มีขอบเขตจำกัดอยู่ภายในกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางหรืออาหรับอีกต่อไป แต่การต่อสู้ดังกล่าวได้เคลื่อนย้ายมาสู่ใจกลางของยุโรป ดังจะเห็นได้จาก การนำเสนอข้อความอีกหลายชุดได้แสดงออกถึงการสนับสนุนการทำสงครามและสะท้อนถึงความโกรธแค้นอย่างชัดเจน อาทิ “You declared war against us and bombed us, and we attack you inside your homeland”

คำถามประการสำคัญที่เกิดขึ้นคือ “IS สามารถปฏิการโยกย้ายโครงสร้างและหลักการในการทำสงครามข้ามพรมแดนเหล่านี้ได้อย่างไร ทั้งที่พื้นที่สมรภูมิความขัดแย้งเบื้องต้นกับทวีปยุโรป ตั้งอยู่ห่างไกลกันนับพันกิโลเมตร?” หากย้อนกลับไปเมื่อเหตุการณ์การโจมตีกรุงปารีสเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2015 ที่ผ่านมา ข้อมูลทางด้านข่าวกรองทั้งจากฝรั่งเศส อิรัค และกลุ่มในประเทศยุโรปเองยืนกันตรงกันว่า ผู้ก่อการโจมตีในครั้งนั้นถูกส่งมาจากค่ายฝึกที่หลากหลายทั้งในอิรัค ซีเรีย และในบางกลุ่มประเทศของอดีตสหภาพโซเวียต ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายเชื้อชาติจำนวน 90 คนและยังแตกแขนงกระจายตัวอยู่ในหลากหลายพื้นที่ในยุโรป อาทิ เยอรมัน อังกฤษ อิตาลี เดนมาร์ก และสวีเดน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลไปมากกว่านั้นนั่นคือ หลังจากเกิดความขัดแย้งในซีเรียขึ้นแล้วมีจำนวนชาวยุโรปเข้าไปร่วมต่อสู้ในสงครามประมาณ 5,000 คน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ผ่านการฝึกให้โจมตีภายนอกสมรภูมิหรือปฏิบัติการนอกประเทศแล้วจำนวนประมาณ 400 – 600 คน

ตัวอย่างที่ชัดเจนดังจะเห็นได้จากแหล่งข้อมูลทางทหารของ Lori Hinnant and Paisley Dodds แห่งเว็บไซต์ Militarytimes ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ลักษณะการฝึกของกลุ่มคนเหล่านี้จะถูกจัดตั้งเป็นหน่วยรบขนาดเล็กกึ่งอิสระ ซึ่งมีลักษณะเดียวกันกับหน่วยรบพิเศษทางทหารทั่วไป ทั้งนี้ลักษณะของการฝึกจะประกอบไปด้วย การต่อสู้ภาคพื้นดิน การวางระเบิด การลาดตระเวน และการต่อต้านการลาดตระเวน อย่างไรก็ตามสิ่งที่ IS ได้พัฒนาขึ้นหลังจาก ปี 2014 นั่นคือ จากเดิมที่มีระยะเวลาการฝึกเพียง 2 สัปดาห์ กลายเป็นการฝึกที่มีช่วงระยะเวลานานขึ้นซึ่งจุดมุ่งหมายในการโจมตีมิได้หวังผลเพียงการฆ่าพลเรือนเท่านั้น หากแต่หวังผลสะเทือนไปถึงการสร้างความหวั่นกลัวและหวาดวิตกในวงกว้างทั้งนี้เพื่อให้เป้าของกลุ่มประเทศที่เป็นศัตรูนั้นจะต้องทุ่มทั้งกำลังเงินและกำลังคนในการเข้าสกัดกั้น

ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร ิอาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่
ดร.ฐิติวุฒิ บุญยวงศ์วิวัชร อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ ม.เชียงใหม่

ฉะนั้นยุทธวิธีแบบนี้จึงเป็นการเลือกเป้าหมายที่พิถีพิถันเป็นพิเศษทั้งจังหวะเวลา สถานที่ และโอกาส ส่วนในด้านการเคลื่อนย้ายกำลังนั้น จะอาศัยกลุ่มพลเรือนที่เคยเข้าร่วมการฝึกหลักสูตรดังกล่าวแฝงตัวกลับมาประเทศต้นสังกัดทั้งในรูปแบบปกติและการแฝงตัวกับผู้อพยพ ซึ่งการข้ามแดนในยุโรปในปัจจุบันเอื้ออำนวยต่อกลุ่มคนเหล่าอย่างยิ่ง ทั้งการไม่ต้องอาศัยวีซ่าเนื่องจากมีสัญชาติยุโรปอยู่แล้ว รวมทั้งปัญหาการไม่สามารถสกัดกั้นคลื่นผู้อพยพในยุโรปเองได้ ทั้งนี้ กลุ่มเชื้อชาติที่อาจถูกระบุได้ว่าเป็นเครือข่ายนำในการโจมตีนั่นคือกลุ่มคนที่พูดภาษาฝรั่งเศสที่มีเครือข่ายสัมพันธ์กับกลุ่มประเทศในแอฟริกาเหนือ ฝรั่งเศสและเบลเยียม ซึ่งเหตุผลนี้นี่เองเป็นเหตุผลประการหนึ่งที่ทำให้เกิดข้อสรุปได้ระดับหนึ่งว่าทำไมสองประเทศหลังจึงเป็นกลุ่มประเทศแรกในยุโรปที่ตกเป็นเป้าหมายการโจมตี

Advertisement

สิ่งที่น่าสนใจคือ “ทำไมการปฏิบัติเคลื่อนย้ายกำลังข้ามแดนดังกล่าวนั้น การใช้หน่วยข่าวกรองหรือหน่วยปฏิบัติการด้านความมั่นคงไม่สามารถปฏิบัติการสกัดกั้นเหตุการณ์ได้?” Patrick Bury แห่งหนังสือพิมพ์ The Irish Times ได้ตั้งข้อสังเกตุไว้อย่างน่าสนใจยิ่งว่า ในข้อเท็จจริงแล้ว หน่วยข่าวกรองของเบลเยียมเองไม่ได้มีศักยภาพที่เพียงพอในการป้องกันเหตุดังกล่าวตามที่มีการเข้าใจกันโดยทั่วไปว่าระบบข่าวกรองของยุโรปนั้นดีเยี่ยมหรือสมบูรณ์แบบ กล่าวคือ แม้ว่างบประมาณด้านข่าวกรองของเบลเยียมจะเพิ่มขึ้นสูงถึง 20 % ภายหลังจากที่มีเหตุการณ์โจมตีฝรั่งเศส หากแต่บุคคลากรด้านการข่าวของเบลเยียมที่ปฏิงานจริงมีจำนวนเพียง 600 คนเท่านั้น ทั้งนี้ภาระกิจของหน่วนข่าวกรองจะต้องจับตาและติดตามผู้ที่อยู่ในข่ายผู้ต้องสงสัยถึงจำนวน 900 คนตลอดระยะเวลา 24 ชั่วโมง ทั้งนี้ความหนักหน่วงของภาระกิจจึงไม่สอดคล้องกับศักยภาพของหน่วยที่มีอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น ความสัมพันธ์ระหว่างตำรวจเบลเยียมกับประชาชนในชุมชนที่เป็นมุสลิมหรือกลุ่มเชื้อชาติอื่นเป็นไปแบบห่างเหิน ทั้งนี้จะพบได้ว่าชุมชนเหล่านี้นอกจากจะเป็นแหล่งอาชญากรรมแล้วยังสามารถกลายเป็นแหล่งฝั่งตัวและกบดานของเหล่าผู้ก่อการร้ายได้ดีอีกด้วย สถานการณ์ดังกล่าวย่อมขัดกับหลักทางด้านปฏิบัติการทางข่าวกรองอย่างยิ่งโดยเฉพาะความจำเป็นที่จะต้องอาศัยแหล่งข่าวหรือการหาข่าวที่ต้องอิงแอบกับมนุษย์

ความสูญเสียที่เกิดขึ้นในเบลเยียมเองทำให้เกิดข้อพิจารณาหรือมาตรการในการสะกัดกั้นและต่อต้านการก่อการร้ายในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในกรณีของไทยเองนั้น จากที่กล่าวในข้างต้นมีอยู่สองประเด็นหลักที่ควรพิจารณานั่นคือ “มาตรการด้านการข้ามพรมแดนและการอาศัยความร่วมมือจากประชาชน” ในประเด็นแรก การสร้างมาตรการควบคุมการข้ามพรมแดนที่เป็นทางการยังไม่เป็นปัญหาสำหรับไทยมากมายนักหากเทียบกับประเทศในยุโรป

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่ากังวลสำหรับไทยนั่นก็คือ ในบริเวณชายแดนเองยังมีจุดผ่อนปรนชั่วคราวหรือช่องทางอื่นๆ อีกมากมายทั้งที่ถูกรับรู้และไม่ถูกรับรู้อาจกลายเป็นช่องว่างประการหนึ่งที่ทำให้บุคคลที่ไม่พึงประสงค์เข้ามาก่อเหตุหรือความวุ่นวายภายในประเทศ

Advertisement

ฉะนั้นการให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวจึงมีความจำเป็นอย่างเร่งด่วน

ในประการที่สอง การอาศัยความร่วมมือจากประชาชนในการช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมหรือบุคคลต้องสงสัยนั้น อาจกลายเป็นเครื่องมือที่มีอยู่เดิมแล้วแต่สามารถทำให้ทันสมัยหรือกระตือรือร้นมากขึ้น ทั้งนี้ นอกจากจะเป็นการประหยัดทรัพยากรทั้งทางด้านกำลังคนและงบประมาณแล้ว ยังเป็นเครื่องมือที่ทรงประสิทธิภาพอีกด้วย

กล่าวได้ว่า แม้จะยังไม่มีเหตุหรือสัญญาณใดที่บ่งชี้ได้ชัดว่า IS ระบุให้ไทยเป็นหมายในการปฏิบัติการ หากแต่สิ่งที่ต้องตระหนักเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ ระบบความมั่นคงของโลกในปัจจุบันเผชิญหน้ากับภัยการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ การย่ามใจในลักษณะประมาทว่าไทยเป็นเพียงทางผ่านหรือแหล่งพักผ่อนของกลุ่มผู้ก่อการร้ายเท่านั้น อาจจำเป็นต้องละทิ้ง “ความเชื่อหรือมายาคติ” เหล่านี้ออกไป เพราะเบลเยียมเองก็เคยเชื่อเช่นนี้เหมือนกับเรา!!!

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image