คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อิงก์วาร์ คัมพราด เศรษฐีสมถะ

TT News Agency/Ola Torkelsson/via REUTERS

“อิงก์วาร์ คัมพราด” เป็นเศรษฐีแน่นอน ร่ำรวยในระดับมหาเศรษฐีพันล้านด้วยซ้ำไป แต่คนไทยรู้จักน้อยมาก ยิ่งเทียบเคียงกับคนอย่าง วอร์เรน บัฟเฟต หรือ บิล เกตส์ แล้วยิ่งไปกันใหญ่ แม้แต่จะเปรียบเทียบกับคนดังๆ จากสวีเดน บ้านเกิดเดียวกัน ชื่อ อิงก์วาร์ คัมพราด ยังเป็นที่รู้จักกันน้อยกว่า “บียอร์น บอร์ก” อดีตราชาเทนนิสโลก หรือ วงดนตรีป็อปชื่อดัง อย่าง “แอ็บบา” เสียอีก

เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะเศรษฐีอย่าง คัมพราด ไม่ค่อยทำตัวเหมือนเศรษฐีกับเขาสักเท่าใดนัก
ตัวอย่างเช่น เสื้อผ้าที่เขาสวมใส่ น้อยมากที่จะเป็นเสื้อผ้าใหม่ แต่กลับเป็นเสื้อผ้าเก่ามือสอง และถึงจะร่ำรวยขนาดซื้อรถระดับซุปเปอร์คาร์มาเก็บเป็นของสะสมได้ คัมพราด ก็ไม่ได้ทำ แถมยังไปไหนมาไหนในวอลโว่ 240 ปี 1993 อยู่ตราบจนกระทั่งเสียชีวิต รถอีกคันสำหรับภรรยา คือ สโคดา 2008 ใหม่ขึ้นมาหน่อย แต่ก็สะท้อนความสมถะ มัธยัสถ์

แต่ถ้าเลือกได้ เขาเลือกนั่งรถเมล์

แหล่งช็อปปิงโปรดปรานของเขาไม่ใช่ห้างสรรพสินค้าหรูหราระดับโลก แต่เป็น “ตลาดนัด”

Advertisement

“ผมไม่คิดว่าผมสวมเสื้อผ้าอย่างอื่นนอกเหนือจากที่ซื้อจากตลาดนัด นั่นหมายความว่า ผมต้องการทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดี” เขาบอกก่อนที่จะย้ำว่า “เป็นธรรมชาติของสมาลันด์ ที่จะอดออม มัธยัสถ์”

อิงก์วาร์ คัมพราด ยอมรับว่า แม้แต่เมื่อตอนมีชีวิตเป็นอยู่ที่ดีได้แล้ว เขายังติดนิสัยชอบไปตลาดนัด แถมยังเลือกไปซื้อหาผักในตอนที่ตลาดกำลังจะวาย เหตุผลก็คือ เพื่อให้ได้ซื้อหาของที่ต้องการในราคาที่ถูกที่สุดของวัน

คัมพราด เกิดที่ สมาลันด์ เมืองบ้านนอกขนาดเล็กริมชายป่าทางตอนใต้ของประเทศสวีเดน เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 1926

เริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเองตั้งแต่อายุ 5 ขวบ ด้วยการใช้เงินค่าขนมที่ออมไว้ไปซื้้อไม้ขีดไฟแบบเหมาโหลในสตอกโฮล์ม เมืองหลวง มาขี่จักรยานเคาะประตูขายตามบ้าน ในราคาที่แม้จะยังถูก แต่ก็ยังทำให้เขามีกำไรเป็นชิ้นเป็นอันเช่นกัน หลังจากนั้น คัมพราด ขยายกิจการไปยังสินค้าอื่นๆ ที่เป็นที่ต้องการในชนบทละแวกนั้น ตั้งแต่ เมล็ดพันธุ์ ของประดับตกแต่งต้นคริสต์มาส ดินสอ ปากกาลูกลื่น เป็นต้น

เริ่มตั้งบริษัทตั้งแต่อายุ 17 ปี ตอนนี้ธุรกิจของเขาขยายสาขาออกไปมากกว่า 400 สาขาในในเกือบ 50 ประเทศ ทำรายได้รวมทั้งสิ้น 47,200 ล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ว่าจ้างพนักงานรวมทั้งสิ้น 147,000 คน พนักงานซึ่งไม่ถูกเรียกว่าพนักงาน หรือลูกจ้าง แต่ถูกเรียกว่า “เพื่อนร่วมงาน”
บริษัทของเขาชื่อ “อิเกีย”

เป็นคำ “อิเกีย” ที่ไม่มีความหมายใดๆ นอกจากเป็นคำที่เกิดขึ้นจากอักษรย่อที่ได้จากการผสมอักษรตัวแรกของชื่อสองสามชื่อ

ไอ กับ เค มาจากชื่อตัวและชื่อสกุล ของ อิงวาร์ คัมพราด, อี เป็นตัวอักษรแรกจากชื่อ “เอล์มทาริด” ชื่อไร่ของครอบครัว ที่เขาเกิดและเติบโต ส่วน เอ เป็นอักษรตัวแรกจากชื่อ “อากุนน์ยาร์ด” ชื่อเขตปกครองท้องถิ่นใจกลางสมาลันด์ ถิ่นเกิดของ คัมพราด

อิงก์วาร์ คัมพราด เสียชีวิตหลังล้มป่วยได้ไม่นาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคมที่ผ่านมา ในอายุ 91 ปี
เป็นการเสียชีวิตอย่างสงบที่สมาลันด์ ดินแดนที่ขึ้นชื่อว่า ผู้คนประหยัดอดออม และชาญฉลาด ซึ่งเป็นคุณสมบัติประจำตัวของ อิงก์วาร์ คัมพราด เช่นกัน

 

 

“อิเกีย” ไม่มีความหมายใดก็จริง แต่ถึงตอนนี้ได้รับการยอมรับกันว่า เป็น “เครื่องหมายการค้า” ที่มีผู้คนรู้จัก จดจำ มากที่สุดในโลกอันหนึ่ง และเรื่องราวในชีวิตของ อิงก์วาร์ คัมพาด ไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก็ล้วนแล้วแต่เชื่อมโยงอยู่กับคำและเครื่องหมายการค้านี้ทั้งสิ้น

คัมพราด ก่อตั้ง อิเกีย ขึ้นในฟาร์ม เอล์มทาริด ของครอบครัวเมื่อปี 1943 เป็นการก่อตั้งบริษัทขึ้นมาอย่างเป็นงานเป็นการหลังจากทำธุรกิจซื้อมาแล้วเคาะประตูขาย ซึ่งไม่นานก็ขยายกิจการเป็นการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ในท้องถิ่นแล้วให้ส่งใบสั่งซื้อทางไปรษณีย์แทน

ระบบขายตาม เมล์ออร์เดอร์ ของคัมพราด สะท้อนให้เห็นถึงความคิดริเริ่มใหม่ๆ ในทางธุรกิจที่ไม่เคยคิดและแก้ปัญหาได้มาก่อน

ทุกคนอาจเคยคิด แต่แก้ปัญหาไม่ตกเรื่องที่ต้องลงทุนกับระบบการจัดส่งของให้ถึงประตูบ้านลูกค้า แต่ คัมพราด แก้ปัญหานี้ได้ ด้วยการทำความตกลงใช้บริการของ “รถส่งนม” ซึ่งจัดส่งนมให้กับแทบทุกบ้านอยู่แล้ว
อิเกีย เริ่มต้นขายเฟอร์นิเจอร์ จริงๆ จังๆ ด้วยการนำเสนอ ชิ้่นงานเฟอร์นิเจอร์ ผ่านแคตตาล็อกในปี 1950 เป็นอีกครั้งที่แสดงให้เห็นว่า สัญชาตญานธุรกิจของ คัมพราด ไม่ธรรมดา

เฟอร์นิเจอร์ เป็นสินค้าในท้องถิ่นที่ราคาถูก ด้วยเหตุที่ว่า สมาลันด์ อยู่ใกล้ป่าและมีช่างฝีมือในการทำเฟอร์นิเจอร์อยู่มากมายในละแวกนั้น ทำให้ราคาเฟอร์นิเจอร์ของ อิเกีย ในเวลานั้นถูกกว่าที่อื่น ส่งผลให้ได้รับการตอบสนองที่ดีจากลูกค้าทั่วประเทศ

แต่นั่นยังไม่ใช่จุดเปลี่ยนสำคัญของอิเกีย

จุดเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และสำคัญที่สุดที่ทำให้ อิเกีย สามารถเติบใหญ่กลายเป็นกิจการระดับนานาชาติได้เป็นจุดเล็กๆ ที่หากเป็นคนอื่นคงเห็นแล้วผ่านเลยไป แต่ไม่ใช่คนอย่าง คัมพราด

คัมพราด เห็น “กิลลิส ลุนด์เกรน” ช่างออกแบบเฟอร์นิเจอร์ของอิเกีย แก้ปัญหาเรื่องโต๊ะไม้ตัวหนึ่งซึ่งลูกค้าซื้อแล้ว จ่ายเงินแล้ว แต่เอากลับบ้านไม่ได้ โดยการถอดขาโต๊ะออกมาก่อน แล้วแนะนำลูกค้าว่า กลับไปถึงบ้านแล้วจะต่อขาโต๊ะตัวนั้นกลับเข้าไปเหมือนเดิมได้อย่างไร

คัมพราด ได้ความคิดใหม่เกี่ยวกับเฟอร์นิเจอร์ในอนาคตของอิเกียขึ้นมาเพราะเหตุการณ์นั้น

เขาขอ ให้ กิลลิส ลุนด์เกรน ออกแบบเฟอร์นิเจอร์ที่จะขายเสียใหม่ ให้เป็นชิ้่นๆ สามารถจัดลงกล่องแบนๆ ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ประกอบขึ้นเป็นเฟอร์นิเจอร์ที่ต้องการได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องไม้เครื่องมือหรือความเป็นช่าง มากมายนัก ในทางหนึ่ง โกดังเก็บสินค้าของอิเกีย สามารถประหยัดเนื้อที่ได้มหาศาล ในอีกทางหนึ่ง ลูกค้าสามารถซื้อหาสินค้าและขนกลับได้เอง ไม่จำเป็นต้องจัดส่ง ไม่ต้องเสียค่าขนส่ง ยิ่งทำให้ราคาโดยรวมลดลงไปอีก

ทุกวันนี้ทั่วโลก รู้จักนวัตกรรมดังกล่าวในชื่อ “แฟลทแพ็ค เฟอร์นิเจอร์” พบเห็นกันทั่วไป แต่ถือว่าล้ำสมัยอย่างยิ่งในเวลานั้น

ความสำเร็จของอิเกีย เริ่มต้นมาจากจุดนั้น

 

 

จากเฟอร์นิเจอร์ชิ้นแรกในรูปแบบ “แฟลทแพ็ค” ที่เป็นโต๊ะข้างรูปทรงเหมือนใบไม้ (อิเกีย เรียกว่า “โลเวท”) ซึ่งเผยแพร่ในแคตตาล็อกของ อิเกีย เมื่อปี 1956 คัมพราด ขยายกิจการ อิเกีย ออกไปต่างเมืองเป็นครั้งแรกที่ สต็อกโฮล์ม ต่อมาก็กลายเป็นต่างประเทศ ที่ นอรเวย์ เป็นแห่งแรก ต่อด้วย เดนมาร์ก ทั้งหมดเกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960

พอถึงช่วงทศวรรษ 1970 คัมพราดก็ไปเปิดอิเกีย ใน แคนาดา และสวิตเซอร์แลนด์ ถึงปี 1985 อิเกีย ในดินแดนอเมริกันก็เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกใน ฟิลาเดลเฟีย รัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา

อีก 3 ปีต่อมา อิเกีย ก็สามารถทำรายได้รวม 8.5 ล้านดอลลาร์

หลังจากนั้นทุกอย่างก็เป็นประวัติศาสตร์ไป

คัมพราด เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บส์ เอาไว้เมื่อปี 2000 ว่า ทฤษฎีที่เขาตั้งไว้ตั้งแต่ต้นก็คือ เฟอร์นิเจอร์ที่ดี สามารถขายในราคาที่สมเหตุสมผลได้ เพื่อให้คนที่ “กระเป๋าเงินไม่หนา” สามารถเป็นเจ้าของได้
“จุดที่เราอยู่ในตลาดอย่างที่เราเป็นอยู่ในเวลานี้ ผมเชื่อว่าผมประสบความสำเร็จตามเป้าหมายนั้นแล้ว”
นีล ซอนเดอร์ส กรรมการผู้จัดการบริษัทวิจัย โกลบอลดาตา รีเทล ระบุว่า เมื่อตอนเริ่มปรากฏนั้น “แฟลทแพ็ค” เฟอร์นิเจอร์ ถือเป็นการ “ปฏิวัติวงการ” เลยทีเดียว

“เขาเชื่อว่าคนทั่วไป ควร สามารถซื้อหาเฟอร์นิเจอร์ที่มีคุณภาพได้ ในราคาที่สามารถเข้าถึงได้ ตราบเท่าที่ผู้ซื้อเต็มใจที่จะทำงานประกอบมันเล็กๆ น้อยๆ ขึ้นมา” ซอนเดอร์ส ระบุ พร้อมกับยืนยันด้วยว่าแนวคิดของ คัมพราด สร้างความประทับใจและพฤติกรรมที่ “ไม่มีวันเลือนหายไป” ไว้ให้กับแวดวงค้าปลีกและวิถีชีวิตของผู้บริโภคตั้งแต่บัดนั้นมาจนถึงทุกวันนี้

ความช่างสังเกต ละเอียดลออ และวิธีคิดที่ไม่เหมือนใครของ อิงก์วาร์ คัมพราด ไม่ได้หยุดอยู่แค่การคิดค้น “แฟลทแพ็ค” แต่มีให้เห็นแม้เมื่อกิจการของเขารุ่งเรืองแล้ว

อิเกีย เปิดภัตตาคารในห้างของตนครั้งแรกในปี 1960 ภัตตาคารในห้างอิเกีย คืออีกตัวอย่างของความช่างสังเกตของเขาที่นำไปสู่ความสำเร็จ

คัมพราด สังเกตพบว่า มีคนจำนวนไม่น้อยเที่เข้ามาที่ห้างแล้วกลับออกไปทั้งๆ ที่ยังไม่ได้ซื้ออะไรเลย เพราะหิว ทำให้เขาตัดสินใจเปิดร้านอาหาร ขายอาหารจานเด็ดของสวีเดนเป็นหลัก

ทุกวันนี้ เฉพาะในประเทศอังกฤษประเทศเดียว อิเกีย ขาย “มีทบอลล์” อาหารพื้นบ้านสวีดิชไปแล้วมากกว่า 11,600 ล้านลูก “มีทบอลล์” กลายเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งควบคู่ไปกับอิเกีย

และแน่นอน ร้านอาหารภายในห้าง ทำรายได้ให้ อิเกีย มากถึง 1,460 ล้านยูโร เมื่อปี 2014!

 

 

ไม่ได้มีแต่สิ่งดีๆ เพียงอย่างเดียวเกิดขึ้นกับ อิงก์วาร์ คัมพราด และ อิเกีย ก่อนที่บริษัทของเขาจะกลายเป็นชื่อที่รู้จักกันทั่วโลก สิ่งซึ่ง คัมพราด เรียกว่า “บาปในใจ” ก็หวนกลับมาทำร้าย ทิ่มแทงเขาและอิเกีย จนได้

ในปี 1994 “เอกซ์เพรสเซน” หนังสือพิมพ์สวีเดน รายงานเปิดโปงข้อเท็จจริงว่า คัมพราด เคยติดต่อและให้ความช่วยเหลือ “เพอร์ เองก์ดาห์ล” ผู้นำลัทธิเผด็จการนาซีของสวีเดน ในช่วงทศวรรษ 1940 และ 1950

การแฉครั้งนั้น ส่งผลสะเทือนทั้งต่อ คัมพราด และ อิเกีย สูงมาก ถึงขนาดมีบางกลุ่มก่อหวอดเตรียมบอยคอต
คัมพราด ตัดสินใจแก้ปัญหาทั้งหมดด้วยการยอมรับและเปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหลายอย่างตรงไปตรงมา ในจดหมายที่เขาจัดทำถึง “เพื่อนร่วมงาน” ทุกคนของอิเกีย คัมพราด ยอมรับว่า ครั้งหนึ่ง เขาเคยเป็นแนวร่วมเดียวกันกับ เองก์ดาห์ล และเรียกสิ่งที่เกิดขึ้นในเวลานั้นว่า “ส่วนหนึ่งของชีวิต ที่ผมเสียใจชนิดขมขื่นอย่างยิ่ง”

หลังจากนั้น คัมพราด เขียนหนังสืออัตตชีวประวัติออกมาเล่มหนึ่ง ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเรียกว่า “การหลงผิดของวัยเยาว์” มากขึ้น ระบุว่าความคิดและการกระทำที่ผิดพลาดดังกล่าวเกิดขึ้นจากอิทธิพลที่เขาถูกปลูกฝังมาตั้งแต่ยังเด็กโดยผู้เป็นยายที่มีเชื้อสายเยอรมันผู้นิยมและศรัทธา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สูงมาก
“ตอนนี้ ผมบอกเล่าออกไปหมดแล้ว….คนคนหนึ่งควรได้อภัยต่อความเขลาที่ว่านั้นได้หรือไม่?”

อาจบางที ด้วยเหตุนี้แลอีกบางสาเหตุ ที่ทำให้ความเชื่อมโยงของ คัมพราด กับ สวีเดน ดินแดนมาตุภูมิ สลับซับซ้อนกว่าที่ควรจะเป็น แม้ว่า อิเกีย จะเชิดชูมรดกแห่งสวีเดน เลือกสีสรรของห้างที่สะท้อนชัดเจนถึงสีธงชาติสวีเดน รวมทั้งภัตตาคารในห้างยังเสิร์ฟ มีทบอลล์ อาหารพื้นบ้านเก่าแก่ของสวีเดนก็ตามที

ปลายทศวรรษ 1970 คัมพราด ย้ายออกจากสวีเดน ไปใช้ชีวิตอยู่ในสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อจะได้ไม่ต้องจ่ายภาษีให้กับบ้านเกิด ซึ่งในเวลานั้นได้ชื่อว่า เป็นประเทศที่เก็บภาษีสูงที่สุดในโลก ก่อนที่จะตัดสินใจกลับมาใช้ชีวิตในสมาลันด์ อีกครั้งในปี 2011 เมื่อภรรยาคนที่สองเสียชีวิตลง

พอถึงเดือนมิถุนายน 2013 คัมพราด ก็ประกาศลาออกจากคณะกรรมการบริหารของอิเกีย เปิดทางให้หนึ่งในลูกชายของเขาเข้ารับผิดชอบแทน

ก่อนหน้านั้น 1 ปี ฟอร์บส์ จัดอันดับให้เขาเป็นมหาเศรษฐกิจพันล้านของโลก มีทรัพย์สินสุทธิ 23,000 ล้านดอลลาร์ แต่หลังจากเขาลาออกจากอิเกีย ฟอร์บส์ ระบุว่า ทรัพย์สินของคัมพราดอยู่ที่ 3,400 ล้านดอลลาร์เมื่อปี 2016 ในขณะที่ ดัชนีเศรษฐีพันล้านของ บลูมเบิร์ก ระบุว่า ทรัพย์สินสุทธิของเขาสูงถึง 58,700 ล้านดอลลาร์

ครั้งหนึ่งอิเกีย เคยระบุว่า ข้อมูลทรัพย์สินของฟอร์บส์ เกิดความคลาดเคลื่อนเนื่องจาก นำเอา อิเกีย เข้าไปรวมอยู่ในทรัพย์สินที่ คัมพราด เป็นเจ้าของ

อิเกีย ระบุว่า คัมพราด ไม่ได้เป็นเจ้าของบริษัทอีกต่อไป เจ้าของบริษัทเป็นมูลนิธิที่ อิงก์วาร์ คัมพราด ก่อตั้งขึ้น มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า รายได้ใดๆ ของบริษัท สามารถนำไปใช้ได้ 2 ทางเท่านั้น หนึ่งคือนำกลับมาลงทุนในบริษัท อีกทางหนึ่งคือบริจาคให้การกุศล

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของมหาเศรษฐีคนหนึ่ง ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ ยังคงเก็บซองพริกไทย และเกลือป่น ที่เหลือใช้จากการทานอาหารในร้าน หรือภัตตาคารกลับไปใช้ที่บ้าน

“คนบอกว่าผมขี้เหนียว ผมว่าผมภูมิใจกับชื่อเสียงนี้นะ” อิงก์วาร์ คัมพราด เคยบอกเอาไว้อย่างนั้น
(ภาพ-TT News Agency/Ola Torkelsson/via REUTER)

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image