คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: เด็กๆ แห่ง ฟุคุชิมา!

ยู กับแมงกว่าง (ภาพ-Yu อายุ 5 ขวบ กับ Geoff Read)

เจฟฟ์ รีด จิตรกรชาวอังกฤษ ใช้ชีวิตอยู่กับลูกชายวัย 8 ขวบที่ ฟุคุชิมา ตอนที่หายนะซ้ำซ้อน 3 คำรบเกิดขึ้นเมื่อ 7 ปีก่อน เมื่อ 11 มีนาคม 2011

เริ่มต้นจาก แผ่นดินไหวที่โทโฮกุ ต่อด้วยคลื่นยักษ์สึนามิ ตามมาด้วยหายนะภัยที่ไม่คาดคิด วิกฤตการณ์นิวเคลียร์

ผมพบว่า รีด ยังคงใช้ชีวิตอยู่ที่ฟุคุชิมา ทำงานจิตรกรรมร่วมกับเด็กๆ ที่นั่นอย่างต่อเนื่อง ถ่ายทอดภาพผลงานของเด็กๆ เหล่านั้น ออกสู่โลกกว้าง พร้อมเรื่องราวเกี่ยวกับตัวของพวกเขา สถานการณ์ของพวกเขา รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ เสียใจ รวมไปถึงความต้องการ และสิ่งที่โหยหา ของเด็กๆ เหล่านี้ออกมาอย่างหมดจด ผ่านทางเว็บบล็อก “http://strongchildrenjapan.blogspot.com/”

ผมอ่าน ติดตามดู ทุกภาพ ทุกเรื่องราวที่โพสต์อยู่ในนั้่นอย่างถี่ถ้วน จดจ่อ พยายามซึมซับสิ่งที่ เจฟฟ์ รีด คิดและสะท้อนออกมาทั้งหมด

Advertisement

รีด ทำงานร่วมกับเด็กๆ สร้างภาพเขียนแต่ละภาพออกมาด้วยกัน ส่วนใหญ่เขาปล่อยให้เด็กๆ จัดการกับกระดาษสีขาวว่างเปล่าก่อน แล้วจึงแต่งเติมสิ่งที่แทนตัวตนของแต่ละคนบนภาพนั้น มีเหมือนกันที่เขาจำเป็นต้องเริ่มด้วยภาพตัวเด็กก่อน แล้วปล่อยที่เหลือให้เด็กหญิงหรือชาย จัดการต่อเติมตามจินตนาการของตนเอง

“การทำงานจิตรกรรมร่วมกับพวกเด็กๆ ของผม เกิดขึ้นบนพื้นฐานที่ว่า ตัวตนของเด็กๆ จะเข้มแข็งที่สุด และยืดหยุ่นมากที่สุด เมื่อรับฟังพวกเขา เคารพพวกเขา กระตุ้นให้พวกเขาคิดในทางสร้างสรรค์

“เด็กๆ จำต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เพื่อเปิดโอกาสให้พวกเขาพัฒนาความคิดของตัวเองที่มีต่อสถานการณ์ได้ ทำให้อารมณ์ของพวกเขามีความหมาย และสามารถแสดงออกออกมาได้” รีด บอกเล่าไว้ผ่านข้อเขียนของเขาใน “เกียวโด เจอร์นัล”

ผู้ใหญ่ไม่อยาก และไม่ยอมให้เด็กๆ แสดงอารมณ์บางอย่าง แต่ยืนกรานยอมให้มีแต่ความสดใส ไร้เดียงสา รื่นเริง ถึงกับไม่อยากคิดว่า เด็กๆ ก็มีความเศร้า เสียใจ กลัว ผิดหวัง กระทั่งโกรธเกรี้ยวได้เหมือนกับพวกเขา
เด็กๆ แห่งฟุคุชิมา ผ่านพบประสบการณ์ “พิเศษ” ที่ไม่เคยมีใครคาดคิดว่าจะต้องพบ จะต้องเผชิญในชั่วชีวิตหนึ่ง

เป็นประสบการณ์อันตรายซ้ำซ้อนที่ไม่เพียงเฉียบพลัน ยังรุนแรง และต่อเนื่องจนดูเหมือนไม่มีวันสิ้นสุด แม้กาลเวลาจะผ่านไปเนิ่นนานเต็มที

เป็นประสบการณ์ที่คุกคาม ทั้งต่อสุขภาพร่างกาย และทั้งต่ออารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดของพวกเขาในระยะยาวอย่างยิ่ง

ประสบการณ์ที่ทำให้ความสดใส น่ารักและความจดจ่อ มุ่งมั่นไม่ลดละของวัยเด็ก ถึงแม้จะยังไม่สูญหาย แต่ก็ถูกลดทอน ถูกจำกัดไปมากมายอย่างยิ่ง

พวกเขาจะบอกอย่างไร? จะแสดงออกมาอย่างไร? ผู้ใหญ่ถึงจะเข้าใจ

 

 

เด็กๆ แห่ง ฟุคุชิมา ยังคงเป็นเด็กทั่วไป เหมือนกับเด็กๆ อีกมากมายในญี่ปุ่น ในไทย หรือในสหรัฐอเมริกา พวกเขายังคงต้องการอย่างที่เด็กๆ ทั้งหลายต้องการ

ยังคงต้องการเตะบอล ยังอยากเล่นสนุกสนานกับเพื่อนๆ กลางแจ้ง ยังคงอยากเห็นอยากสัมผัสสิ่งแปลกใหม่ในชีวิตตามที่สังเกตพบในธรรมชาติที่แวดล้อมพวกเขาอยู่ อยากกินไอศกรีมชนิดเกลี้ยงถ้วย โดยไม่ต้องกังวล ไม่ต้องผวาว่ามันจะปนเปื้อน และความอร่อยจะเป็นพิษ

แต่สิ่งเหล่านี้เป็นไปไม่ได้อีกต่อไปหลังเหตุการณ์ซ้ำซ้อนหนนั้น

ตามคำบอกเล่าของ เจฟฟ์ รีด เด็กๆ ในชนบทของฟุคุชิมา คุ้นเคยอย่างยิ่งกับโลกธรรมชาติรอบตัว พวกเขาสัมผัสธรรมชาติเหล่านั้นได้โดยตรง ด้วยมือ ด้วยตา ของตัวเอง ตั้งแต่การควานหาแมงกว่าง เรื่อยไปจนถึงสนุกสนานกับแมงปอตัวใหญ่ในมือ บ่อยครั้งพวกเขาตามผู้ใหญ่ไปเก็บผักสด เห็ดสดๆ จากในป่า หรือไม่ก็ช่วยพวกผู้ใหญ่ในแปลงเกษตร

อาหารที่พวกเขากิน ดื่ม เป็นอาหารคุณภาพในระดับสูงมาก บ่อยครั้งที่เก็บเกี่ยวมาสดๆ ไม่กี่นาทีก่อนจัดวางไว้ในจานบนโต๊ะดินเนอร์

แต่ในยามนี้ทุกอย่างกลับตาลปัตรไปหมด พ่อแม่มากมายที่ต้องดิ้นรนถึงที่สุด เพียงเพื่อให้ได้อาหารที่ดีพอ ปลอดภัยพอ จากพื้นที่ห่างไกลเพื่อลูกๆ ของพวกเขา

เด็กๆ แห่งฟุคุชิมา ถูกเก็บไว้แต่ภายในบ้าน ในที่พัก หน้าต่างทุกบานปิดสนิท

โลกของพวกเขาหดเล็กลง หลงเหลือเพียงลำพังตัวเอง กับจินตนาการและความโหยหาที่ไม่เคยถูกเติมเต็ม
วัยเด็กที่พวกเขาคุ้นเคย คาดหวัง จบสิ้นไปแล้ว หมดสิ้่นเร็วเกินไปอย่างยิ่ง

    • ฮานะ กับ ฟุคุชิมาและโทโฮกุ
    (ภาพ- Hana อายุ 9 ขวบกับ Geoff Read)

 

เพราะเด็กๆ พ่อแม่แห่งฟุคุชิมา เป็นกังวลอย่างยิ่งกับกัมมันตภาพรังสี ความกังวลที่มากถึงระดับหวั่นวิตก แต่เป็นเหตุเป็นผลและเข้าใจได้

จนถึงบัดนี้ นักวิทยาศาสตร์ในทุกระดับการศึกษา ทุกระดับขีดความสามารถ ยอมรับโดยดุษณีว่าองค์ความรู้และฉันทามติว่าด้วยความเสี่ยงและผลกระทบต่อกลไกของชีวิตจากการสัมผัสกับรังสีนิวเคลียร์ในระดับต่ำแต่ต่อเนื่องเป็นเวลานานนั้น ยังจำกัดอย่างยิ่ง…จริงๆ ก็คือ ขาดแคลนอย่างยิ่ง

พวกเขาแค่รู้แน่นอนว่า คุณจะตาย หากได้รับกัมมันตภาพรังสีเข้าไปในปริมาณสูงระดับหนึ่ง ในระยะเวลาที่จำกัดระดับหนึ่ง

แต่ถ้าน้อยลงจากนั้นเล่า น้อยจนถึงระดับเพียงตรวจจับได้ แต่ต้องสัมผัสกับมันตลอดเวลา ตลอดหลายปีที่ผ่านมา จะเกิดอะไรขึ้นกับผู้ใหญ่ที่ตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น

แล้วถ้าเป็นเด็กๆ เล่า เด็กในวัยเจริญเติบโต เด็กๆ ที่ดูดซับทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้าสู่ร่างกาย ภายใต้การคาดหวังว่า สิ่งนั้นๆ จะเอื้อต่อการเติบโต เจริญวัยในอนาคต จะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา

ความไม่รู้ คือความไม่แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความละล้าละลัง ความหวั่นวิตก ที่หลายครั้งมากมายถึงระดับกลายเป็นความกลัว

พ่อแม่ของเด็กๆ ที่ฟุคุชิมา ทั้งว้าวุ่น ทั้งผิดหวัง รู้สึกถูกทอดทิ้งจากทุกผู้คน สุดท้าย พวกเขาก็จำเป็นอยู่ดีที่ต้องพึ่งพาอินเตอร์เน็ต ทั้งเพื่อแสวงหาสิ่งที่ตนเองต้องการและเพื่อแบ่งปันข้อมูลและข้อเท็จจริงที่เชื่อถือได้ซึ่งกันและกัน

ว้าวุ่นจากความหวาดกลัวอันตรายที่ไร้รูปลักษณ์ ละล้าละลังกับความคิดเพื่อหาทางออก จะยินยอมให้ครอบครัวแตกแยกออกไปเป็นส่วนๆ เพื่ออพยพให้พ้นจากที่นี่ ตามข้อเสนอที่ได้รับจากเพื่อนร่วมชาติ หรือเสี่ยงกับการยังคงใช้ชีวิตอยู่ในฟุคุชิมา แต่ยังสามารถรักษาครอบครัวทั้งหมดให้อยู่ร่วมกันต่อไปได้

พ่อแม่ ผิดหวัง คับข้องใจกับความยากลำบากในการเสาะหาแหล่งอาหารที่ปลอดภัยจากพื้นที่อื่นใด นอกฟุคุชิมา ความคับข้องใจที่กลายเป็นความโกรธในบางคราว เมื่อเกิดความพยายามเรียกร้องความเสมอภาค เท่าเทียมในการให้การสนับสนุนฟุคุชิมากับพื้่นที่อื่นๆ ซึ่งลงเอยด้วยผลลัพธ์ที่ว่า เด็กๆ ที่นี่ยังคงต้องกิน ต้องดื่มอาหารทั้งหลายที่ผลิตขึ้นภายในที่นี่ รวมทั้งมื้ออาหารกลางวันสำหรับเด็กที่โรงเรียน

ความว้าวุ่น ลังเล ผิดหวัง คับข้องใจเรื่อยไปจนถึงอาการกราดเกรี้ยวเหล่านี้ ถ่ายทอดสู่เด็กๆ ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่มากก็น้อย เด็กๆ กังวล กลัวและคับข้องใจไม่ต่างจากผู้ใหญ่ เพียงแต่รู้ดีว่า อะไรที่พวกเขาพูดออกมาได้ อะไรบ้างที่ไม่สามารถเอ่ยออกมา

ในความรู้สึกของ เจฟฟ์ รีด เด็กๆ เข้าใจดีถึงความต้องการของผู้ใหญ่ที่รักและปกป้องพวกเขา ตระหนักดีถึงความอยากของผู้ใหญ่ ที่ต้องการให้พวกเขาเป็นสุข สนุก รื่นเริงและเข้มแข็ง

เด็กๆ แห่งฟุคุชิมา เข้มแข็ง และพยายามถึงที่สุดเพื่ออดทนกับทุกอย่างที่พวกเขาพบพานในภาวะการณ์ “พิเศษ” นี้

แข็งแกร่งมากถึงขนาดที่บางครั้ง ดูเหมือนเด็กๆ เหล่านี้ต่างหาก ที่เป็นคนปกป้องผู้ใหญ่ทั้งหลายที่อยู่รอบตัวพวกเขา

แม้ว่าลึกลงไปข้างใน ประสบการณ์ที่เจ็บปวดเหลือหลายกำลังเกาะกิน ทำอันตรายพวกเขาอยู่เงียบๆ ก็ตามที

 

 

ในความเป็นจริง หนทางเดียวที่จะทำให้เด็กๆ เหล่านี้ปลอดภัย หรือได้รับกัมมันตภาพรังสีให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก็คือการอพยพออกจากพื้นที่ฟุคุชิมา ซึ่งเป็นปัญหาไม่เพียงแค่ เรื่องที่พักรับรองที่ไม่เพียงพอกับการไปอยู่ร่วมกันเป็นครอบครัวเหมือนเดิมเท่านั้น แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาต่อเนื่องอีกมากมายตามมา

ปัญหาใหญ่ที่สุดในทัศนะของ เจฟฟ์ รีด ก็คือ การอพยพไปใช้ชีวิตที่อื่น กับคนอื่นๆ เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในชีวิตของเด็กๆ แต่กลับไม่เคยมีใครถามไถ่พวกเขาเลยหรือ?

พวกเขาจะว่าอย่างไรกับสภาพการใช้ชีวิตที่แตกต่างกันออกไป สุขภาวะที่แตกต่างกันออกไป และความสนุกสนานรื่นเริงที่ผิดแผกไปจากเดิม จากที่เคยคุ้น

สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อพวกเขาโดยตรง กลายเป็นกรอบจำกัดต่อพวกเขาโดยตรง พวกเขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับมัน?

มีทางเลือกอื่นให้พวกเขาหรือไม่? มีข้อมูล ข่าวสารใดๆ ที่จะช่วยให้พวกเขาเติบใหญ่ขึ้นมาและเรียนรู้ว่าจะปกป้องตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้หรือไม่ การสื่อสารทุกรูปแบบกับเด็กๆ แห่งฟุคุชิมา ไม่เคยจำเป็นมากเท่านี้มาก่อน ในความเห็นของ เจฟฟ์ รีด

ตัดสินจากประสบการณ์การทำงานศิลปะร่วมกับเด็กๆ แห่งฟุคุชิมา เจฟฟ์ รีด มั่นใจว่า เด็กๆ เหล่านี้มี “ต้นทุนทางสังคม” มากเพียงพอต่อการเป็นฐานรากที่จำเป็นต่อการเติบใหญ่เป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้ในอนาคต

ขามองเห็นความยืดหยุ่น ความสามารถในการฟื้นตัวรวดเร็วมากในทางจิตใจของเด็กๆ ผ่านงานเหล่านั้น ได้เห็นความสมานฉันท์ซึ่งกันและกัน ได้เห็นอารมณ์ขันของเด็กๆ แห่งฟุคุชิมา ผ่านชิ้นงานทั้่งหลายเหล่านั้น
กระนั้น เจฟฟ์ รีด ก็ยืนยันได้ว่า นั่นไม่ใช่ข้ออ้างหรือเหตุผลแก้ต่างใดๆ ที่จะเรียกร้องเอาอะไรมากมายจากเด็กๆ เหล่านี้

ทุกครั้ง ทุกปีที่ทั่วโลกจับตามองไปที่ ฟุคุชิมา สายตาของเด็กๆ เหล่านี้ก็จับจ้องมองตอบมาเช่นเดียวกัน
สายตาของพวกเขายังถามหาคำตอบอยู่เช่นเดิม

 

 

ผมเล่า ผมมองเห็นอะไรจากภาพเขียนจากหัวใจของเด็กๆ แห่งฟุคุชิมา?

ผมมองเห็นหลายอย่างจากพวกเขาครับ แต่ที่ชัดเจนที่สุดคือ การได้เห็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของเด็กๆ เหล่านี้ ที่ไม่ยินยอมให้ประสบการณ์ที่ผ่านมาไม่ว่าจะเจ็บปวด “พิเศษ” เพียงใด มาบดบัง ปกปิด ความสดใส รื่นเริง สนุกสนานของพวกเขาได้

ยู อายุ 5 ขวบ ยังคงเขียนแมงกว่างในใจของเขาออกมาได้อย่างมีชีวิตชีวา ฮานาโกะ อายุ 5 ขวบยังคงจดจำชิงช้าบนสนามหญ้าเขียวขจีของเธอได้แม่นยำอย่างยิ่ง มิซูกิ อายุ 7 ขวบ ยังสามารถสอดใส่จินตนาการสดใสของผึ้งงานและแดนสวรรค์ของน้ำผึ้ง ออกมาได้แจ่มชัดยิ่งนัก

คูรูมิ ที่อายุเพียง 7 ขวบ ก็ชดเชยสิ่งที่เธอโหยหา ด้วยการรังสรรค์ท้องฟ้าสีฟ้าสดใส สำหรับเธอได้ “โบยบิน” พร้อมกับสุนัขตัวโปรด

ยามาโตะ อายุ 13 ปีแล้ว เขาเขียนภาพของ “ทานตะวัน” ดอกใหญ่ ไว้ข้างโคลงไฮกุ ความว่า “มีรอยยิ้มในใจกลางทานตะวัน ผมคิดว่าทุกคนคงยิ้่มเช่นกัน เมื่อเห็นทานตะวันเหล่านี้”

ทานตะวันที่ฟุคุชิมามีมากเป็นพิเศษ มันถูกปลูกไว้ในพื้นที่ซึ่งมีกัมมันตภาพรังสีสูงมากกว่าที่อื่น นัยว่าเพื่อให้มันทำหน้าที่ซึมซับเอากัมมันตภาพรังสีจากผืนดิน แต่ยามาโตะยังมองเห็นรอยยิ้มเบิกบานของมันได้ ในขณะที่หลายคนมองไม่เห็น

หลายคนเข้มแข็งพอ ที่จะถ่ายทอดอารมณ์ของตนออกมาตรงๆ ภาพของ นาโอยะ วัย 8 ขวบ ที่ใช้ชีวิตอยู่ไม่ห่างนักจากโรงไฟฟ้า ไม่ได้มีอะไรมากไปกว่า สี่เหลี่ยมและสามเหลี่ยมไม่กี่ชิ้นแทนที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ กับแถบและเส้นสีดำที่ละเลงไปแทบทั่วกระดาษแทนที่กัมมันตภาพรังสี

“ผมเศร้าใจที่มีโรงไฟฟ้าอยู่ใกล้ๆ โคริยามะ” เมืองที่เขาอาศัยอยู่และที่ระดับกัมมันตภาพรังสีสูงมากตั้งแต่ตอนแรกเริ่มวิกฤต

บางคน เข้มแข็งและยิ่งใหญ่เกินกว่าที่จะคาดคิดถึงได้ ฮานะ อายุ 9 ขวบ ไม่เพียงคาดหวังถึงอนาคตที่สดใส ยังถึงกับปลอบประโลมผืนแผ่นดิน

“ฉันเชื่อมั่นใน ฟุคุชิมา, เข้มแข็งไว้นะ โทโฮกุ!”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image