หมายเหตุ”มติชน” – นายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูต และผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ให้สัมภาษณ์”มติชน”ถึงสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนไทยในเวทีโลก
แน่นอนว่ายังมีความสนใจเกี่ยวกับพัฒนาการการเมืองในไทย คณะผู้แทนถาวรได้ทำงานเชิงรุกในการสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นเกี่ยวกับประเทศไทยรวมถึงป้องกันไม่ให้มีการพาดพิงประเทศไทยในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ(ยูเอ็นเอชอาร์ซี) รวมถึงเวทีอื่นๆ เพราะที่เจนีวาเป็นที่ตั้งของหน่วยงานต่างๆ มากกว่า 30 องค์กร อาทิ องค์การอนามัยโลก(ดับเบิลยูเอชโอ) องค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ไอแอลโอ) การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(อังค์ถัด) ดังนั้นงานที่เราทำจึงมีหลายมิติ
การดำเนินงานเชิงรุกของคณะผู้แทนถาวรประกอบด้วยการหารือกับข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงกลไกพิเศษอาณัติต่างๆ ทั้งยังกล่าวถ้อยแถลงในเวทีที่เกี่ยวข้องหรือมีหนังสือแจ้งพัฒนาการของไทยหรือตอบโต้เพื่อแก้ไขความคลาดเคลื่อน เพื่อให้กลไกต่างๆ เหล่านี้มีความเข้าใจต่อบริบทและสถานการณ์ในไทยมากขึ้น
ในความเป็นจริงแล้วประเด็นเรื่องสิทธิมนุษยชนของไทยก็มีจุดแข็งโดยเฉพาะเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านวิชาการ เราได้ผลักดันประเด็นความร่วมมือทางวิชาการและการพัฒนาศักยภาพในเวทีเอชอาร์ซี มีการเสนอข้อมติให้มีการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(เอสดีจีส์)กับเรื่องสิทธิมนุษยชน และส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเอสดีจีส์ ซึ่งที่ประชุมเอชอาร์ซีครั้งที่ 36 เมื่อปีที่ผ่านมา ก็ได้ให้การรับรองข้อมติดังกล่าวของไทยโดยฉันทามติ มีประเทศที่ร่วมอุปถัมภ์ข้อมติดังกล่าวเกือบ 90 ประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือทางวิชาการ ขณะที่ไทยก็ได้แสดงบทบาทที่สร้างสรรค์ในเวทีระหว่างประเทศ สามารถผลักดันประเด็นที่ไทยให้ความสำคัญและเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการภายในประเทศไปควบคู่กัน
นอกจากนี้ไทยยังมีบทบาทนำในเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า(Universal Health Coverage-ยูเอชซี)และผลักดันให้ประเด็นดังกล่าวได้รับการขยายผลในเวทีโลก เมื่อปีที่ผ่านมาไทยเป็นประธานกลุ่มนโยบายการต่างประเทศและสุขภาพโลกและได้เสนอให้มีการจัดประชุมระดับสูงของยูเอชซีในปี 2563 ที่นครนิวยอร์กด้วย
ไทยยังได้ผลักดันประเด็นการสาธารณสุขและผู้โยกย้ายถิ่นฐาน โดยมีการร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดอภิปรายและจัดกิจกรรมคู่ขนานมาแล้วหลายครั้ง จนทำให้ประเด็นดังกล่าวได้รับการยอมรับว่าเป็นประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่สมาชิกยูเอ็นและภาคส่วนต่างๆ จะต้องดำเนินการ และยังเป็นโอกาสในการนำเสนอตัวอย่างที่ดีที่ไทยทำมาตลอด
แม้แต่ผู้อำนวยการใหญ่ของดับเบิลยูเอชโอที่ได้เดินทางเยือนไทยก็ยังระบุว่าจะหยิบยกประเทศไทยเป็นตัวอย่างของประเทศที่มีพัฒนาการในเรื่องยูเอชซี เขาบอกว่าไทยสามารถเป็นตัวอย่างที่ดีที่จะนำไปเผยแพร่ให้กับประเทศอื่นๆ ได้
ขณะที่อังค์ถัดก็เห็นว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของไทยสามารถนำไปใช้เป็นตัวอย่างให้กลุ่มประเทศกำลังพัฒนานำไปประยุกต์ใช้ อังค์ถัดยังจะร่วมมือกับ คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก(เอสแคป) ที่จะทำเอกสารให้คำแนะนำกับประเทศต่างๆ เกี่ยวกับการลงทุนที่มีประโยชน์ในการทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยนำรูปแบบของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้
-ยังมีการแสดงความห่วงกังวลในประเด็นสิทธิมนุษยชนใดๆ ของไทยหรือไม่
ยังอาจมีการพูดถึงเสรีภาพในการแสดงออก แต่หลักการสำคัญก็เป็นไปตามที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้กล่าวในถ้อยแถลงต่อที่ประชุมเอชอาร์ซีสมัยที่ 37 ว่าเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของคนจะต้องเคารพสิทธิของผู้อื่น รวมถึงไม่กระทบต่อความสงบสุขและเสถียรภาพของสังคม นอกจากนี้ยังมีประเด็นในเรื่องผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเราก็ได้มีหนังสือชี้แจงโดยประสานกับหน่วยงานภายในประเทศเพื่อไม่ให้มีการพาดพิงไทยในประเด็นที่ผิด
สำหรับประเด็นเรื่องการเลือกตั้งในอดีตเคยมีการกล่าวว่าขอให้มีการเลือกตั้งในไทยในโอกาสแรก ซึ่งก็ได้มีการชี้แจงและสร้างความกระจ่างว่าทุกอย่างดำเนินไปตามโรดแมปที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงไว้ แต่ปัจจุบันยังไม่มีใครสอบถามเท่าใดนัก
ที่สำคัญไม่อยากให้มองว่าสำหรับไทยประเด็นสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องที่มีแต่ปัญหา เพราะในความเป็นจริงสิ่งที่ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกที่เราทำอยู่ทั้งในประเทศและในเวทีระหว่างประเทศก็มีอยู่มากมาย อย่างที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น