ชี้สงครามความตึงเครียดจุดชนวนเอเชีย-ตอ.กลางนำเข้าอาวุธพุ่ง

Flickr/Jasper Nance

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ผลการศึกษาที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มีนาคมระบุว่า การนำเข้าอาวุธมายังภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียเจริญรุ่งเรืองในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีชนวนมาจากสงครามและความตึงเครียดในภูมิภาคดังกล่าว

สถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสตอกโฮล์ม (ซีปรี) ของสวีเดนคำนวณว่า ในช่วงเวลาระหว่างปีพ.ศ.2556-2560 การนำเข้าอาวุธมายังภูมิภาคตะวันออกกลางที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าจากเมื่อช่วง 5 ปีก่อนหน้า โดยมากกว่าเดิมถึง 13 เปอร์เซ็นต์ และภูมิภาคตะวันออกกลางนำเข้าอาวุธคิดเป็น 32 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลก

ทั้งนี้ ซีปรีเป็นสถาบันอิสระที่ติดตามการขนส่งอาวุธในแง่ปริมาณในช่วงเวลา 5 ปีเพื่อเฝ้าจับตาและบรรเทาปัญหาความผันผวนระยะสั้น

ซีปรีระบุว่า ซาอุดีอาระเบียซึ่งก่อสงครามกับกบฏฮูธีนิกายชีอะห์ที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่าน ชาติคู่อริ เป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ของโลกรองจากอินเดีย โดยสหรัฐอเมริกาส่งออกอาวุธไปยังซาอุดีอาระเบีย 61 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่อังกฤษส่งออกไป 23 เปอร์เซ็นต์

Advertisement

ถึงอย่างนั้นก็ตาม เอเชียและโอเชียเนียเป็นภูมิภาคที่นำเข้าอาวุธมากที่สุด คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของทั้งโลกในช่วงเวลาดังกล่าว โดยอินเดียเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลก และรัสเซียเป็นผู้ส่งออกไปยังอินเดียมากที่สุด 62 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สหรัฐที่เป็นผู้ส่งออกอาวุธรายใหญ่ที่สุดของโลกส่งออกอาวุธไปยังอินเดียเพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว

นายไซมอน เวเซมาน นักวิจัยของซีปรี ระบุว่า “ความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับจีนและปากีสถาน จุดชนวนให้ความต้องการอาวุธหนักของอินเดียเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่อินเดียยังคงไม่สามารถผลิตเองได้”

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image