“อาเซียน-ออสเตรเลีย” ประกาศร่วมกันต่อสู้ลัทธิคุ้มครองการค้า ห่วงกังวลเรื่องเกาหลีเหนือ

AFP PHOTO / Saeed KHAN

สำนักข่าวเอพี เอเอฟพี และรอยเตอร์ รายงานว่า การประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษ ที่นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปิดลงเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ผู้นำออสเตรเลียและสิงคโปร์ ประกาศร่วมกันที่จะต่อสู้กับลัทธิคุ้มครองทางการค้า หลังจากสหรัฐมีแผนที่จะตั้งกำแพงภาษีใหม่ที่จะกลายเป็นการทำสงครามการค้าโลก

โดยนายลี เซียน หลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวระหว่างการปิดประชุมอาเซียน-ออสเตรเลียว่า “เราเชื่อว่า ระบบการค้าหลายฝ่ายที่เสรี เปิดกว้าง และตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักเกณฑ์ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูมิภาคมีการเจริญเติบโตและประสบความสำเร็จ”

นายลี และนายมัลคอล์ม เทิร์นบูล นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย ยังเรียกร้องให้ชาติสมาชิกอาเซียน เร่งทำข้อตกลงในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ อาร์เซ็บ ซึ่งนายเทิร์นบูลกล่าวว่า หากสามารถดำรงไว้ซึ่งข้อตกลงที่ดี ก็จะสามารถต่อต้านลัทธิคุ้มครองทางการค้าได้

ข่าวระบุว่า ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย สมัยพิเศษนี้ มีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจระหว่างอาเซียนกับออสเตรเลีย และเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามอันเกิดจากกลุ่มติดอาวุธมุสลิม

Advertisement

แถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมยังได้แสดงความเป็นห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นอันเนื่องมาจากโครงการนิวเคลียร์และมิสไซล์ของเกาหลีเหนือ โดยในแถลงระบุว่า “เราขอเรียกร้องอย่างแข็งขันให้เกาหลีเหนือปฏิบัติตามพันธะสัญญาภายใต้มติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) อย่างทันทีและเต็มที่” พร้อมระบุว่า การพัฒนานิวเคลียร์และขีปนาวุธของเกาหลีเหนือถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของภูมิภาคและโลก

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ประกาศจะร่วมมือกันยกระดับด้านกลาโหมร่วมกัน พร้อมกับย้ำถึงความสำคัญของการปลอดซึ่งกำลังทหารภายในบริเวณน่านน้ำที่เป็นเขตพิพาทในทะเลจีนใต้ พร้อมกับขอให้ทุกฝ่ายมีความอดกลั้น และหลีกเลี่ยงการกระทำใดที่จะทำให้สถานการณ์มีความซับซ้อนไปกว่านี้ และตกลงที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดการกับภัยอันตรายอันเกิดจากความรุนแรงสุดโต่งและพวกหัวรุนแรง

เอเอฟพีรายงานว่า แม้ว่าแถลงการณ์ร่วมของที่ประชุมจะย้ำถึงการแก้ปัญหาเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของประชาชน แต่กลับไม่มีการประณามรัฐบาลพม่าที่ปฏิบัติอย่างรุนแรงต่อชาวโรฮีนจาในพม่า อันเป็นผลมาจากการความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัฐยะไข่ ที่ทำให้ชาวโรฮีนจาต้องลี้ภัยความรุนแรงไปยังประเทศบังกลาเทศแล้วเกือบ 700,000 คน นับตั้งแต่เกิดเหตุรุนแรงขึ้นเมื่อ 6 เดือน ซึ่งสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า การกระทำของรัฐบาลพม่าเป็นการกวาดล้างชนชาติพันธุ์

Advertisement

อย่างไรก็ตาม นางออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐและรัฐมนตรีต่างประเทศพม่า ซึ่งร่วมในที่ประชุมครั้งนี้ด้วย ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว ขณะที่นายเทิร์นบูล ซึ่งถูกกดดันไปด้วยเนื่องจากจะได้หารือทวิภาคีกับนางซูจีในวันที่ 19 มีนาคม ได้กล่าวในการแถลงข่าวปิดการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในรัฐยะไข่ และนางออง ซาน ซูจี ได้ร่วมอยู่ในการประชุมด้วย ซึ่งเรื่องที่เกิดขึ้นถือเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก และทุกฝ่ายพยายามจะหาทางยุติความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้นจากการปะทะกัน

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image