คอลัมน์ Think Tank: การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่โดยฝีมือมนุษย์

AFP PHOTO / Joaquin SARMIENTO

กิจกรรมของมนุษย์ได้ผลักดันให้สัตว์และพืชลดลงในทุกๆ ภูมิภาคของโลก ส่งผลให้ความเป็นอยู่ที่ดีของเราเองตกอยู่ในความเสี่ยงจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากเกินไปและการก่อมลพิษ อ้างอิงจากผลสำรวจด้านสปีชีส์ที่ครอบคลุมเผยแพร่เมื่อวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา

ทรัพยากรปลาของเอเชีย-แปซิฟิกอาจหมดลง ก่อนหน้าปี 2048 นกและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมากกว่าครึ่งของแอฟริกา อาจสูญพันธุ์ก่อนหน้าปี 2100 เว้นเสียแต่ว่าจะมีมาตรการที่จริงจัง อ้างอิงจากรายงานดังกล่าวที่เผยแพร่ในงานประชุมด้านสิ่งแวดล้อมที่เมืองเมเดยิน ประเทศโคลอมเบีย

มากถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของสาหร่ายทะเลในเอเชีย-แปซิฟิก จะเสื่อมสภาพรุนแรงภายในปี 2050 ขณะที่ในยุโรปและเอเชียกลาง เกือบ 1 ใน 3 ของสายพันธุ์ปลาทะเลที่เป็นที่รู้จัก และ 42 เปอร์เซ็นต์ของพืชและสัตว์บก จะลดจำนวนลง ส่วนในทวีปอเมริกาเกือบ 1 ใน 4 ของสปีชีส์ที่ได้รับการประเมินเสียงที่จะสูญพันธุ์

“แนวโน้มที่น่าตกใจนี้เป็นอันตรายต่อเศรษฐกิจ ความเป็นอยู่ ความมั่นคงทางอาหารและคุณภาพชีวิตของผู้คนในทุกๆ แห่ง” คณะกรรมการด้านนโยบายวิทยาศาสตร์ระหว่างรัฐบาลว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ หรืออิปเบส เตือน

Advertisement

รายงานที่รวบรวมโดยนักวิทยาศาสตร์เกือบ 100 คนตลอดช่วงเวลา 3 ปี เน้นย้ำว่าธรรมชาติให้อาหาร น้ำสะอาด พลังงานและควบคุมอุณหภูมิโลก ทุกอย่างที่จำเป็นสำหรับการมีชีวิตรอดและเจริญเติบโตของเรา
รายงานชิ้นหนึ่งพบว่าสิ่งที่ธรรมชาติให้กับผู้คน อาจมีราคาสูงถึงหลายพันดอลลาร์ต่อเฮกแตร์ต่อปี

“เรากำลังบ่อนทำลายความอยู่ดีกินดีของเราเองในอนาคต” โรเบิร์ต วัตสันประธานอิปเบสกล่าวถึงผลการศึกษาชิ้นนี้ และว่า “ความหลากหลายทางชีวภาพยังสูญเสียไปอย่างต่อเนื่องตลอดทั่วทุกภูมิภาคของโลก เรากำลังสูญเสียสปีชีส์ กำลังทำให้ระบบนิเวศเสื่อมสภาพ หากยังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป เราจะสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในอัตราเร็วที่เพิ่มมากขึ้น”

การประเมินของอิปเบสแบ่งโลกออกเป็น 4 ภูมิภาคนั่นคือ อเมริกา แอฟริกา เอเชีย-แปซิฟิก และยุโรปกับเอเชียกลาง ยกเว้นเพียง แอนตาร์กติกและทะเลที่อยู่นอกเหนืออาณาเขตทางกฎหมาย

Advertisement

อาสาสมัครที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ไล่เก็บข้อมูลในสิ่งพิมพ์ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นผลการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพอย่างเข้มข้นกว่า 10,000 ชิ้นนับตั้งแต่ปี 2005 เป็นต้นมา

ผลการศึกษาถูกสรุปออกมาเป็นรายงาน 4 ฉบับที่รับรองโดยสมาชิก 129 ชาติของอิปเบสในโคลอมเบีย โดยรายงานต่างๆ เหล่านี้มีการแนะแนวทางปฏิบัติสำหรับรัฐบาลชาติต่างๆ ในการออกนโยบายที่เป็นมิตรกับความหลากหลายทางชีวภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคต

“หากยังคงปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป การสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 ครั้งแรกที่เกิดขึ้นโดยฝีมือมนุษย์จะดำเนินต่อไป” วัตสันกล่าว

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่าการบริโภคที่ตะกละตะกลามของมนุษย์ ส่งผลให้เกิดการสูญพันธุ์ของสปีชีส์จำนวนมากนับตั้งแต่ยุคไดโนเสาร์เป็นต้นมา และนับเป็นการสูญพันธุ์ใหญ่ครั้งที่ 6 เท่านั้นบนดาวเคราะห์ของเราในช่วงเวลา 5 ร้อยล้านปี

รายงานพบว่าในหลายพื้นที่ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศที่ถูกขับดันโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อใช้เป็นพลังงาน ส่งผลต่อการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอย่างรุนแรง

ยังคงมีอุปสรรคหลายอย่างรออยู่ข้างหน้า ที่วัตสันบอกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจจะยังคงดำเนินต่อไป การเติบโตของประชากรจะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปี 2050 เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วอุปสงค์ต่อทรัพยากรจะยังเพิ่มขึ้น
แม้จะประเมินสถานการณ์ในทางบวกมากที่สุด ภาวะโลกร้อนจะยังคงส่งผลต่อการสูญเสียสปีชีส์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสื่อมสภาพของระบบนิเวศ

ทว่านักวิทยาศาสตร์ได้ชี้ให้เห็นถึงวิธีการแก้ปัญหาที่เป็นไปได้ นั่นคือสร้างพื้นที่คุ้มครองมากขึ้น ฟื้นฟูพื้นที่เสื่อมสภาพ และเลิกอุดหนุนส่งเสริมการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน

รัฐบาลต่าง ๆ ภาคธุรกิจและบุคคลควรจะพิจารณาถึงผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อตัดสินใจในเรื่องการทำฟาร์ม การประมง การทำป่าไม้ การทำเหมืองแร่ หรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามวัตสันระบุว่า ภูมิภาคที่แตกต่างกันจะมีวิธีแก้ปัญหาที่แตกต่างกันไป

ทั้งนี้อิปเบสจะนำเสนอรายงานฉบับที่ 5 เกี่ยวกับเรื่องสถานะของดินทั่วโลก ที่กำลังเสื่อมสภาพผ่านการก่อมลพิษ การทำลายป่า การทำเหมืองแร่และวิธีการทำฟาร์มที่ไม่ยั่งยืนซึ่งดูดเอาสารอาหารออกไปในสัปดาห์นี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image