คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: ระบอบ “ปูติน”

AFP

เหตุผลสำคัญที่สุดที่สื่อมวลชนทั่วโลก ไม่ให้ความสนใจกับการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งล่าสุดของรัสเซีย เมื่อวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมามากนัก ก็คือ ทั่วโลกรู้กันดีก่อนหน้าการเลือกตั้งแล้วว่า ผลลัพธ์ของการเลือกตั้งดังกล่าว ไม่มีอะไรมากไปกว่า การยืนยันอย่างเป็นทางการว่า วลาดิมีร์ ปูติน จะดำรงตำแหน่งผู้นำรัสเซีย ไปอีก 6 ปีเท่านั้นเอง

ผลการเลือกตั้งปรากฏออกมาไม่ต่างจากที่ถูกคาดหมายไว้ ผลอย่างไม่เป็นทางการจาก คณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง (ซีอีซี) แสดงให้เห็นว่า อดีตเคจีบีวัย 65 ปี ได้ชัยชนะอย่างถล่มทลาย คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 76 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุด เป็น ตัวแทนพรรคคอมมิวนิสต์รัสเซีย พาเวล กรูดินิน ได้คะแนนเสียงเกินกว่า 11 เปอร์เซ็นต์เพียงเล็กน้อย ตามด้วยผู้สมัครชาตินิยมสุดโต่งอย่าง วลาดิมีร์ ซีรินอฟสกี ที่ 5.7 เปอร์เซ็นต์ และอดีตพรีเซนเตอร์เรียลิตีโชว์ อย่าง เคซีเรีย ซ็อบชัค ได้คะแนนเพียง 1.7 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยนักการเมืองเสรีนิยมคร่ำหวอด กริกอรี ยาฟลินสกี ได้คะแนนจากการเลือกตั้งครั้งนี้เพียง 1 เปอร์เซ็นต์เศษเท่านั้นเอง

มีผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง ราว 67.5 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด ใกล้เคียงกับที่ทางการเครมลินคาดหวังไว้ที่ 70 เปอร์เซ็นต์

นั่นคือการยืนยันอย่างเป็นทางการว่า หลังจากครอบงำการเมืองรัสเซียมายาวนานถึง 18 ปี ปูติน จะยังคงอยู่ในฐานะผู้มีอำนาจสูงสุดในรัสเซียต่อไปจนถึง ปี 2024 ทำสถิติเป็นผู้นำที่อยู่ในตำแหน่งยาวนานที่สุดของรัสเซีย นับตั้งแต่ โจเซฟ สตาลิน ในยุคสหภาพโซเวียตเดิม

Advertisement

ข้อเท็จจริงเหล่านั้น เมื่อบวกเข้ากับความเป็นจริงที่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นการเลือกตั้งที่ “แทบไม่ใช่การเลือกตั้ง” สำหรับปูติน ไม่เพียงง่ายดายกว่าทุกครั้งที่เขาลงสมัครรับเลือกตั้งมาเท่านั้น ปูติน ยังไม่จำเป็นต้องตระเวนหาเสียง ปราศรัย หรือแม้แต่แสดงวิสัยทัศน์-นโยบายต่อประชาชนชาวรัสเซียด้วยซ้ำไป

ปูติน พูดถึงสิ่งที่ถือเป็น นโยบาย ที่เป็นแนวทางการหาเสียงของตนระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์ประจำปีต่อการประชุมร่วมรัฐสภารัสเซียเมื่อวันที่ 5 มีนาคม ก่อนหน้ากำหนดวันลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเพียงไม่ถึง 2 สัปดาห์เท่านั้น

มี “ทุกอย่าง” สำหรับ “ทุกคน” อยู่ในถ้อยแถลงนั้น

Advertisement

ปูติน ไม่เพียงประกาศจะลดความยากจนในประเทศลงครึ่งหนึ่ง ยังสัญญาถึง “อาวุธมหัศจรรย์” ล็อตใหม่สำหรับรัสเซีย รวมถึง ขีปนาวุธนิวเคลียร์พิสัยไกล ซึ่ง “สามารถยิงใส่จุดใดจุดหนึ่งบนโลกนี้ก็ได้”

เท่านั้นเองคือการลงแรงหาเสียงเลือกตั้งของปูติน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าตลอดเวลาของการอยู่ในอำนาจเกือบ 2 ทศวรรษ ผู้นำรัสเซียผู้นี้ได้วางระบบและกำหนดทุกอย่างไว้แน่นหนา มั่นคงเพียงใด

ปูติน ทำเช่นนี้ได้อย่างไร อะไรคือระบบที่วางเอาไว้ที่ทำให้สามารถยืนยงอยู่ในตำแหน่งได้เนิ่นนานขนาดนี้?

 

 

นักสังเกตการณ์การเมืองรัสเซียชี้ว่า หากต้องการทำความเข้าใจว่าระบอบปูติน “ทำงาน” อย่างไร ต้องมองออกไปจากเมืองใหญ่ทั้้งหลาย ซึ่งพร้อมที่จะ “แลกเปลี่ยน” การถูกรอนสิทธิบางอย่างบางประการเพื่อแสดงความภักดี กับการสนองตอบความต้องการในเชิงเศรษฐกิจ พร้อมๆ กับความรู้สึกถึงความมั่นคง มีเสถียรภาพ และสามารถมี “ความภาคภูมิใจในชาติ” ได้อีกครั้งหนึ่ง

คำสัญญาถึงความมั่นคงในชีวิต และความยิ่งใหญ่ของชาติ คือสิ่งที่ระบอบปูตินมอบให้ แต่ทุกคนต้องเต็มใจที่จะไม่ “ขวางทาง” ไม่ต่อต้าน ไม่เช่นนั้นปูตินก็พร้อมที่จะใช้เครื่องมือสำคัญอีกอย่างในระบบที่วางเอาไว้ นั่นคือ “ความรุนแรง”

“เคเมโรโว” ในแถบเซอร์เบียตะวันตก เมืองเอกของแคว้น คุซบาสส์ แคว้นถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของรัสเซีย คือตัวอย่างที่ดีของ “ระบบต่างตอบแทน” ที่ว่านี้

“อามัน ตูเลเยฟ” ผู้ว่าการเมือง คือตัวแทนแบบ “ย่อส่วน” ของระบอบปูตินในเคเมโรโว แทบทุกคนในเมืองนี้มี “ของแจก” ที่ได้รับจาก ตูเลเยฟ ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง บรรดาแรงงานที่เริ่มสูงวัย จะได้รับไม้เท้าพยุงกายจากท่านผู้ว่าฯ เด็กๆ อาจได้รับจักรยาน อีกหลายคนได้รับแจกรองเท้าบูทยาง ฯลฯ ทุกคนรู้สึกคล้ายๆกันว่า อามัน ตูเลเยฟ เป็นสุขกับการได้แจกข้าวของให้กับผู้คนในเมืองนี้

ถึงจุดหนึ่ง เคเมโรโว ถึงกับมีรถรางโดยสารประจำเมือง ด้านข้างมีแผ่นป้ายข้อความระบุว่า “ของขวัญจากท่านผู้ว่าฯ อามัน ตูเลเยฟ”

คนชราในเมืองซึ่งเพิ่งได้รับเงินบำนาญเพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 260 ยูโร จึงถึงกับร่ำไห้ เมื่อปีที่ผ่านมาเมื่อรู้ว่า ตูเลเยฟ จำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัด สำหรับคนส่วนใหญ่ของ เคเมโรโว ตูเลเยฟ วัย 73 ปี ไม่ต่างอะไรจาก “พ่อ” อีกคนของตน และไม่น่าแปลกที่ เคเมโรโว พากันเลือกตูเลเยฟ ให้ดำรงตำแหน่งเดิมซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยสัดส่วนคะแนนไม่น้อยกว่า 97 เปอร์เซ็นต์

ถ้าตูเลเยฟ เป็นบิดาแห่งเคเมโรโว ปูตินก็ต้องเป็น “บิดาแห่งรัสเซีย”

ทั้ง ตูเลเยฟ และ วลาดิมีร์ ปูติน คือคนที่พลิกโฉมหน้าแคว้นคุซบาสส์ ทั้งหมดจากที่เคยเต็มไปด้วยการชุมนุมประท้วงของคนเหมือง และสงครามระหว่างแก๊งมาเฟีย ให้มั่นคง สงบสุข มีกินมีใช้

และทุกอย่างจะยังคงดำเนินไปเช่นนี้ ตราบเท่าที่เคเมโรโว ยังมี ตูเลเยฟ เป็นผู้ว่าฯ และคะแนนเสียงทุกคะแนนยังคงโหวตให้กับ วลาดิมีร์ ปูติน

เขตรอบนอกของรัสเซีย ทำนองเดียวกับ เคเมโรโว คือพื้นที่สำคัญอย่างยิ่งยวดต่อทางการเครมลิน คะแนนเสียงที่รวบรวมได้จากพื้นที่ทำนองนี้ ถูกนำมาชดเชยความนิยมที่ลดลงในเมืองใหญ่อย่างเช่น มอสโก หรือ เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งมีช่องว่างให้ครอบงำ และควบคุมผลการลงคะแนนได้น้อยกว่า

นักวิชาการบางคนเรียกขานสิ่งนี้ว่า “ออโทริทาเรียนิสม์ ฟรอม บีโลว์” หรือ “ระบบอำนาจนิยมจากเบื้องล่าง”

แต่อีกบางคนเรียกง่ายๆ ว่า “ปูตินโมเดล”

 

 

“อเล็กไซ นาวัลนี” เป็นอีกรูปธรรมหนึ่งซึ่งถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่ออธิบายการทำงานของระบอบปูตินในรัสเซีย นาวัลนี เรียกได้ว่าเป็น “ละอ่อนทางการเมือง” ในรัสเซีย ไม่เพียงเพราะเขาปฏิเสธที่จะเป็น “ส่วนหนึ่งของระบบ” เท่านั้น แต่ยังปฏิเสธกฎเกณฑ์ทางการเมืองเรื่องการเลือกตั้งแบบ “ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร” ที่ปูตินใช้เวลาเกือบ 20 ปีที่ผ่านมาตราขึ้นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ นาวัลนี จึงไม่ได้เป็นเพียงนักการเมืองฝ่ายค้านเพียงคนเดียวที่รัสเซียมีอยู่เท่านั้น ยังเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวที่ทำให้การ “หาเสียง” เป็นการหาเสียงตามนิยามโดยทั่วไปของมันจริงๆ ด้วยการตระเวนไปในหลายต่อหลายเมือง ปราศรัยหาเสียง ในรูปแบบที่เป็นการ “พูดคุย” สอบถามและไขข้อกังขาทั้งหลายกันอย่างจริงๆ จังๆ

เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา เขาถึงกับเดินทางมาปราศรัยหาเสียงที่ เคเมโรโว

เจ้าหน้าที่ของเมืองจัดสถานที่ “ริมขอบนอกของเมือง” ให้เป็นสถานที่ปราศรัยหาเสียง แต่พอถึงวันกำหนดก็สั่งปิดเส้นทางรถโดยสารประจำทางที่ผ่านจุดดังกล่าว

นาวัลนีถึงกับแปลกใจไม่น้อยที่มีชาวเคเมโรโว มาชุมนุมเพื่อรับฟังเขาอยู่ร่วมพัน คำแรกที่เขาพูดกับคนเหล่านั้นคือ

“พวกคุณมาที่นี่กันได้ยังไง?”

อเล็กไซ นาวัลนี เป็นคนบุคลิกดี มีความเป็นผู้นำ พูดเก่ง ปราศรัยเก่ง เมื่อบวกกับการตระเวนหาเสียงแบบถึงตัว ซึ่งไม่มีผู้สมัครคนไหนทำ ส่งผลให้ไม่ช้าไม่นานก็กลายเป็น “คู่แข่งขัน” คนสำคัญชนิดที่ถึงกับทำให้ระบบปูตินจำเป็นต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อสกัดกั้น เพื่อปิดปาก

ถึงที่สุด ทางการเครมลินก็อาศัยคำพิพากษาคดีเก่าคดีหนึ่งของนาวัลนีมาเป็นเครื่องมือ บิดเบือนข้อเท็จจริงจากเดิมบ้างเล็กน้อย เพื่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้งกลาง สามารถใช้มันเป็นข้ออ้างในการตัดสิทธิ์ นาวัลนี ออกจากการเลือกตั้งครั้งนี้

ปูติน เกรงกลัวนาวัลนีหรือไร? ไม่ใช่เสียทีเดียว ปูตินไม่ได้กลัวผู้สนับสนุนของนาวัลนี ไม่ได้กลัวว่านาวัลนีจะได้รับชัยชนะ เพราะถึงอย่างไรคนเหล่านั้นก็ยังเป็น “กลุ่มน้อย” ในระบอบปูตินอยู่ดี

ปูติน ไม่ได้กลัวนาวัลนี แต่กลัว “ความคิด” ของนาวัลนีที่สามารถปลูกฝังให้กับผู้ฟังการปราศรัยในหลายๆ ที่ของเขา

เป็นความคิดเสรีที่สามารถ “ทำลาย” ระบบของปูตินลงได้เหมือนเชื้อไวรัสในร่างกายคน

 

 

ระบอบของปูติน ยังสามารถทำความเข้าใจได้จากรายการโทรทัศน์ชื่อ “ไดเร็กท์ไลน์” รายการสดทางโทรทัศน์ที่มีขึ้นเพียงปีละครั้งเท่านั้น ในแต่ละครั้ง วลาดิมีร์ ปูติน ใช้เวลานานหลายชั่วโมง รับฟังคำร้องเรียนสดๆ ทางโทรทัศพท์จากชาวรัสเซียทั่วประเทศ และให้คำมั่นสัญญาที่จะให้ความช่วยเหลือ

ชาวรัสเซียบางคนอุปมา “ไดเร็กท์ไลน์” ว่า ก็เหมือนกับการโทรศัพท์หา “ซานตาคลอส” นั่นเอง

เมื่อปีที่แล้ว ชาวรัสเซียจับจ้องไม่วางตา ขณะ ปูติน รับฟังเสียงของเด็กชายรายหนึ่งจากริมฝั่งทะเลด้านแปซิฟิกผ่านสไกป์ เด็กชายร้องเรียนถึงฝุ่นถ่านหินที่ปลิวมาจากท่าเรือนาค็อดกา ท่านผู้นำจดข้อความบางสิ่งบางอย่างลงไว้ในสมุดบันทึก แล้วกล่าวตอบว่า

“อันดรุชกา เราจะตรวจสอบปัญหานี้ให้เธอนะ”

“ไดเร็กท์ไลน์” เชื่อมโยงปูตินเข้ากับประชาชนส่วนหนึ่งของตน แต่ในขณะเดียวกันก็แยกปูติน ออกจากปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปัญหาในประเทศ ทุกคนไม่สามารถตำหนิประธานาธิบดีที่พยายามอย่างถึงที่สุดที่จะแก้ไขทุกปัญหา แต่หันไปตำหนิผู้ที่รับผิดชอบในปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นแทน

ทั้งๆ ที่ในเวลาเดียวกัน การที่ผู้นำประเทศจำเป็นต้องมานั่งรับฟังปัญหาจากทั่วทุกหนแห่ง ก็คือเครื่องสะท้อนความล้มเหลวในการปกครองของผู้นำรายนั้นๆ อยู่ในตัวก็ตาม

 

 

คนที่พูดถึง วลาดิมีร์ ปูติน ได้ดีที่สุดคนหนึ่งคือ “เกล็บ พาฟลอฟสกี” ผู้ที่ครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงอิทธิพลสูงที่สุดในเครมลินต่อจาก ปูติน แต่ในเวลานี้เป็นคนวิพากษ์วิจารณ์ระบบเดียวกันนี้ที่เขาเป็นผู้รังสรรค์ขึ้นมากับมือที่หนักหน่วงที่สุดเช่นเดียวกัน

เขาถูกปูติน เขี่ยพ้นวงจรอย่างไม่ใยดีเมื่อหลายปีก่อน ตอนที่ปูตินจำเป็นต้องเชิด ดมิตรี เมดเวเดฟ ขึ้นเป็นประธานาธิบดีชั่วคราว เพียงเพราะหลุดปากให้สัมภาษณ์ไปว่า เมดเวเดฟ จะลงสมัครรับเลือกตั้งอีกสมัย
ปูติน เชื่อว่า นั่นคือหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า มีผู้วางแผนการลับๆ ในเครมลินเพื่อโค่นล้มตนเอง

ทั้งๆ ที่ พาฟลอฟสกี คือหนึ่งในทีมงานที่ช่วยกันผลักดันจนปูตินประสบความสำเร็จในการก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งสืบแทน บอริส เยลต์ซิน เมื่อ 18 ปีก่อนหน้านี้ และเป็นหนึ่งในผู้ที่ช่วยกันขจัดอุปสรรคของระบบไปทีละเล็กทีละน้อย ตั้งแต่ ผู้ว่าการเมืองแต่ละเมืองที่มีความคิดเป็นอิสระ เรื่อยมาจนถึงสมาชิกสภาที่พยายามก่อหวอดขึ้นในรัฐสภา ตลอดจนบรรดาสถานีโทรทัศน์หรือสื่ออื่นใดที่ “บังอาจ” วิพากษ์วิจารณ์
ระบอบปูติน ทุกวันนี้ทำงานอย่างลื่นไหล ปราศจากอุปสรรค ปราศจากการต่อต้านขัดขวางที่ “มีนัยสำคัญ” อีกต่อไปแล้ว

การผลักดันปูตินจนก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุด ถือเป็นความสำเร็จอย่างใหญ่หลวงของ พาฟลอฟสกี แต่ไม่นานต่อมาเขาก็เริ่มเข้าใจและเริ่มสำนึกเสียใจถึงสิ่งที่ได้กระทำลงไป

ทุกวันนี้ เขามักอุปมาตัวเองกับคนอื่นๆ เสมอว่า เขาเป็นเหมือนช่างซ่อมรถคันหนึ่ง ซึ่งพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะทำให้รถยนต์คันดังกล่าวแล่นฉิวไปในทุกที่ที่ต้องการ

เพื่อการนั้น เขาดันรื้อเอากลไกเบรกของรถคันนั้นทิ้งไปโดยบังเอิญ ปล่อยให้รถคันนี้ทะยานไปโดยไม่มีเบรกอีกต่อไปแล้ว

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image