คอลัมน์ไฮไลต์โลก: “OPCW” องค์กรเฝ้าระวังอาวุธเคมี

แฟ้มภาพเอเอฟพี

เป็น “การกล่าวหา” ของฝ่ายสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และ ฝรั่งเศส ชาติพันธมิตรตะวันตก แต่เป็น “การปฏิเสธ” ของฝ่ายซีเรีย ต่อประเด็นที่ว่ารัฐบาลประธานาธิบดีบาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย ใช้อาวุธเคมีในการโจมตีเมืองดูมา พื้นที่มั่นสุดท้ายของกลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลซีเรียเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมาจริงหรือไม่

เรื่องนี้องค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี หรือ OPCW ย่อมาจาก Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons กำลังเข้าไปค้นหาคำตอบอยู่ ในประเด็นที่ว่า มีการใช้อาวุธเคมีโจมตีในซีเรียจริงหรือไม่? แต่จะไม่มีการฟันธงว่า เป็นฝีมือของใคร!

แต่ก่อนที่การตรวจสอบของ OPCW จะปรากฎผลออกมา อยากจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับองค์กรเฝ้าระวังอาวุธเคมีของโลกแห่งนี้ในเบื้องต้นว่าเป็นมาอย่างไร

OPCW เป็นองค์กรที่ก่อตั้งขึ้นที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในปี 2540 เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมี (Chemical Weapons Convention หรือ CWC) ที่มีผลบังคับใช้ในปีเดียวกัน หลังจากผ่านกระบวนการเจรจาถกเถียงกันมานานเกือบ 20 ปี โดยมีเป้าหมายเพื่อมุ่งกำจัดการผลิต การสะสมและการใช้อาวุธเคมี เช่น ก๊าซมัสตาร์ด ก๊าซซาริน และสารตั้งต้นต่างๆที่ใช้ในการผลิตอาวุธเคมีในทั่วโลก

Advertisement

ปัจจุบัน OPCW มีชาติสมาชิกอยู่ 192 ประเทศ โดยมี 3 ประเทศ ได้แก่ อียิปต์ อิสราเอล และ เกาหลีเหนือ ที่ยังไม่ร่วมลงนามในอนุสัญญาฉบับนี้ สำหรับประเทศที่ลงนามเป็นภาคีในอนุสัญญานี้จะต้องประกาศและทำลายอาวุธเคมีที่มีอยู่ในครอบครองทั้งหมด การทำลายอาวุธเคมีที่ถูกทิ้งไว้ในประเทศอื่น และทำลายแหล่งที่เกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมี โดย OPCW จะทำหน้าที่ควบคุมการทำลายคลังอาวุธเคมีที่มีการประกาศทั้งหมด และคอยตรวจสอบแหล่งที่เคยเกี่ยวข้องกับการผลิตอาวุธเคมีและพื้นที่ต้องสงสัยว่าเป็นสถานที่ผลิต พัฒนาและสะสมอาวุธเคมี ที่ผ่านมา OPCW ได้ควบคุมการปลดอาวุธและทำลายคลังอาวุธเคมีไปแล้ว 96 เปอร์เซ็นต์จากที่มีการเปิดเผยในทั่วโลกจำนวน 72,304 ตัน

OPCW ยังทำหน้าที่ในการแสวงหาการตรวจสอบต่อกรณีต่างๆที่มีการกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธ โดย OPCW จะส่งทีมผู้เชี่ยวชาญเข้าไปตรวจสอบในพื้นที่ต้องสงสัยที่มีการกล่าวหา ซึ่งส่วนใหญ่เคยเป็นพื้นที่ทหารหรือเคยเป็นที่ตั้งศูนย์วิจัยทางวิทยาศาสตร์มาก่อน

ทีมผู้เชี่ยวชาญของ OPCW จะเก็บพยานหลักฐานที่รวบรวมได้เพื่อนำส่งไปตรวจวิเคราะห์ยังห้องแล็บที่ผ่านการคัดเลือก รวมถึงห้องแล็บของ OPCW ที่กรุงเฮกเองด้วย

Advertisement

นับจากปี 2540 เป็นต้นมา OPCW ดำเนินภารกิจตรวจสอบอาวุธเคมีไปแล้ว 6,785 ครั้ง ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธเคมีจำนวน 3,170 แห่งและในพื้นที่อุตสาหกรรม 3,615 แห่ง

OPCW ที่เป็นเพียงองค์กรเฝ้าระวังสอดส่องปัญหา ไม่ได้มีอำนาจที่จะตำหนิหรือตัดสินใครว่าใช้อาวุธเคมี ขณะที่ CWC เองไม่ได้กำหนดมาตรการลงโทษที่ชัดเจนต่อประเทศที่ใช้อาวุธเคมี

ในกรณีซีเรียที่เกิดสงครามกลางเมือง ได้ถูกนานาชาติกดดันอย่างหนักในปี 2556 จนซีเรียยอมเข้าร่วม OPCW ก่อนซีเรียจะยอมส่งมอบคลังเก็บสารพิษให้ OPCW ทำลายทิ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกโจมตีจากสหรัฐ การยอมจำนนต่อแรงบีบคั้นดังกล่าวมีขึ้นหลังจากซีเรียถูกชาติตะวันตกและฝ่ายต่อต้านกล่าวหาว่าใช้ก๊าซซารินถล่มพื้นที่มั่นของกลุ่มกบฎต่อต้านรัฐบาลซีเรียใกล้กับกรุงดามัสกัสในเดือนสิงหาคมปี 2556 ที่เป็นผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 1,000 ราย

OPCW ระบุว่า 100 เปอร์เซ็นต์ของอาวุธเคมีที่ซีเรียเปิดเผยว่ามีอยู่ในครอบครองทั้งสิ้น 1,300 ตัน ได้ถูกส่งมอบให้กับ OPCW และถูกทำลายทิ้งในเดือนมกราคมปี 2559
ส่วนการกล่าวหาซีเรียล่าสุดว่าใช้อาวุธเคมี เป็นภารกิจท้าทายอีกครั้งสำหรับ OPCW

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image