สงครามการค้าสหรัฐจีนตึงเครียด ประเด็นครอบงำประชุมการเงินโลก

AFP PHOTO / Brendan Smialowski

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งส่งผลคุกคามต่อเศรษฐกิจโลก เป็นประเด็นที่ครอบงำการประชุมประจำฤดูใบไม้ผลิของสมาชิกกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์ 189 ชาติ ที่กรุงวอชิงตันดี.ซี. สหรัฐ เมื่อวันที่ 20 เมษายน โดยการประชุมเป็นเวลา 3 วันระหว่างวันที่ 19-21 เมษายนครั้งนี้ จะรวมเอาการหารือของกลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ 20 ชาติหรือ จี20 ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) รวมกันแล้วคิดเป็นมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เข้าไว้ด้วย
เจ้าหน้าที่คนแล้วคนเล่าได้เรียกร้องให้แก้ไขข้อขัดแย้งผ่านทางการเจรจาแทนที่จะกำหนดกำแพงภาษีฝ่ายเดียวและเตือนเกี่ยวกับภัยคุกคามที่มีต่อการฟื้นฟูของเศรษฐกิจโลก

นายบรูโน เลอ ไมร์ รัฐมนตรีเศรษฐกิจฝรั่งเศส ตำหนิสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็นการทะเลาะกับจีนอย่าง “ไม่มีประโยชน์และไร้จุดหมาย”

“เราเสี่ยงที่จะก่อสงครามการค้า เสี่ยงที่จะทำลายการจัดระเบียบทางการค้าแบบพหุภาคีที่ไม่เป็นเรื่องดีกับใครเลย และส่วนใหญ่แน่นอนที่สุดว่าไม่ดีสำหรับเศรษฐกิจโลกและการเติบโต” นายเลอ ไมร์กล่าว

ทว่านายสตีเวน มนูชิน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ในฐานะเจ้าหน้าที่ด้านการเงินระดับสูงสุดของรัฐบาลประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดเผยในแถลงการณ์ต่อที่ประชุมกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ว่า “เราเชื่ออย่างหนักแน่นว่าการปฏิบัติทางการค้าโลกที่ไม่เป็นธรรมขัดขวางอัตราการเติบโตที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐและของโลก โดยเป็นสิ่งฉุดรั้งที่เรื้อรังของเศรษฐกิจโลก

Advertisement

ด้านนายเลอ ไมร์เห็นด้วยว่าจีนควรต้องเคารพกฎ แต่ระบุว่าจีนเป็นส่วนสำคัญของระบบการค้าโลก โดยกล่าวว่า “เราจะต้องสร้างนิยามใหม่ทางการค้ากับจีน ไม่ใช่ต่อต้านจีน”

การขโมยทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้สหรัฐระคายเคืองในข้อถกเถียงกับจีนซึ่งทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศใช้กำแพงภาษีมูลค่าหลายแสนล้านดอลลาร์ต่อสินค้านำเข้าจากจีน เพิ่มจากอากรลงโทษต่อเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อเดือนที่แล้วที่พุ่งเป้าเล่นงานจีนเช่นกัน

ทั้งสหรัฐและจีนได้ผลัดกันข่มขู่คุกคามด้วยกำแพงภาษีและได้ยื่นฟ้องร้องอีกฝ่ายต่อองค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) โดยนายโรแบร์โต อาเซเวโด ผู้อำนวยการดับเบิลยูทีโอเตือนว่าผลกระทบจากการยกระดับความขัดแย้ง “อาจรุนแรง” และประเทศยากจนจะได้รับผลข้างเคียง

Advertisement

“การล่มสลายในความสัมพันธ์ทางการค้าของชาติยักษ์ใหญ่อาจขัดขวางการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจที่เราได้เห็นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา คุกคามการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดำเนินไป และทำให้ตำแหน่งงานจำนวนมากตกอยู่ในความเสี่ยง” นายอาเซเวโดกล่าวในแถลงการณ์ต่อที่ประชุม

ไอเอ็มเอฟเน้นย้ำว่าความตึงเครียดด้านการค้าเป็นความเสี่ยงใหญ่ด้านลบต่อเศรษฐกิจโลกที่แข็งแกร่ง และนางคริสตีน ลาการ์ด ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า ข้อขัดแย้งบ่อนทำลายความเชื่อมั่นและสร้างความไม่แน่นอนที่อาจขัดขวางการลงทุนที่เป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ดับเบิลยูทีโอคาดการณ์ว่าการค้าโลกจะขยายตัว 4.4 เปอร์เซ็นต์ในปีนี้หลังจากเพิ่มขึ้น 4.7 เปอร์เซ็นต์เมื่อปี 2560

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image