คอลัมน์ โกลบอลโฟกัส: อาวุธเคมีที่ซีเรีย

Sputnik/Mikhail Klimentyev/ via REUTERS/File Photo

เกิดคำถามตามมามากมายหลังการโจมตีคลังอาวุธเคมีและศูนย์วิจัยของซีเรียเมื่อคืนวันที่ 13 ต่อเนื่องกับวันที่ 14 เมษายนที่ผ่านมา ราวหนึ่งสัปดาห์หลังเกิดการโจมตีฝ่ายกบฏที่เมืองดูมา ชานกรุงดามัสกัส เมืองหลวงของซีเรียเมื่อวันที่ 7 เมษายนที่ผ่านมา หลายคำถามเหล่านั้นเกี่ยวพันกับ “อาวุธเคมี” และเชื่อมโยงไปถึงเหตุการณ์ในอดีตเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา

ในเดือนกันยายน ปีนั้น ซีเรีย ซึ่งปฏิเสธมาโดยตลอดในที่สุดก็ยินยอมภายใต้แรงกดดันของสหรัฐอเมริกาและนานาประเทศ ให้ลงนามเข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ปี 1997
ซึ่งส่งผลให้ ซีเรีย จำเป็นต้อง “เปิดเผย” อาวุธเคมีที่มีอยู่ในครอบครองทั้งหมด และยินยอมให้องค์กรผู้ได้รับมอบอำนาจจากยูเอ็นทำลายทิ้ง

ซีเรีย ทำให้ทั่วโลกตะลึง เมื่อเปิดเผยออกมาว่ามีอาวุธเคมีอยู่ในคลังมากถึง 1,300 ตัน เป็นปริมาณอาวุธเคมีที่มากที่สุด ใหญ่โตที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็นในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ

สต็อคอาวุธเคมีของซีเรีย มีทั้ง ก๊าซมัสตาร์ด ซาริน และ วีเอ็กซ์ ก๊าซที่ได้ชื่อว่าเป็นอาวุธเคมีที่ทรงอานุภาพมากที่สุด

Advertisement

เพื่อตรวจสอบและทำลายอาวุธเคมีที่ซีเรียสะสมอยู่ ยูเอ็น จัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจขึ้นมาทีมหนึ่ง องค์ประกอบหลักเป็นผู้เชี่ยวชาญจาก องค์การเพื่อการห้ามใช้อาวุธเคมี (โอพีซีดับเบิลยู) อีกส่วนหนึ่งมาจากยูเอ็น
ถึงที่สุดแล้ว เอฟริล ไฮเนส ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของ “บารัค โอบามา” ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในเวลานั้น เปิดเผยว่า อาวุธเคมี 1,300 ตัน ถูกทำลายทิ้งในทะเล โดยใช้ระบบทำลายที่เรียกว่า “ไฮโดรลิซิส ซิสเต็ม” ในขณะที่ “โอพีซีดับเบิลยู” ถูกเลือกให้เป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพ ในปี 2013

แต่การใช้อาวุธเคมีในซีเรียยังไม่ยุติลง ยังคงสร้างความตายไม่เลือกหน้า ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังฝ่ายตรงกันข้ามหรือพลเรือน ทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ในอีกหลายต่อหลายเหตุการณ์

เกิดเหตุการใช้อาวุธเคมีที่ส่งผลให้ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกลงมือโจมตีทางอากาศต่อซีเรียถึง 2 ครั้ง ครั้งแรก เป็นคำสั่งของ โดนัลด์ ทรัมป์ ให้กองกำลังอเมริกันในอ่าวเปอร์เซียโจมตีแบบ “จำกัดเป้าหมาย” ต่อสนามบินที่เชื่อว่ามีบทบาทในการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดอาวุธเคมีใส่ฝ่ายตรงข้ามในเมือง ข่านชีคฮุน เมื่อ 4 เมษายน 2017 และอีกครั้งคือเหตุการณ์ที่ดูมาที่ต่อด้วยการถล่มซีเรีย 3 จุดใน 2 เมืองใหญ่อย่างดามัสกัสและฮอมส์

Advertisement

คำถามก็คือ ซีเรีย เอาอาวุธเคมีมาจากไหนอีก? และยูเอ็น ทำอะไรอยู่ในเวลานั้น?

 

 

“อาวุธเคมี” มีปัญหาเชิงเทคนิคอยู่ในตัวของมันเอง สิ่งที่ถูกกำหนดให้เป็นอาวุธเคมี มีความแตกต่างหลากหลายมาก ทั้งในแง่ของการใช้, การจัดการ, การออกแบบ เรื่อยไปจนถึงการกำจัดทิ้ง

อาวุธเคมี ยังจำแนกออกได้หลายหมวดหมู่ ตั้งแต่ “บลัด เอเยนต์” สารเคมีพิษที่เข้าสู่กระแสเลือดโดยตรง ส่งผลให้เลือดไม่สามารถนำพาออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้, “โช้คกิง เอเยนต์” อย่างเช่นก๊าซคลอรีน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบทางเดินหายใจ ทำให้หายใจลำบาก, “บลิสเตอริง เอเยนต์” อย่างมัสตาร์ด ก่อให้เกิดแผลไหม้ พุพอง บริเวณทุกส่วนของผิวหนังของร่างกายที่สัมผัสกับสารพิษเหล่านี้ ทำให้ผิวหนังปริแตก และจะอันตรายอย่างยิ่งหากสัมผัสดวงตา หรือสูดเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ

สุดท้ายยังมี “เนิร์ฟ เอเยนต์” อย่าง ซาริน และ วีเอ็กซ์ ที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท จู่โจมทำลายระบบประสาทของมนุษย์โดยตรงและเฉียบพลัน ก่อให้เกิดอาการอัมพาต ชักกระตุก และถ้าหากระบบประสาทที่ถูกทำลายเป็นระบบประสาทควบคุมระบบทางเดินหายใจ ผลลัพธ์คือ หายใจไม่ออกและเสียชีวิตในอีกไม่กี่นาทีต่อมา

เรานิยมเรียกอาวุธเคมีว่าก๊าซพิษ แต่มีเพียงสองสามชนิดเท่านั้นที่มีสถานะเป็นก๊าซจริงๆ ตัวอย่างเช่น ซาริน ในสภาพที่ออกฤทธิ์สูงสุดไม่ใช่ก๊าซแต่เป็น “ละอองแขวนลอยในอากาศ” หรือ “แอโรซอล” ละอองของเหลวที่มีพิษสูงยิ่้ง ที่อุณหภูมิราว 150 องศาเซลเซียสโมเลกุล ซาริน จะแตกตัวออก แต่ในสภาพของเหลวซารินกลับมีความไวต่ำ ซึ่งทำให้สามารถบรรจุมันลงในจรวดหรือระเบิด เพื่อเปลี่ยนมันให้เป็นละอองมรณะ แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าความร้อนที่เกิดจากการระเบิดไม่ถึง 150 องศา เป็นต้น

ทั้งหมดนั้นแสดงให้เห็นว่า อาวุธเคมี ไม่เพียงจำเป็นต้องใช้ “ความเชี่ยวชาญเฉพาะ” ในการผลิต ออกแบบ และจัดการเท่านั้น ยังจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญจำเพาะเช่นกันในการตรวจสอบ ยืนยันและทำลาย
ยิ่งไปกว่านั้น สารเคมีบางชนิดไม่ถือเป็นอาวุธเคมี จนกว่าจะถูกนำมาใช้เป็นอาวุธ ที่เห็นได้ชัดคือ “คลอรีน” ซึ่งใช้กันอยู่ในอุตสาหกรรมหลายอย่างทั่วโลกรวมทั้งในซีเรีย สามารถมีได้ ครอบครองได้ จะถือว่าเป็นอาวุธก็ต่อเมื่อนำมาใช้สังหาร ดังนั้น “คลอรีน” จึงไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในข้อตกลงเปิดเผยอาวุธเคมีของซีเรีย

ในเดือนกันยายน 2014 ทีม โอพีซีดับเบิลยู-ยูเอ็น ประกาศว่า 96 เปอร์เซ็นต์ของ อาวุธเคมีที่ซีเรีย “เปิดเผย” ว่ามีอยู่ในครอบครอง ถูกทำลายแล้ว ทีมเฉพาะกิจดังกล่าวถูกยุบเลิก ส่วนที่เหลือนับจากนั้น ถูกส่งมอบต่อให้ โอพีซีดับเบิลยู ซึ่งประกาศเมื่อมกราคม 2016 ว่า อาวุธเคมีที่ถูก “เปิดเผย” ออกมา ถูกทำลายหมดแล้ว

ถึงตอนนั้น ฝ่ายพันธมิตรตะวันตกเองยังเคลือบแคลงสงสัยกันอยู่ว่า ซีเรีย ยังมีอาวุธเคมีที่ “ไม่เปิดเผย” อีกมากถึงราว 10 เปอร์เซ็นต์ของสต็อคเดิมทั้งหมด

แถม โอพีซีดับเบิลยู ยังยอมรับด้วยว่า ปริมาณอาวุธเคมีที่เปิดเผยของซีเรีย “ผันผวน” ตลอดเวลาชนิด “หาคำอธิบาย” ไม่ได้เลยอีกด้วย

 

 

ในช่วงเวลานับตั้งแต่ปี 2014 เรื่อยมา มีการกล่าวหาว่ามีการใช้อาวุธเคมีขึ้นรวมทั้งหมด 23 ครั้ง และนับตั้งแต่มีการใช้อาวุธเคมีในสงครามกลางเมืองที่นั่นขึ้นอีกครั้ง ยูเอ็น ก็ไม่ได้นิ่งเฉย พยายามยกระดับ “การบังคับใช้” ตามสนธิสัญญาว่าด้วยอาวุธเคมีต่อประเทศหรือกลุ่มบุคคลที่รับผิดชอบให้มากยิ่งขึ้น โดยอาศัยความในมาตรา VII ของกฎบัตรสหประชาชาติเป็นหลัก

ปัญหาก็คือ โอพีซีดับเบิลยู มีความเชี่ยวชาญด้านอาวุธเคมีจริง แต่ไม่มีอำนาจในการบ่งชี้ (แม้จะมีหลักฐาน) ว่าใครเป็นผู้ลงมือกระทำการดังกล่าว

เพื่อแก้ปัญหานี้ ยูเอ็น มีมติที่ 2235 ให้มีการจัดตั้ง “กลไกเพื่อการสืบสวนสอบสวนร่วม” หรือ “เจไอเอ็ม” ที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญของโอพีซีดับเบิลยูและยูเอ็น ขึ้นมาในปี 2015

“เจไอเอ็ม” มีหน้าที่เพิ่มเติมจาก “ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริง” ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบหลักฐานและร่องรอยในที่เกิดเหตุเพื่อบ่งชี้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่มีการใช้อาวุธเคมีหรือไม่ของ โอพีซีดับเบิลยู ขึ้่นมาอีกระดับ นั่นคือการตรวจหาหลักฐานเพื่อบ่งชี้ว่า “ไอ้ตัวร้าย” ที่อยู่เบื้องหลังการใช้อาวุธเคมีนั้นๆ คือใคร

ในจำนวน 23 กรณีข้างต้น มี 9 กรณีที่ทีมตรวจสอบข้อเท็จจริงมั่้นใจสูงสุดว่าเป็นการใช้อาวุธเคมี “เจไอเอ็ม” ตรวจสอบทั้ง 9 กรณีแล้วบ่งชี้ “ตัวการ” ออกมาได้ใน 6 กรณี

กรณีที่เมือง ทัลเมเนส ในวันที่ 21 เมษายน 2014, กรณีที่เมือง คิวเมเนส กับเมือง ซาร์มิน ในวันที่ 16 มีนาคม 2015 และ ข่านชีคฮุน ในวันที่ 4 เมษายน 2017 ทั้ง 4 กรณีถูกระบุว่าเป็นฝีมือของรัฐบาลซีเรีย

กรณี ที่เมือง มาเรอา ในวันที่ 21 สิงหาคม 2015 และกรณีที่เมือง อุมม์ ฮอว์ช ระหว่างวันที่ 15-16 กันยายน 2016 เป็นการลงมือด้วยอาวุธเคมีโดยกองกำลังรัฐอิสลาม (ไอเอส)

“เจไอเอ็ม” นั้นเดิมทีเป็นองค์กรเฉพาะกิจที่ตั้งขึ้นมาให้มีอายุเพียง 1 ปี กำหนดจะหมดภารกิจในปี 2016 แต่คณะมนตรีความมั่นคง ขยายอายุการทำงานของเจไอเอ็มออกไปอีก 1 ปีในเดือนพฤศจิกายนปี 2016
ตอนนั้นเองที่ รัสเซีย เริ่มแสดงความกังขาและท้าทาย “ความถูกต้องชอบธรรม” ในกระบวนการดำเนินงานของ เจไอเอ็ม

เซร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซีย กล่าวหาเจไอเอ็มว่า กลายเป็น “เครื่องมือ” ของฝ่ายตะวันตกและฝ่ายตรงกันข้ามรัฐบาลซีเรียในการเล่นงานรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด ทั้งๆ ที่ไม่หลักฐานชี้ชัด

ถึงเดือนพฤศจิกายน 2017 รัสเซียก็วีโต ความพยายามยืดอายุเจไอเอ็มออกไปอีกหนึ่งปีของคณะมนตรีความมั่นคง แม้จะมีความพยายามประนีประนอม แต่จนแล้วจนรอดความพยายามชุบชีวิตเจไอเอ็มขึ้นมาอีกครั้งก็ยังไม่มีผลมาจนถึงทุกวันนี้

“เจไอเอ็ม” สลายตัวไปโดยปริยาย

 

 

แดน คาเซตา ผู้เชี่ยวชาญพิเศษด้านอันตรายจากสารเคมีและสารชีวภาพ ที่เคยเป็นนายทหารผู้เชี่ยวชาญอาวุธเคมีอยู่ในกองทัพสหรัฐ และยังเคยทำงานอยู่ในสำนักการทหาร ประจำทำเนียบประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ยืนยันอย่างมั่นใจว่า ด้วยความละเอียดอ่อนและซับซ้อนของอาวุธเคมี ที่จำเป็นต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางซึ่งมีความรู้สูง ทั้งในทางวิศวกรรมและในทางเคมี พร้อมกันนั้นยังต้องมีโรงงานเคมีภัณฑ์ และสถานที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาที่สมบูรณ์พร้อม

ดังนั้น อาวุธเคมี จึงเป็นผลผลิตของ “ชาติรัฐ” มากกว่าที่จะเป็นผลงานของกลุ่มก่อการร้าย หรือกลุ่มอาชญากรทั่วไป

แม้แต่กรณีของไอเอสเอง คาเซตา ยังเชื่อว่า น่าจะเป็นเรื่องของการมีโอกาสได้ครอบครอง อาวุธเคมี ในคลังเก็บเพียงไม่กี่มากน้อยแล้วนำมาใช้ เรื่องที่จะผลิตเองเป็นเพียงการเล่าลือที่เป็นจริงได้ยากมาก

ในเวลาเดียวกัน แดน คาเซตา ก็ตั้งข้อสังเกตเอาไว้ว่า การฟื้นฟูศักยภาพทางอาวุธเคมีที่เคยมีอยู่เดิม ไม่ได้เป็นเรื่องยากแต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่อยู่ในภาวะสงครามกลางเมือง ปราศจากการติดตามตรวจสอบต่อเนื่องอย่างเช่นที่ซีเรียเป็นอยู่

เขาอธิบายไว้ว่า อาวุธเคมี เป็นอาวุธที่มีอายุการใช้งานสั้นมาก โดยทั่วไปแล้วมีอายุไม่กี่สัปดาห์เท่านั้น ในประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงมากๆ อย่างมากที่สุดก็สามารถผลิตซารินที่คงสภาพเป็นอาวุธอยู่ได้นาน 7-8 ปีเท่านั้น

“ตอนที่ โอพีซีดับเบิลยู บอกว่าทำลายอาวุธเคมีในคลังของซีเรียนั้น ส่วนใหญ่สิ่งที่พวกเขาทำลายไปคือสารเคมีตั้งต้น ที่สามารถนำมาประกอบกันขึ้นเป็นอาวุธเคมีในเวลาที่ต้องการเท่านั้นเอง”

ดังนั้น หากต้องการฟื้นศักยภาพอาวุธเคมีขึ้นมาใหม่ สิ่งที่รัฐบาลซีเรียต้องการ ก็มีเพียงคนที่มีความชำนาญ สถานที่เพื่อการนี้ และ สารตั้งต้นที่สามารถจัดซื้อมาได้เท่านั้นเอง

สถานที่เพื่อการวิจัยและพัฒนาอาวุธเคมีของซีเรีย ไม่ได้ถูกทำลายโดย โอพีซีดับเบิลยู เช่นเดียวกับนักวิจัยและนักเคมีของซีเรียก็ยังคงอยู่

สารตั้งต้นอย่างเช่นในกรณีของ ซาริน คือ ฟอสฟอรัส กับ ฟลูออไรด์ ก็สามารถจัดซื้อได้ในตลาดมืด โดยช่องทางที่ยังคงหลงเหลืออยู่ตั้งแต่ยุคก่อนหน้านี้้

คาเซตาบอกว่า นอกจากนั้น ยังมีอาวุธเคมีอีกบางชนิดที่ใช้ความเชี่ยวชาญน้อยกว่าในการผลิตและจัดการ ตัวอย่างเช่น ทาบัน ซึ่งเป็นสารพิษทำลายระบบประสาทเช่นเดียวกับซาริน แต่มีความซับซ้อนน้อยกว่า ผลิตได้ง่ายกว่า แม้ความเป็นพิษของมันจะเข้มข้นน้อยกว่าซารินราว 4 เท่าก็ตาม

เพียงเพิ่มปริมาณของทาบันเป็น 4 เท่าของซาริน ก็สามารถสร้างอันตรายได้เทียบเท่าแล้วในสมรภูมิ
ปัญหาที่ว่าซีเรีย มีอาวุธเคมีใช้งานได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เคยเปิดเผยคลังอาวุธเคมีให้ทำลายทิ้งไปแล้ว จึงไม่ใช่คำถามสำคัญอีกต่อไป

โลกจะทำอย่างไรกับอาวุธเคมีของซีเรีย จึงเป็นคำถามสำคัญกว่าและยังไม่มีคำตอบแม้ในเวลานี้

QR Code
เกาะติดทุกสถานการณ์จาก Line@matichon ได้ที่นี่
Line Image